ในขณะที่บ้านเราและในอีกหลายๆประเทศในโลกที่เข้าถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วสุดขั้ว และกำลังพยายามจะเปลี่ยนแปลงสังคมเป็น “สังคมไร้เงินสด” กันอยู่ในเร็วๆนี้ การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารออนไลน์กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น สวนทางกลับสิ่งที่กำลังจะตายและหมดไปในไม่ช้าอย่าง”ตู้โทรศัพท์สาธารณะ” แต่ในอีกมุมหนึ่งของโลกอย่างประเทศโคลอมเบียกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราว่าไม่สำคัญอีกแล้วอย่าง “ตู้โทรศัพท์สาธารณะ” โดยมีการต่อยอดพัฒนาระบบจากเดิมที่เป็นเพียงตู้โทรศัพท์ธรรมดาๆที่เอาไว้โทรติดต่อกันกลายมาเป็น “ธนาคาร” สำหรับฝาก ถอน โอน จ่ายได้อย่างสะดวกสำหรับผู้คน
เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่ทราบว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนในโคลอมเบียนั้นน้อยมาก ซึ่งมีจำนวนคนกว่า 8 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็อยู่ที่ประมาณ 100 กว่าบาทเท่านั้น ถือว่าน้อยมากจริงๆจากรายได้ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินนี่เอง จึงเป็นเหตุผลให้พวกเขาเหล่านั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับธนาคารได้เลย จะฝากจะออมไม่ต้องพูดถึง เพราะรายได้ที่จะกินวันๆหนึ่งก็ยังไม่พอ จะเอาเงินที่ไหนไปเก็บออม ส่วนจะกู้ยืมสินเชื่อต่างๆยิ่งแล้วใหญ่ รายได้น้อยขนาดนั้นก็เรียกว่าฝันกันต่อไปได้เลย เพราะคงไม่มีเครดิตอะไรที่จะให้ธนาคารพิจารณาให้ผ่านในการกู้ยืมสินเชื่อได้เลยสักอย่าง จึงทำให้คนเหล่านี้ต่างใช้วิธีการเก็บเงินสดไว้กับตัวเองที่บ้าน แต่นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ปัญหาอาชญากรรมและการลักขโมยสูงขึ้นตามมาด้วย
UNE หน่วยงานที่ให้บริการเรื่องเครือข่ายโทรคมนาคมของโคลอมเบีย มองเห็นปัญหาเหล่านี้ ทั้งต้องการลดปัญหาอาญชากรรมการลักขโมยภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้มีรายได้น้อย หรือ ผู้ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนพลเมือง สร้างลักษณะนิสัยที่ดีในการเก็บออมเงินของผู้คน แม้จะมีอยู่น้อยนิด แต่ถ้ารู้จักเก็บออมเงินก็จะทำให้สามารถบริหารเงินอันน้อยนิดนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตได้เช่นกัน UNE จึงผุดไอเดีย “Payphone Bank” หรือการเปลี่ยนตู้โทรศัพท์สาธารณะมาเป็นธนาคารสำหรับผู้มีรายได้น้อย ไอเดียนี้ถือว่าเป็นการ Creative ที่สุดยอดมาก ตู้โทรศัพท์สาธารณะที่อยู่ตามข้างทางและหัวมุมถนน ที่นานๆจะมีคนมาใช้ที เรียกว่าแทบจะหมดประโยชน์ไปแล้วก็ว่าได้ เพราะผู้คนต่างมีโทรศัพท์มือถือกันหมดแล้ว ได้กลายเป็นสิ่งที่มอบโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยในการทำธุรกรรมทางการเงินส่วนตัว
Payphone Bank มีขั้นตอนการทำงานที่ไม่ยากและไม่ซับซ้อนใดๆสิ่งที่ผู้ใช้งานจะต้องมีก็แค่เบอร์โทรศัพท์ที่เปิดไว้กับทาง UNE เท่านั้น ผู้ใช้งานก็สามารถทำการเปิดบัญชีธนาคารกับทาง Payphone Bank ได้แล้ว ซึ่งบัญชีที่ได้ก็จะเป็นบัญชีแบบออมทรัพย์ตามแบบที่เราใช้งานกันในธนาคารทั่วไป หากผู้เป็นเจ้าของบัญชีต้องการจะฝากเงิน แค่เดินไปที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะตู้ไหนก็ได้ กดหมายเลขติดต่อ จากนั้นระบบ Call Center ก็จะแจ้งให้ทำตามขั้นตอนต่างๆเสร็จแล้วถ้าจะฝากเงินก็แค่หยอดเหรียญตามจำนวนเงินที่ตนเองต้องการจะฝากไปกับช่องหยอดเหรียญของตู้โทรศัพท์เท่านั้น ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย เงินที่เจ้าของบัญชีต้องการฝากก็จะเขาสู่ระบบรับฝากทันที ส่วนถ้าใครจะนำเงินที่ฝากนั้นเบิกออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก็ไม่จำเป็นต้องเบิกออกมาเป็นเงินสด ระบบนี้สามารถใช้เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ จะจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภคต่างๆค่าโทรศัพท์ ค่าโดยสารรถสาธารณะก็สามารถกดจ่ายผ่านมือถือได้เลย แม้กระทั่งซื้อตั๋วรถ จ่ายค่าอาหารตามร้านต่าง ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน อีกทั้ง ยังสามารถใช้เป็นบัญชีสินเชื่อผ่อนชำระสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อีกด้วย ว้าว… นี่คือนวัตกรรมของแท้เลยทีเดียว เป็นสุดยอดนวัตกรรรมที่เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศได้เยี่ยมยอดมาก และความพิเศษของระบบบัญชีของ Payphone Bank ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ตัวระบบนี้เท่านั้น ระบบที่พัฒนาออกมานี้ยังส่งผลต่อประวัติทางการเงิน ทำนองเครดิตบูโรของเจ้าของบัญชีอีกด้วย ซึ่งนั่นส่งผลถึงประวัติการทำธุรกรรมทางการเงินจริงๆของพวกเขาที่จะสามารถนำไปอ้างอิง เพื่อขอกู้สินเชื่อหรือทำธุรกรรมการเงินอื่นๆกับทางธนาคารจริงๆในอนาคตได้อีกด้วยนะ
หากจะกล่าวว่า Payphone Bank เป็นบริการแบบ Wallet อีกรูปแบบหนึ่งก็น่าจะว่าได้ เป็นนวัตกรรมที่ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยให้มีสิทธิ์ในการลืมตาอ้าปากที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่ต้องการจะเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสดแบบเต็มตัว ขณะนี้ทาง UNE ได้ทำการใส่ระบบ Payphone Bank นี้ให้กับตู้โทรศัพท์สาธารณะในโคลอมเบียไปประมาณ 13,000 กว่าตู้แล้ว ซึ่งระบบการรับฝากนี้เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ไอเดียนวัตกรรมนี้ไม่ธรรมดาจึงได้รางวัลมาการันตีความคิดสร้างสรรค์นั่นก็คือรางวัลกรังปรีซ์ด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ ไลอ้อน ปี 2017 และยังมีรางวัลด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์จากหลากหลายเวทีทั่วโลกมาครองอีกด้วย ไอเดียดีแบบนี้แค่กด Like คงไม่พอนะเนี้ย
เครดิตข้อมูลและภาพบางส่วนจาก: adobomagazine.com