หลังจากเราเข้าสู่อาเซียนแล้ว เราจะพบว่าตลาดการลงทุนมีการเปิดกว้างมากขึ้น สำหรับในเรื่องการลงทุนอสังหาก็เช่นกัน จากการวิจัยของไนท์แฟรงค์บริษัทที่ปรึกษาทางด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก พบว่า ขณะนี้มี 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพด้านการลงทุนอสังหาในระดับไพร์ม ซึ่งก็จะมีไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ละประเทศก็จะมีจุดแข็งแตกต่างกันไป เรามาดูกันว่า แต่ละประเทศมีความเหมาะสมและแข็งแรงอย่างไรกันบ้าง

ไทยทางเลือกที่ดีของการลงทุนอสังหาแบบระยะยาว

     จากสถิติพบว่าตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2555 มาจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2560 นี้ ผลตอบแทนการลงทุนแบบ 5 ปีในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเราที่เป็นที่พักอาศัยแบบหรูหรา อยู่ที่ประมาณ 51.3% จากตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทยเรายังแข็งแกร่ง ยิ่งโดยเฉพาะในกรุงเทพ ฯ ด้วยแล้ว ยิ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไทยจึงเป็นหนึ่งในโอกาสของนักลงทุนอสังหาและเป็นหนึ่งตัวเลือกการลงทุนระยะยาวที่ดี แต่อย่างไรก็ดีอสังหาริมทรัพย์ในระดับไพร์มของบ้านเรายังเติบโตได้อย่างจำกัด เพราะนักพัฒนาที่ดินยังคงไม่กล้าลงทุนกับที่ดินหลายๆแห่ง เพราะราคาที่ดินสูงขึ้นนั่นจึงทำให้นักพัฒนาที่ดินและนักลงทุนอสังหายังไม่มีการขยับเดินหน้าไปกับอสังหาริมทรัพย์ในระดับไพร์ม อีกทั้งคอนโดมิเนียมก็เข้ามาตีตลาดมากขึ้นและกลายเป็นจุดเด่นในเรื่องของที่พักอาศัยในกรุงเทพฯอีกด้วย ทำให้มีความต้องการแต่ด้านอุปทานยังไม่สอดรับ

สิงคโปร์ ความปลอดภัยที่มั่นใจได้ในการลงทุนอสังหา

     เดิมทีสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องความปลอดภัยในการลงทุนอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจที่การลงทุนอสังหาในสิงตโปร์จะเติบโตต่อเนื่อง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนมักจะเลือกสิงคโปร์ในการลงทุนอสังหาแบบระยะกลางและระยะสั้น มีการสำรวจออกมาว่าไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2560 มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในย่านใจกลางเมืองของสิงคโปร์ไปแล้วกว่า 729 ยูนิต ก็คิดเป็น 14% ของปริมาณการธุรกรรมทั้งหมดของสิงคโปร์ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เรียกว่าในไตรมาสแรกปี 60 นี้ สิงคโปร์ยังคงมีการเติบโตด้านราคาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระดับไพร์ม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม แต่ทว่าจำนวนอสังหากว่า 5,555 ยูนิต ที่อยู่ในใจกลางเมืองของสิงคโปร์ก็ยังประสบปัญหาขายไม่ได้อยู่ เพราะด้วยภาระด้านภาษีที่สูงทำให้นักพัฒนาที่ดินและนักลงทุนอสังหามองว่าเป็นความเสี่ยง

มาเลเซีย คุณภาพเยี่ยมกับราคาที่น่าสนใจ

     ที่มาเลเซียโดยเฉพาะกัวลาลัมเปอร์ มีชื่อเสียงด้านที่อยู่อาศัยที่คุณภาพสูงมาเนิ่นนานแล้ว และยังคงเป็นจุดแข็งต่อไปของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในมาเลเซีย อีกทั้งในด้านราคาแล้วถ้าเทียบกับแบบหมัดต่อหมัดกับภูมิภาคอื่นกัวลาลัมเปอร์ไม่มีแพ้อย่างแน่นอน จากการสำรวจตัวเลขตอนสิ้นปี 59 พบว่า กัวลาลัมเปอร์มีราคาที่อยู่อาศัยในเมืองอยู่ที่ 4,608.30 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตารางเมตร ส่วนเมืองจาการ์ตาของอินโดนิเซียมีราคาอยู่ที่ 4,366.81 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตารางเมตร แม้ว่าราคาของทางมาเลเซียจะสูงกว่าอินโดนีเซียก็จริง แต่กลับราคาถูกกว่าไทยเรา ซึ่งในกรุงเทพฯ มีราคาอยู่ที่ 9,708.74 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตารางเมตร ส่วนสิงคโปร์ก็สูงสุดเลยคือ 23,255.81 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตารางเมตร ซึ่งถ้าจะมองให้ง่ายขึ้น ก็ขอยกตัวอย่างดังนี้ ถ้าคุณมีมีเงินอยู่ 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และต้องการจะลงทุนอสังหาซื้อที่อยู่อาศัยแบบสุดหรูถ้าคุณเลือกซื้อในกรุงเทพฯ คุณก็จะได้พื้นที่ใช้สอยไป 103 ตารางเมตร ถ้าคุณซื้อในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียคุณก็จะได้พื้นที่ 217 ตารางเมตร ถ้าคุณซื้อในเมืองจาการ์ตาของอินโดนิเซียคุณก็จะได้พื้นที่ 229 ตารางเมตร และถ้าคุณซื้อในสิงคโปร์ คุณก็จะได้พื้นที่ 43 ตารางเมตรแบบนี้เป็นต้น เดิมทีกัวลาลัมเปอร์มีจุดแข็งอยู่แล้วที่มีค่าครองชีพที่ถูกกว่าหลายๆเมือง อิงทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งก็ชั้นเยี่ยม จึงเป็นจุดแข็งที่โค่นได้ยาก แต่ทว่าตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นมา ทางมาเลเซียมีมาตรการการชะลอตัวด้านราคา จึงทำให้ส่งผลกระทบกับการลงทุนอสังหาระดับไพร์มอยู่ไม่น้อย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 60 พบว่าด้านราคาของตลาดที่อยู่อาศัยมีการปรับลดลงถึง 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดีความมั่นใจในการลงทุนอสังหาก็ยังไม่ได้หดหาย เพราะ GDP ในไตรมาสแรกนี้ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อผนวกเข้ากับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะมาถึงจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังคงอยู่

property priceจาการ์ตา กระแสลงทุนอสังหายังสดใส

     แม้ว่าจาการ์ตาจะประสบปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองอยู่ และก็มีปัญหาในเรื่องความโปร่งใสในมาตรการภาษีอยู่ตาม แต่สถานการณ์ภาพรวมในปี 60 นี้การลงทุนอสังหายังเป็นบวกและมีความสดใสอยู่ นักพัฒนาที่ดินหลายรายอาศัยจังหวะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสหันไปพัฒนาที่ดินแถบชานเมือง เล็งตลาดคนต้องการบ้านหลังแรก จึงทำให้ภาพรวมการลงทุนอสังหายังคงดูดีอยู่

 

     ทั้ง 4 ประเทศมีการขึ้นลงในตลาดการรลงทุนอสังหาอยู่พอสมควร แต่เรียกว่าแข่งขันแบบเบียดกันมาโดยตลอด หลายประเทศยังคงต้องจับตามองกันต่อไป เพราะสภาวะทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงบ้านเราด้วย จะมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางไหนอีกบ้างคงต้องดูกันต่อไปในภาพรวมปีหน้า