HIGHLIGHTS:แนวทางเปลี่ยนโมเดลทำกำไรให้เป็นนวัตกรรม
|
การสร้างนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์อะไรใหม่ที่ไฮโซในเทคโนโลยีเสมอไปก็ได้ แค่คุณค้นหาแนวทางใหม่ๆในการเปลี่ยนสินค้าและบริการเดิมๆที่คุณมี ให้มีมูลค่ามากขึ้นสามารถสร้างกำไรให้กับคุณได้มากขึ้น นั่นก็เท่ากับว่าคุณได้สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นบนโลกแล้ว
โมเดลการสร้างกำไรให้กับธุรกิจก็คือ Innovation
ในทุกวันนี้นโยบายภาครัฐพยายามสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยพยายามก้าวไปสู่การสร้างสรรค์ Innovation ให้เกิดขึ้นมาให้ได้ แต่การสนับสนุนนั้นนับว่ายังห่างไกลความเข้าใจที่ถูกต้องไปมาก เพราะดูเหมือนพวกเรากำลังพยายามเน้นไปที่การประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสร้างนวัตกรรม ใช่นั่นก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่ก่อนที่จะก้าวไปพัฒนาอะไรในระดับนั้น ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยส่วนมากยังไม่พร้อม เหล่าผู้ประกอบการไม่ได้มีต้นทุนที่สูงขนาดนั้น เพราะการสร้างนวัตกรรมแบบที่เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือApplicationในสมาร์ทโฟนใหม่ๆนั้นต้องใช้งบวิจัยและพัฒนาค่อนข้างสูงนั่นจึงทำให้เกิดปัญหากับ Startup หลายๆรายที่ต้นทุนและกำลังไม่มากพอ จนทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นเกิดความท้อแท้ได้ ดังนั้น เราจึงต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่อีกครั้งว่า การสร้างนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ แค่คุณมี creative thinking คุณก็สามารถเปลี่ยนสิ่งง่ายๆเดิมๆ ที่เห็นอยู่ทุกวันเป็นนวัตกรรมที่สร้างรายได้ให้กับคุณมากขึ้นและมีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการใช้ creative thinkingในการคิดค้น “โมเดลการสร้างกำไร”ให้แก่ธุรกิจของคุณนี่ก็นับเป็นการสร้างนวัตกรรมอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน โมเดลการสร้างกำไรนี้จะมุ่งเน้นการตั้งคำถามพื้นฐานในธุรกิจที่คุณทำ เช่น
- สิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญคืออะไร
- โอกาสในการหารายได้ใหม่ ๆ อยู่ตรงไหน
- จะขายอย่างไร และจะเก็บรายได้อย่างไร
อย่างที่เราเคยกล่าวไปในคอลัมน์ก่อนๆว่า ถ้าคุณประดิษฐ์อะไรขึ้นมา หรือลงทุนลงแรงพัฒนา Application สุดล้ำออกมาก้ตามที แต่แล้วไม่มีใครใช้ ขายไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งประดิษฐ์เท่านั้น ไม่ใช่นวัตกรรม เพราะนวัตกรรมต้องขายได้ต้องทำเงินให้กับผู้สร้างสรรค์หรือผู้พัฒนา การจัดหารูปแบบสำหรับการเรียก “เงิน” เข้ากระเป๋าจึงถือว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมก็เพราะด้วยเหตุนี้ บริษัทหลายๆแห่งขายสินค้าและบริการแบบเดิมๆซึ่งไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว หากต้องการพลิกธุรกิจของตนเป็น Startup โตอย่างก้าวกระโดให้ได้ก็ถึงเวลาที่จะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและลงมือกับการสร้างนวัตกรรมเสียที การคิดค้นโมเดลการสร้างกำไรสามารถทำได้หลากหลายแบบเช่น
- การตั้งราคาให้สูงขึ้น (Premium Price) โดยผลิตสินค้าหรือบริการให้ดีขึ้นกว่าคู่แข่งและก็คิดราคาเพิ่มขึ้นไป
- การขายโดยวิธีประมูล เพื่อให้ตลาดเป็นผู้กำหนดราคา เป็นต้น
โมเดลการสร้างกำไรนั้นมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม และรูปแบบของธุรกิจ แต่โดยรวมแล้วต้องช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้นในการลองใช้สินค้า เช่น จัดแพ็คเกจไว้ให้ลูกค้าได้เลือกจ่ายตามจำนวนการใช้งาน หรือการให้ลูกค้ากด Follow หรือ Subscribe เพื่อให้ลูกค้าสนใจเรามากขึ้นไม่เปลี่ยนไปสนใจหรือใช้สินค้าของเจ้าอื่นง่าย ๆ
การสร้างนวัตกรรมที่แท้จริง ก็คือการสร้างสิ่งที่ตอบโจทย์ความหวังและความต้องการของผู้บริโภค และสิ่งๆนั้นจะต้องทำรายได้ให้กับผู้สร้างสรรค์
