เมื่อมาถึงวันที่การเงินและการธนาคารไม่จำเป็นต้องไปจัดการที่เคาเตอร์ธนาคาร แต่สามารถทำธุรกรรมแทบทุกอย่างผ่านมือถือได้แล้ว ทุกอย่างก็คงจะเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายต่อผู้คนทั่วไป แต่ในอีกด้านหนึ่งของสังคมเราก็ต้องไม่ลืมว่าเรายังมีผู้ด้อยโอกาสอย่างผู้พิการทางสายตาและผู้บกพร่องในการมองเห็นที่อาจไม่ได้รับโอกาสแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น จะมีประโยชน์อะไรถ้าความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นไม่ได้ตอบโจทย์ผู้คนทุกกลุ่มในสังคม และStartup จะไปไกลแบบก้าวกระโดดได้อย่างไรถ้าไม่ได้สร้างสรรค์อะไรบางอย่างเพื่อสังคมบ้าง คุณอย่าลืมว่าคุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นกัน
“ผมอยากคิดอะไรให้แตกต่างไปจากที่คนอื่นคิด บริการทางการเงินผ่านมือถือที่เคยเป็นเพียงทางเลือก อนาคตจะเป็นช่องทางหลัก ทำให้คิดถึงคนที่มีความบกพร่องทางการเห็นว่า ชีวิตน่าจะลำบากขึ้นอีกเยอะ ก็เลยคิดว่าจะทำสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้”
อภิรัตน์ หวานชะเอม
ผู้ก่อตั้ง Beacon Interface
ธุรกิจเพื่อสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งของ Startup
ในปัจจุบันนี้ Startup FinTech ทั้งหลายต่างแข่งกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองกันอย่างจริงจัง แต่ในการแข่งขันนั่นเชื่อเลยว่า 80 – 90 % เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม นั่นคือ คนปกติทั่วไป เรากำลังหลงลืมกันไปหรือไม่ว่าในสังคมของเราก็มีผู้ด้อยโอกาสอยู่ในสังคมกับเราด้วยและกลุ่มหนึ่งที่อยู่กับเราเสมอมาก็คือผู้พิการทางสายตาและผู้บกพร่องในการมองเห็น จากการเหลียวมองไปในสังคมจึงทำให้ อภิรัตน์ หวานชะเอม บุคลากรของกสิกร ซอฟต์ บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทยผู้ก่อตั้ง Beacon Interface ฉุกคิดที่จะพัฒนาระบบการใช้งานผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนเพื่อผู้บกพร่องในการมองเห็นขึ้นมา ถ้าเรามองกันผิวเผินเราจะเห็นว่าอภิรัตน์ หวานชะเอม คิดต่างจากหลักการทำธุรกิจทั่วไปมาก เพราะการทำธุรกิจส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการเป็น Startup ในกลุ่มFinTech ส่วนมากแล้วจะลงทุนลงแรงคิดและพัฒนาเพื่อลูกค้ากลุ่มใหญ่ ไปลุยตลาดใหญ่ย่อมมีโอกาสแข่งขันมากกว่าตลาดเล็ก แต่คุณอภิรัตน์กลับมองลึกซึ้งกว่านั้นเขากล่าวว่า “ถ้าคิดเอาผู้บกพร่องในการมองเห็นแค่ประเทศเรามันก็น้อย แต่ถ้าเราไม่ได้มองแค่ประเทศเราล่ะ ลองมองไปถึงผู้มีปัญหาบกพร่องในการมองเห็นทั่วทั้งโลก เราจะเห็นว่านี่คือคนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มเลยทีเดียว” ปัจจุบันนี้มีปัญหาบกพร่องในการมองเห็นมีอยู่จำนวนกว่า 285 ล้านคนทั่วโลก ประกอบไปด้วยคนทั้ง 3 กลุ่มที่เรียกรวมๆว่า Visually Impaired ซึ่งประกอบด้วย คนตาบอด ผู้มีปัญหาสายตาเลือนราง และผู้สูงอายุ จากจำนวนตัวเลขที่เราเห็นแล้ว ต้องบอกว่าจากตลาดที่เรามองเห็นว่าเล็กในตอนแรกกลับใหญ่กว่าที่เราคิด จำนวนคนเยอะกว่าประชากรในประเทศเราทั้งประเทศเสียอีก และยิ่งปัจจุบันนี้โลกกำลังเขาสู่สังคมผู้สูงอายุกันเกือบหมด ตัวเลขตรงนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคุณจะเห็นว่าถ้าเทคโนโลยีนวัตกรรมนี้ถูกพัฒนาเพื่อคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม เป็นการเติมช่องว่างทางสังคมให้เต็มได้ คุณภาพชีวิตของผู้คนก็จะดีมากขึ้น และนั่นก็คือ หน้าที่หนึ่งของ Startup เช่นกัน ธุรกิจยุคใหม่ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของตนเอง แต่ควรเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ยึดเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง
Beacon Interface ต้นแบบที่แตกต่างเพื่อคุณค่าทางสังคม
ไอเดียเลิศๆของ Beacon Interface ถูกพิสูจน์แล้วว่าเจ๋งจริง เพราะนวัตกรรมนี้ได้ไปคว้ารางวัลชนะเลิศ ในงาน Singapore FinTech Festival 2016 มาแล้ว และปัจจุบันมีธนาคารต่างประเทศและธนาคารไทยอีกหลายแห่งติดต่อเข้ามาขอใช้งาน ซึ่งทางคุณอภิรัตน์เองก็รู้สึกยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่า Beacon Interface จะถูกพัฒนาภายใต้สังคมของธนาคารกสิกรไทยก็จริง แต่หัวใจหลักของ Beacon Interface ไม่ได้ถูกพัฒนามาเพื่อการค้า แต่ถูกพัฒนามาเพื่อให้คุณค่าทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น Beacon Interface จึงไม่ใช่นวัตกรรมที่ถูกจำกัดอยู่แค่ Mobile Banking ของที่ใดที่หนึ่ง แต่เป็นของที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับบริการทางธนาคารบนมือถือของที่ไหนก็ได้บนโลก อีกทั้งยังสามารถที่จะส่งต่อไปพัฒนากับอุตสาหกรรมอื่นๆที่ใกล้เคียงอย่างเช่นธุรกิจประกันภัย หรือแม้กระทั่ง ธุรกิจในสาย e – commerce ได้อีกด้วย ซึ่งจริงๆแล้วถ้าคุณมองให้ดีธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ก็ใช้หลักการเดียวกันกับการทำ CSR และ CSV ลงทุนทำเพื่อสังคมก็เท่ากับเป็นการขยายฐานลูกค้าของตนเองไปด้วยในตัว นี่ล่ะต้นแบบ Startup ในกลุ่มFinTech ที่น่าสนใจที่ Startup รุ่นใหม่น่าจะดูเป็นแบบอย่างจริงๆ
summary
|