กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้คำแนะนำสำหรับทุกฝ่ายผู้บริโภค ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการช่องทางการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เพื่อที่จะได้ใช้งานระบบการซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้อย่างถูกต้องไม่ผิดกฎหมายและไม่ถูกหลอก
ต้องยอมรับว่าช่วงนี้กระแสการซื้อขายสินค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซกำลังมาแรงมาก กระแสในด้านนี้ดูจะตื่นตัวขึ้นจากเดิม สอดรับการลงทุนกับต่างชาติ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จึงออกมาให้คำแนะนำกับประชาชนว่า เนื่องจากอีคอมเมิร์ซ คือ มิติใหม่ทางการค้าและไทยเราเองก็มีแนวนโยบายที่สนับสนุนเรื่องนี้ทำให้ตอนนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศเข้ามาลงทุนในส่วนของอีคอมเมิร์ซนี้ รวมถึง SME ที่มองเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ทำให้ตอนนี้เกิดตลาดออนไลน์เป็นตลาดการค้ามหึมาข้ามพรมแดนที่มีสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเลือกใช้มายมายมหาศาล โดยสามารถเปรียบเทียบราคาจนเป็นที่พอใจแล้วจึงตัดสินใจซื้อ นี่คือการเติบโตฝนฝั่งผู้ประกอบการ ส่วนผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์ต่างการเติบโตของอีคอมเมิร์ซด้วยเช่นกัน เพราะผู้บริโภคจะได้รับความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการเลือกซื้อสินค้าและการจับจ่ายต่างๆด้วย
อย่างไรก็ดี กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็มองว่าทุกอย่างมีสองด้าน ในความสะดวกสบายและรวดเร็วของระบบอีคอมเมิร์ซก็มีช่องโหว่ในตัวเองที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถพลิกแพลงและหลีกเลี่ยงการทำการค้าอย่างถูกกฎหมาย เรื่องของการค้าออนไลน์นั้นปัญหาใหญ่ก็คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงอยากให้คำแนะนำสำหรับผู้ขายหรือผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซว่าถ้ามั่นใจว่าสินค้านั้นๆเป็นของตนเองจริงๆไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า ควรมายื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเสียก่อนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และควรจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในการจัดจำหน่ายสินค้าที่สุ่มเสี่ยงจะไปละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น เพราะต้องนี้โทษในทางกฎหมายถือว่าสูงทีเดียว
ด้านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP รวมไปถึงผู้รับฝากคอนเทนต์ หรือเจ้าของเว็บไซต์ เป็นต้น ก็ควรระมัดระวังเรื่องนี้ด้วยเช่นกันทางที่ดีก็คือ จัดให้มีช่องทางรับแจ้งการละเมิดที่ชัดเจน และมีกระบวนการและมาตรการในการนำสินค้าละเมิดออกจากระบบคอมพิวเตอร์เมื่อได้รับแจ้งหรือทราบว่ามีสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจำหน่ายบนเครือข่ายหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนให้บริการอยู่ เพราะต้องนี้ถ้าผู้ให้บริการไม่ตรวจสอบให้ดีก็อาจมีความผิดไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นในสัญญาการให้บริการ ควรมีข้อความระบุชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
ในส่วนของผู้บริโภค ควรเลือกซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรระมัดระวังหลีกเลี่ยงสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าบริโภค อาหาร ยา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรือความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน เว็บไซต์ที่ให้ดาวน์โหลดหรือสตรีมมิ่งภาพยนตร์หรือเพลงละเมิด อาจมีไวรัสหรือมัลแวร์ที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เสียหายหรืออาจโจรกรรมข้อมูลสำคัญของเราได้
นายทศพล กล่าวเสริมว่า การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นอาจเกิดขึ้นได้โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งความผิดและโทษก็มีทั้งโทษหนักและเบา ถ้าเจ้าของสิทธิและผู้กระทำผิดพร้อมใจกันที่จะตกลงไกล่เกลี่ย ก็สามารถใช้บริการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าของสิทธิไม่ยอมเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นอาญา ฉะนั้น ทางที่ดีธุรกิจการค้าไม่ว่าจะรูปแบบไหนพยายามให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้องตามกฎหมายจะปลอดภัยและดีต่อตัวเองที่สุด