พี่น้องชาวไทยทุกท่านคงทราบดีกันอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 48 เพลง ทุกครั้งที่เราชาวไทยได้ยินท่วงทำนองเพลง ชะตาชีวิต หรือยามเย็น พวกเราก็จะรู้ทันทีเลยว่านี่คือทำนองของบทเพลงพระราชนิพนธ์ และเมื่อพระองค์ท่านได้จากเราไป พระองค์ท่านยังทรงเป็นตัวอย่างที่ประเสริฐให้กับเราชาวไทยได้มองเห็นว่า “แม้พระวรกายจะไม่ได้อยู่กับพวกเราชาวไทยอีกแล้ว แต่สิ่งที่พระองค์ท่านได้สร้างไว้ให้กับปวงชนชาวไทยยังคงอยู่ในใจคนไทยตราบนานเท่านาน” และพระองค์ท่านยังทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าบรรดาศิลปินคนดนตรีในการสร้างสรรค์ผลงานจรรโลงจิตใจผู้คนทั้งหลายอีกด้วย ความดีที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกได้ไม่ได้อยู่ที่ต้องรวยหรือจน ความดีไม่ได้อยู่ที่การบริจาคหรือการทำบุญ แต่ความดีที่คนจะจดจำไปอีกนานแสนนานก็คือ สิ่งที่คุณฝากไว้กับโลกใบนี้ต่างหาก

     ในบรรดานักดนตรีมักจะพูดเสมอว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 นับว่าพระองค์เป็นบุคคลที่มีอัจฉริยะภาพด้านดนตรี” บทเพลงพระราชนิพนธ์หลายๆบทเพลง นักดนตรีระดับเทพทั้งหลายพอได้ลองบรรเลงยังต่างพากันกล่าวว่านี่คือ “เพลงครู” มีหลายบทเพลงที่พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ได้ถูกหลักถูกต้องตามหลักทฤษฎีดนตรี ซึ่งนักดนตรียังพากันบอกว่า “เป็นเรื่องยาก” ความจริงแล้วความคิดของผู้เขียนเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเพลงของพระองค์ท่านนับว่าเป็นสุดยอดผลงานดนตรีทั้งสิ้น แต่ผู้เขียนจะขอเลือกมาเพลง 5 เพลง ซึ่งทั้ง 5 เพลงคือเพลงที่เหล่าศิลปินแจ๊สหรือบลูส์ต่างยกย่องและให้การยอมรับ ว่านี่คือที่สุดของผลงานสร้างสร้างสรรค์

แสงเทียน

 เป็นเพลงแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระราชนิพนธ์ พระองค์ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2489 เป็นเพลงบลูสและได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทย และเมื่อปีพ.ศ.2550 ในงานดนตรีแจ๊สที่สนามเสือป่า นักดนตรีแจ๊สระดับโลกมาร่วมบรรเลง เขาก็ยังนำเทคนิคการบรรเลงที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์มาบรรเลง แสดงถึงความไม่ล้าสมัยของบทเพลง ทั้งเสียงดนตรี ทำนอง และการเรียบเรียงเสียงประสาน

     เวอร์ชั่นที่เลือกมาให้ได้รับชมรับฟังกันนี้ มี 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกเป็นเวอร์ชั่นบรรเลงด้วยขลุ่ยไทยเทียบเสียงสากล บรรเลงโดยอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ ปี 2559 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) เป็นผลงานอยู่ในอัลบั้ม เฉลิมพระเกียรติอัครศิลปิน “ขลุ่ยบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์” เรียกว่าเป็นอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวของโลกก็ว่าได้ ที่ได้นำเครื่องดนตรีไทยมาบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ที่เป็นเพลงบลูส์และเพลงแจ๊ส และสาเหตุสำคัญที่ผู้เขียนเลือกเวอร์ชั่นนี้ก็เพราะว่า อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดีได้เคยเผยไว้ว่า

“บทเพลงที่สร้างชื่อให้กับผม และทำให้ผมมีวันนี้ได้ก็คือ ‘เมดอินไทยแลนด์’ ที่ผมร่วมงานกับคาราบาว แต่น้อยคนจะรู้ว่า เบื้องหลังบทเพลงนี้ แรงบันดาลใจของผมก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘แสงเทียน’ ของพระองค์ท่านนั่นเอง ผมได้นำการดำเนินทำนองของบทเพลงแสงเทียนที่เรียกว่า ‘บลูส์โน้ต’ มาใช้ ในการสร้างไลน์ทำนองขลุ่ยของเพลงเมดอินไทยแลนด์”

