ต้องยอมรับกันว่าปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์กันเยอะมาก ซึ่งแม้ว่าจะได้มีประกาศออกมาสักพักใหญ่ๆแล้วว่า ขายของออนไลน์ก็ต้องเสียภาษีด้วย แต่ตามความจริงแล้วมีพ่อค้าแม่ค้าที่ดำเนินการขายของออนไลน์นั้นเลี่ยงเสียภาษีกันอยู่เยอะมากทีเดียว นั่นจึงเป็นเหตุผลให้กรมสรรพากรนำปัญหานี้มาทบทวน เพื่อให้เกิดระบบที่ีเท่าเทียมกัน โดยในตอนนี้กรมสรรพากรมีแนวคิดที่จะให้ทางธนาคารพาณิชย์ได้ส่งข้อมูลการเดินบัญชีรายรับของคนที่ขายของออนไลน์มาให้ทางกรมสรรพากร เพื่อจะได้ตรวจสอบได้ว่ามีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่
แต่นี่ยังเป็นแนวคิดและร่างกฎหมายเท่านั้น ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ในตอนนี้กรมสรรพากรก็ต้องการซาวน์เสียงประชาชนด้วย จึงได้เปิดแสดงความคิดเห็นประเด็น “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร” ที่ให้ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีเพื่อตรวจสอบภาษีอยู่ ที่กรมสรรพากรต้องทำเช่นนี้ก็เพราะตอนนี้มีกฎหมายใหม่ “ธุรกรรมเป็นลักษณะพิเศษ” ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ให้บริการทางการเงิน สถาบันการเงิน จะต้องส่งข้อมูลธุรกรรมการเงินและบัญชีของผู้ที่มีธุรกรรมดังนี้ให้กับกรรมสรรพากร นั่นคือ
1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3000 ครั้งต่อปี (คือถ้ามีเงินโอนเข้าเกิน 8 ครั้งต่อวันก็เข้าข่ายแล้ว)
2.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 200 ครั้งต่อปี แต่มียอดรวมธุรกรรมที่โอนเข้ามาเกิน 2 ล้านบาท
ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ค่อนข้างจะตรงกับการเดินบัญชีของคนขายของออนไลน์กันทั้งสิ้น บัญชีคนขายของออนไลน์นั้นมักจะมีการเดินบัญชีตลอด และมีเงินโอนเข้าอยู่เสมอ ซึ่งนี่เป็นข้อกฎหมายที่ระบุขึ้นเพื่อไม่ให้คนขายของออนไลน์หลีกเลี่ยงการเสียภาษี และเป็นการช่วยให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบที่มาการเงินได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
อย่างที่เรียนให้ทราบตอนต้นว่า นี่ยังเป็นร่างกฎหมาย กรมสรรพากรยังเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องนี้อยู่ ซึ่งถ้าคุณเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นกันได้ที่ เว็บไซต์ กรมสรรพากร ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2561
ถ้าหากว่ากฎหมายฉบับบนี้ผ่านและบังคับใช้ขึ้นมาจริงๆ คนขายของออนไลน์รับมืออย่างไรดี เรามีคำแนะนำดังนี้
1. จดบันทึกรายการบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างละเอียด โดยเฉพาะทุกรายการเงินเข้าในบัญชีธนาคาร เป็นรายการเกี่ยวกับอะไร ซึ่งมันจะช่วยให้เราคำนวนภาษีที่ต้องจ่ายได้ง่าย ชัดเจนเป็นระบบมากขึ้น สามารถดูกำไร ขาดทุน งบดุลต่างๆในชีวิตประจำวันและการทำงานได้ดีขึ้น
2. แยกบัญชีธนาคารตามประเภทของการใช้งาน ตอนนี้ธนาคารมีค่าธรรมเนียมฟรีประกอบกับการที่ระบบพร้อมเพย์ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำมาก ทำให้อุปสรรคในการโอนเงินนั้นหมดไป การเปิดบัญชีแต่ละบัญชีเพื่อใช้งานนั้น ขอให้แยกตามประเภทของการใช้จ่าย เช่น ใช้จ่ายส่วนตัว รับรายได้จากการทำงานหรือธุรกิจ บัญชีลงทุนต่างๆหรือรับรายได้อื่น บัญชีรับเงินปันผลดอกเบี้ย ไม่ใช่เพื่อใช้ในการหลบเลี่ยงภาษีนะ แต่ทำเพื่อใช้ในการจัดการบริหารการเงินให้สามารถลงบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายได้สะดวกขึ้น