HIGHLIGHTS:

  • แง่มุมของชีวิตของคนๆหนึ่งมีหลากหลายด้านให้เราได้มองและเลือกหยิบจับเอาไปใช้ ทำไมเราเลือกที่จะมองข้ามไปถึงตอนปลายทางที่เขาคนนั้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยที่ไม่สนใจขั้นตอนและกระบวนการที่เขาใช้ในการนำตนเองไปสู่จุดสูงสุดนั้นเลย ทั้งๆที่ขั้นตอนและกระบวนการเป็นเรื่องที่สนุกและน่าสนใจกว่าตั้งมากมาย
  • จริงอยู่ว่าชีวิตเราออกแบบได้เอง แต่การออกแบบชีวิตควรจะออกแบบให้ชีวิตมีความมั่นคงและอยู่ไปได้นานโดยที่ไม่ต้องลำบากในวันข้างหน้า
  • คำว่า “ชีวิต” มาพร้อมกับคำว่า “หน้าที่” ทุกๆช่วงเวลาของชีวิตจะมี “หน้าที่” คอยกำกับเส้นทางเดินให้กับเราอยู่แล้ว ดังนั้น จงเดินไปตามเส้นทางที่ถูกต้อง

     ในปัจจุบัน หนังสือที่ติดอันดับขายดีและบทความที่ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น มักหนีไม่พ้นเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จในแวดวงต่างๆซึ่งมักจะบอกเล่าแต่ละช่วงชีวิต ทั้งเรื่องวัยเยาว์ หน้าที่การงาน การก่อตั้งธุรกิจวิธีคิด และวิถีชีวิตที่ต่อสู้ดิ้นรน จนก้าวขึ้นมาเป็นดาวประดับฟ้าที่ยิ่งใหญ่ อันที่จริงแล้วหนังสือและบทความเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แต่ทว่าคนไทยเรากลับหยิบจับเอาประเด็นเฉพาะบางช่วงของคนเหล่านั้น มาใช้อย่างผิดๆ แทนที่เราจะหยิบเอาช่วงชีวิตที่เขาไต่เต้าเอาแรงกายแรงใจเข้าแลก เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ แต่เรากลับเปิดไปดูตอนที่พวกเขาเหล่านั้นรวยแล้วประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น โดยมองข้ามบทต้นๆตอนชีวิตเขายังลำบากไปเสียหมด

ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียวให้มอง

     เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินชื่อแชมป์มวยสากลชื่อก้องโลกคนนี้ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ สุดยอดแชมป์ไร้พ่ายผู้ปราบยอดมวยในยุคเดียวกันมาทุกคน ฉายาของเขาคือ “The Money” (นอกจากนั้นยังมีฉายา Pretty Boyและ Money Mayweather อีกด้วย) ซึ่งเป็นฉายาที่เขาได้มาเพราะพฤติกรรมการสร้างกระแส โชว์ความร่ำรวยโปรยเงินเล่นภายในบ้านแล้วถ่ายรูปลงโซเชียล อีกส่วนหนึ่งก็ด้วยเพราะค่าตัวเขาในการชกหนึ่งไฟต์ก็แพงสุดกู่ ก็เรียกว่าสมฉายากันเลยทีเดียว จากฉายานี้ทำให้เราเพ่งเล็งยอดมวยคนนี้ไปอีกทาง เรากลับไปสนใจในเรื่องของความร่ำรวยของเขา สนใจในเรื่องค่าตัวในการชก สนใจในเรื่องไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่หรูหราฟู่ฟ่า โดยที่เราทุกคนมองข้ามไปเลยว่า ก่อนที่ฟลอยด์จะก้าวไปสู่การเป็นแชมป์โลกไร้พ่ายและร่ำรวยได้ขนาดนี้ เขาต้องฝ่าอะไรมาบ้าง มีใครเคยสนใจตอนที่เขาซ้อมไหมว่า เขาซ้อมหนักขนาดไหน นักมวยทุกคนที่จะขึ้นชกกับคนเก่งๆก็ล้วนมีความกลัวในจิตใจกันทุกคน แล้วฟลอยด์ชกกับยอดมวยมากี่คนแล้วล่ะ ลองคิดดูว่าชีวิตเขาต้องเผชิญกับความกลัวในการพ่ายแพ้มากี่ครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าใครจะผ่านไปได้ง่ายๆเลย แต่เรากลับไม่ถาม ไม่ค้นหาเคล็ดลับที่ทำให้เขาฝ่าฟันเรื่องยากๆเหล่านั้นมาได้ กลับพุ่งไปที่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างเศรษฐีของเขาและออกแนวหมั่นไส้เล็กๆแทน ลักษณะมุมมองที่กล่าวมาพอจะบอกให้เราเห็นภาพรวมของคนไทยได้ว่า ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหน วิถีชีวิตที่เป็นอยู่โดยเฉพาะในคนรุ่นหลังซึ่งสุขสบายเหลือแสน งานที่จะทำบ้างไม่ทำบ้างก็ยังกินไม่มีอด ที่พูดๆกันว่าเรากำลังลำบากจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงนั้น แม้ตอนนี้จะเริ่มมีคนตกงานกันมากขึ้นก็ตามแต่เอาเข้าจริงถ้าวัดกันที่ตัวเลขทางสถิติตัวเลขคนตกงานของไทยก็ยังถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ ที่บางภูมิภาคตกงานมากขนาดที่ทุกๆ 4 คนเดินสวนกันมาจะต้องมีคนตกงานเสีย 1 คน คุณจะเห็นว่าในสิ่งที่แย่ ก็ยิ่งมีสิ่งที่ดีให้มอง เราว่าเราแย่เราหนักแล้ว คนที่หนักกว่าแย่กว่าก็ยังมี ชีวิตมีให้มองมากกว่า 1 ด้านเสมอ อยู่ที่เรามองได้ครบทุกด้านหรือเปล่า

 

จริงเหรอ ที่ Work Hard ก็ต้อง Play Hard

     คน Gen Y และ Gen Z มีแนวโน้มว่าจะมีแนวคิดในสไตล์ “ชีวิตใช้ซะ” กันมากขึ้น มองชีวิตแบบมีคุณค่าในอีกด้านหนึ่งที่ต่างจากคนรุ่นก่อนโดยสิ้นเชิง คนรุ่นใหม่คิดว่า “ทำงานหนัก ก็ต้องชดเชยด้วยการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” ทุกสิ่งเป็นประสบการณ์ที่อาจหาไม่ได้อีกแล้ว ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่โดยบางครั้งก็ไม่ยั้งคิดเหมือนกัน ถ้าคุณคือคนรุ่นใหม่ที่อยู่ใน Gen ดังกล่าว เราอยากให้คุณลองคิดถึงภาพอนาคตที่แสนจะน่าสะพรึง เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์จะทำให้ชีวิตคนยืนยาวขึ้น เงินเฟ้อจะทำให้ข้าวของเครื่องงใช้แพงขึ้น ค่ากิน ค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น แล้วยังจะมีงบแต่งงาน สินสอดเงินสร้างครอบครัว  พอมีครอบครัวก็ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มเข้ามาอีกมากมาย ซึ่งทุกอย่างก็มีแต่จะสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ ในขณะที่รายได้ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เงินเก็บจะสามารถเก็บได้หรือไม่ ธุรกิจจะมั่นคงแค่ไหน ตัวเลขจากกูรูทางการเงินเขาให้คำนวณง่ายๆว่า ชีวิตหลังวัยเกษียณของคนเรา ควรจะมีเงินไว้ใช้จ่ายอย่างน้อย 60% ของรายได้ในปัจจุบัน เช่น ถ้าวันนี้คุณมีเงินเดือน 30,000 บาท ซึ่งพอดีกับค่าใช้จ่ายประจำวันในแต่ละเดือน ก็มีแนวโน้มว่าชีวิตตอนคุณแก่ตัวลงต้องมีเงินให้ใช้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 60% x 30,000 หรือเท่ากับ 18,000 บาท/เดือน คุณอาจจะคิดว่าเงินจำนวนหมื่นกว่าบาทนี้เป็นเรื่องชิลๆ ขำๆ  แต่ช้าก่อนนะ… แม้นั่นคือตัวเลขรายได้ขั้นต่ำที่ต้องมี แต่ก็เป็นรายได้/เดือนในวันที่คุณหมดแรง หมดสภาพ หมดฐานะหน้าที่การงานอันโอ่อ่าภูมิฐาน และอยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพาลูกหลานและสังคมเป็นส่วนใหญ่ พูดง่ายๆว่า ทำงานไม่ได้แล้ว แต่ยังต้องมีเงินให้ใช้จ่าย สมมติว่าพอคุณเกษียณแล้วและคุณยังแข็งแรงใช้ชีวิตต่อไปได้อีก 30 ปี นั่นย่อมหมายถึงเงินเก็บที่ต้องมีหนาๆก่อนจะถึงวันนั้น หรือเท่ากับ 360 เดือน x 18,000 /เดือน = 6,480,000 บาท โอ้ว…แค่คิดลมก็จะจับ นี่ไม่ใช่เรื่องสั้นเขย่าขวัญใช่ไหมนี่ ถูกต้อง นี่แค่เบาะๆขนาดยังไม่ถึงตอนนั้นก็ทำให้เราจิตตกกันได้แล้ว และถ้าวันนั้นมาถึงสถานการณ์อาจแย่กว่าที่คิดไว้ก็ได้จริงไหม

 

ได้เวลาเปลี่ยนความคิดและไลฟ์สไตล์

     คนรุ่นใหม่เติบโตมาในยุคที่ถูกกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอย แน่นอนว่าไม่มีนักการตลาดคนไหนสอนให้ผู้บริโภคหาหรือเก็บ เพราะหน้าที่ของเขาคือการทำให้คุณ “ใช้เงิน” เราอยู่ในสังคมแบบนี้กันในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ก็เลยเสพติดการ Play Hard ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการ “ใช้ชีวิต” ที่ต้องแลกมาด้วยเงินทอง พนักงานเงินเดือนแค่หมื่นกว่าบาท แต่กินกาแฟยี่ห้อดังแก้วละร้อยกว่าทุกบ่าย ยังไม่ได้บวกค่าพักผ่อนท่องเที่ยวประจำปี ค่าเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งค่าไลฟ์สไตล์แห่ความเพลิดเพลินเพื่อบ่งบอกสถานะทางสังคม อาทิ ค่าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ทุกปี ค่าสมาชิกชมรมสมาคมฟิตเนสบนห้างหรู ค่าสุงสิงสมาคมกับเพื่อน ๆแถวซอยทองหล่อสัปดาห์ละ 2 หน ค่าประกัน ค่าเข้าศูนย์เพื่อดูแลรักษารถยนต์ที่ต้องสมหน้าสมตา และไหนจะค่าเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่งร่างกาย ลองกดเครื่องคิดเลขดูสิหงายเงิบแน่เลยเชียว จะเรียกว่า “รายได้ต่ำรสนิยมสูง”ก็ไม่ผิด ดังนั้น ได้เวลาแล้วที่คนรุ่นใหม่อย่างคุณจะต้องเปลี่ยนความคิดและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตใหม่ จาก “ใช้ชีวิตเข้าไปสิ” ควรจะเปลี่ยนมาเป็น “ใช้เวลาช่วงหนึ่งให้ถูกต้องสิ จะได้มีเงินใช้ทั้งชีวิต” ช่วงอายุ 20 – 40 ปีนั้น เป็นช่วงที่ชีวิตเรายังสดมากๆ เรามีแรง มีความพร้อมทั้งสติปัญญาและประสบการณ์ เป็นช่วงพีคที่สุดของชีวิตที่เราจะใช้ไปกับการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ คำถามง่ายๆว่า “ทำไมเราไม่ทำ” เราไม่สามารถย้อนกลับไป 20 อีกครั้ง 25 อีกครั้งได้ ทำไมเราไม่ใช้ช่วงเวลาอันมีค่านั้นอย่างถูกต้องที่สุด ได้เวลาที่เราจะเปลี่ยนตัวเองกันแล้ว อย่าช้าลงมือเลย

“มันน่าเศร้า ถ้าก่อนตายยังใช้เงินไม่หมด แต่…จะแสนสลดกว่า ถ้าเงินหมดแล้ว (ดัน)ยังไม่ตาย”