     บอกได้คำเดียวว่านี่คือความยิ่งใหญ่ที่เหนือความยิ่งใหญ่จริงๆ อีกเวอร์ชั่นนั้นเป็นเวอร์ชั่นที่บรรเลงโดยกีต้าร์ ฝีมือการบรรเลงโดยสุดยอดมือกีต้าร์ระดับ 1 ในอาเซียนของไทยที่เป็นนักกีต้าร์คนเดียวเท่านั้น ที่มีกีต้าร์เป็น signature  พี่โอ้ โอฬาร พรหมใจ ที่เอาบทเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียนมาบรรเลงในแบบ Neo Classic Rock แบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และพี่โอ้เองก็เคยกล่าวเช่นกันว่า “เพลงแสงเทียนคือเพลงครู”

ชะตาชีวิต

     บทเพลงพระราชนิพนธ์ ชะตาชีวิต เป็นเพลงบลูส์ ซึงทรงพระราชนิพนธ์ขณะที่เสด็จประทับ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย

      เวอร์ชั่นที่เลือกมานี้บรรเลงและขับร้องโดย บอย Imagine ศิลปินอินดี้ชาวเชียงใหม่ ที่ได้แรงบันดาลใจในเพลงนี้มาฝึกหัดเล่นกีต้าร์ตอนอายุ 15 ปี และจากวันนั้นทำให้เขามีวันนี้วันที่เขาได้ก้าวเข้ามาสู่การเป็นนักดนตรีที่กล้าสร้างความแตกต่างให้กับวงการเพลงในบ้านเรา พี่บอยกล่าวถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “บทเพลงนี้มีเมโลดี้ท่วงทำนองที่งดงามมาก”

ใกล้รุ่ง

     เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้น และได้โปรดเกล้าฯให้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่งเนื้อร้องนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสียงไก่ขัยที่ได้ยินจากใกล้บ้าน บทเพลงนี้แม้จะมีลักษณะเพลงบลูส์ แต่กลับให้บรรยากาศอารมณ์เพลงที่มีชีวิตชีวา มิได้เศร้าตามต้นตำรับเพลงบลูส์

     เวอร์ชั่นที่เลือกมานี้ขับร้องโดย นักร้องเสียงคุณภาพอย่างอ๊อฟ ปองศักดิ์ รัตนพงษ์ ซึ่งขับร้องออกมาได้อย่างมีเสน่ห์และเห็นภาพยามเช้าได้ชัดเจน ผสานกับดนตรีที่นำมาทำใหม่ มีเสียงขลุ่ยคลอรับเบาๆ ช่างทำให้บทเพลงนี้ออกมาที่งดงามยามเช้าจริงๆ

ยามเย็น

     เป็นบทเพลงที่พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นลำดับที่สอง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2489 และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทย บทเพลงนี้มีท่วงทำนองร่าเริงสนุกฟังสบาย เข้ากับบรรยากาศธรรมชาติยามเย็น ให้ความรู้สึกสุขใจสบายใจ หายเหนื่อยทำนองเพลงคุ้นหูพวกเรากันเป็นอย่างดี

     เวอร์ชั่นที่เลือกมานี้เป็นเวอร์ชั่นบรรเลงโดยกีต้าร์ และผู้บรรเลงคือ Tommy Emmanuel สุดยอดมือกีต้าร์อะคูสติก ที่มีสไตล์การเล่นแบบ “Travis Picking” หนึ่งในกีต้าร์ฮีโร่ของใครหลายคน ซึ่งเวอร์ชั้นนี้ Tommy Emmanuel ได้บรรเลงออกมาได้ลื่นไหลฟังสบายสื่อถึงยามเย็นที่สดใสได้เป็นอย่างดีจริงๆ

แสงเดือน

     บทเพลงพระราชนิพนธ์แสงเดือนนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้น และได้โปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำนองที่สง่างาม ไพเราะ นักดนตรีหลายคนที่มีโอกาสได้ลองเล่นบทเพลงนี้ต่างให้นิยามว่า “เป็นบทเพลงที่ยิ่งเล่นแล้วก็ยิ่งรัก” ทุกคนล้วนประทับใจในท่วงทำนองจนยากที่จะบรรยายเป็นคำพูดออกมา

     เวอร์ชั่นที่เลือกมานี้ เป็นเวอร์ชั่นบรรเลงโดยกีต้าร์ โดยสุดยอดมือกีต้าร์แจ๊สระดับโลกอย่าง Larry Carlton เจ้าของ 3 รางวัลแกรมมี่ ซึ่งผลงานชิ้นนี้อยู่ในอัลบั้ม ” The Jazz King” ที่จัดทำเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่ง Larry Carlton ก็ถ่ายทอดอารมณ์แจ๊สเหงาๆ แบบคนที่กำลังเหม่อมองแสงเดือนบนท้องฟ้าได้อย่างถึงอารมณ์จริงๆ

     นี่คือทั้ง 5 บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่จะตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยไปอีกนานแสนนาน