การไฟฟ้านครหลวงหรือกฟน. กำลังเร่งดำเนินการตามแผนการยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งอาเซียน ในขอบเขตรับผิดชอบ3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ โดยมีแผนดำเนินการติดตั้งสายไฟฟ้าใต้ดินระยะทาง 200 กม. ให้ได้ภายในปี 2564 นี้
เทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. เปิดเผยว่าจริงๆแล้วตั้งแต่มีนโยบายจากภาครัฐลงมา ทางกฟน.ก็ดำเนินการติดตั้งสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยตลอด ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 41.กม.ส่วนใหญ่ติดถนนหลัก และในอีกไม่ช้าจะมีการขยายการติดตั้งอีก 176 กม.ในเขตพื้นที่มีความสำคัญ อาทิ รอบวัง พื้นที่เศรษฐกิจและตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วก็จะเป็นระยะทางทั้งหมด 200 กม. ซึ่งในเขตพื้นที่เหล่านี้เป็นเขตความรับผิดชอบของทางกฟน.อยู่แล้ว ทางกฟน.จึงจะรีบดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งกฟน.ตั้งเป้าว่าจะต้องแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2564
ในแง่ของความจำเป็นที่เราจะต้องเอาสายไฟลงใต้ดินนั้น ทางกฟน.ชี้แจงว่าปัจจุบันภาระไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในเขตเมือง ทำให้เราต้องมีการเพิ่มระบบสายอากาศเพื่อจ่ายไฟเพิ่มขึ้น นั่นเท่ากับว่าก็จะต้องมีสายไฟที่เพิ่มมากขึ้น และในจุดนั้นกลับไม่เป็นผลดี เพราะการบริหารจัดการดูแลเวลาไฟฟ้ามีปัญหาก็ทำได้ยากขึ้นไม่รวดเร็วเท่าที่ควร ตรงไหนที่ต้องมีการใช้ไฟเยอะอย่างห้างสรรพสินค้า เราก็จะเดินสายไฟไปค่อนข้างลำบาก ต้องอ้อมไปไกลมากนั่นอาจทำให้ระบบจ่ายไฟทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งถ้ามองไปที่หลายๆประเทศในโลกก็พบเจอปัญหานี้เช่นกัน แต่วิธีแก้ของเขาก็คือเอาสายไฟลงใต้ดิน ซึ่งเรามองแล้วว่าเมื่อเมืองเติบโตขึ้นมากในที่สุดแล้วไม่วันใดก็วันหนึ่งเราก้ต้องเอาสายไฟลงใต้ดินอยู่ดี เพราะสุดท้ายแล้วเราทุกคนก็จำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าเยอะขึ้น แล้วทำไมถึงไม่ทำให้ระบบการจ่ายไฟทำได้ดีขึ้นนั่นเอง
ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของการเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินในตอนนี้ก็คือ ระบบผังเมืองของกรุงเทพฯ ใต้ดินของกรุงเทพฯมีท่อต่างๆ มากมาย และในอนาคตข้างหน้าคงไม่ใช่แค่สายไฟเท่านั้นที่จะเอาลงใต้ดิน ยังจะมีระบบโทรศัพท์ไอทีต่างๆด้วยในอนาคต นั่นจึงเป็นปัญหาที่เราจะต้องวางระบบให้ดีมีความรัดกุมก่อนจะลงมือในแต่ละขั้นตอน เพื่อการบริหารจัดการที่ง่ายและสะดวกรวมถึงคุณภาพที่ประชาชนจะได้รับในการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวด้วยนั่นเอง