ไม่ใช่องค์กรธุรกิจก็สามารถสร้างนวัตกรรมได้
โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะไม่รู้ว่าการจัดทำโมเดลสร้างกำไรเป็นการสร้างนวัตกรรม และเป็นนวัตกรรมถูกใช้บ่อยมากจนเรามองข้ามไปเลย แต่คงมีคำถามตามมาว่า “คิดถึงกำไรแบบนี้ก็เป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้แค่องค์กรธุรกิจน่ะสิ แล้วองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไรล่ะ จะทำอย่างไร” หรือนี้ไม่ใช่ปัญหาแม้คุณไม่ใช่องค์กรธุรกิจการสร้างนวัตกรรมรูปแบบนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา เพียงแค่คุณเป็นคำว่า “โมเดลสร้างกำไร” เป็น “โมเดลสร้างมูลค่า (Value Model)” เท่านั้น คุ้นๆไหมล่ะ ก็หลักการเดียวกันนั่นเอง โมเดลการสร้างมูลค่าหมายความถึงการทำอย่างไรให้องค์กรสามารถอยู่ได้หรือสร้างมูลค่าให้กับสังคมได้ คุณจะเห็นว่าหลักการคืออันเดียวกันเพียงแต่เปลี่ยนคำนิดหน่อยเท่านั้นคุณก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้แล้ว
ยิลเลต์ (Gillette) ต้นแบบชั้นเยี่ยมของนวัตกรรมการสร้างกำไร
เราคงคุ้นเคยกับแบรนด์มีดโกนยิลเลต์ (Gillette)กันเป็นอย่างดี ยิลเลต์ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่ใช้โมเดลการสร้างกำไรเป็นนวัตกรรมในการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้คนด้วยผลิตภัณฑ์ “ด้ามจับและใบมีดโกน” อันโด่งดังและเป็นเอกลักษณ์ของบริษัทยิลเลตต์ ซึ่งการสร้างนวัตกรรมครั้งนี้ของยิลเลตต์ไม่เพียงเปลี่ยนเทรนด์ของผู้คน แต่ยังมีอิทธิพลไปถึงแนวคิดในการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆตั้งแต่อุตสาหกรรมพรินเตอร์ไปจนถึงเครื่องทำกาแฟเลยทีเดียว หัวใจหลักของนวัตกรรมนี้ช่างเรียบง่าย นั่นคือผลิตอุปกรณ์หลักแล้วขายในราคาต่ำ(หรือแจกฟรี) ก่อนจะกอบโกยผลกำไรจากวัสดุสิ้นเปลืองที่ต้องมาใช้กับอุปกรณ์เหล่านั้นคือด้ามจับซ้ำแล้วซ้ำอีก กล่าวง่ายๆก็คือแต่เดิมบริษัทยิลเลต์ตั้งราคาขายด้ามจับที่แพง แต่ขายใบมีดโกนในราคาที่ถูก โดยให้เหตุผลว่าผู้บริโภคจำเป็นต้องเปลี่ยนใบมีดโกนบ่อยกว่าด้ามจับ ดังนั้น เพื่อป้องกันผู้บริโภคลับมีดโกนกันเองจึงเกิดนโยบายเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมาซื้อใหม่แทน(หากลูกค้าลับมีดโกนกันได้ง่ายๆมีดโกนของยิลเลต์คงขายไม่ออก) เหตุนี้จึงจำเป็นต้องตั้งราคาใบมีดโกนซึ่งเป็นสินค้าหลักในที่ต่ำนั่นเอง ไอเดียนี้ดูจะสวนทางกับหลักการทำธุรกิจทั่วๆไป ที่จะต้องผลักดันสินค้าหลักให้ขายทำกำไรได้มาก สินค้ารองก็แบ่งสัดส่วนกำไรลงมาตามลำดับ แต่ยิลเลตต์กลับขายสินค้าหลักในราคาถูก แต่ขายสินค้ารองในราคาแพงและกำไรที่ได้ก็มาจากสินค้ารองทั้งสิ้น โมเดลนี้ถูกใช้เรื่อยมา จนถึงศตวรรษที่ 20 เมื่อสิทธิบัตรของยิลเลตต์สิ้นสุดลงใน ปี ค.ศ.1921 คู่แข่งรายใหม่ในอุตสาหกรรมมีดโกนจึงได้โอกาสผงาดขึ้นมาแข่งขันบ้าง บริษัทยิลเลตต์จึงได้มีการเปลี่ยนโมเดลใหม่อีกครั้ง โดยมุ่งเน้นไปที่ความสะอาด และปลอดภัยของใบมีดโกน เพื่อสร้างจุดขายใหม่ให้กับใบมีดของตน และผลักดันผู้บริโภคให้รู้สึกว่าการโกนหนวดไม่ได้เป็นเพียงแค่การโกนหนวดปกติอีกต่อไป
แต่สุดท้ายแล้วโมเดลดังกล่าวก็มาถึงทางตันเนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่ายิลเลตต์ไม่ได้มีสินค้าใหม่ๆอะไรเลย มีดโกนก็ยังเป็นรูปแบบเดิมทุกประการ ตรงนี้จึงทำให้ยิลเลตต์ปรับแผนอีกครั้ง สร้างใบมีดโกนแบบ 3 คมและมีใบมีดให้เปลี่ยนจากเดิม 1 ชุดมี 2 ใบ เพิ่มเป็น 3 ใบ 4 ใบ จนถึง 10 ใบในชุดเดียว ปัจจุบันบริษัทยิลเลตต์ ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท พรอเตอร์ แอน แกมเบิล (Procter & Gamble) จึงได้มีการเปลี่ยนโมเดลอีกครั้งภายใต้ชื่อ ศิลปะแห่งการโกน (The Art of Shaving) และก็ปรับเปลี่ยนโมเดลการสร้างกำไรอีกครั้งโดยออกแบบด้ามจับใหม่ให้สามารถใช้ได้กับใบมีดโกนทุกรุ่น และตั้งราคาต่ำ แต่ขายใบมีดโกนในราคาสูงแทน
เครดิตภาพบางส่วนจาก: news.pg.com