ขิง ภาษาจีนเรียกว่า姜 (เจียง) ที่บ้านผู้เขียนเรียกตามสำเนียง แต้จิ๋วว่า เกีย ขิงจัดเป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศที่มีความเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก มีหลักฐานการใช้ขิงเป็นอาหารและเครื่องยามายาวนานพอๆกับกระเทียม มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศอินเดียและจีนในช่วงสมัยโบราณ แต่ทั้งนี้ก็ยังสรุปและชี้ชัดไม่ได้ว่าชาติใดเริ่มใช้ก่อน ในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแพทย์จีนมีการบันทึกไว้ว่าเมื่อประมาณ 3,000 ปี ก่อนคริสตกาล มีแพทย์จีนผู้หนึ่งได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องพืชสมุนไพร แต่ในสมัยโบราณยังไม่มีห้องทดลอง ดังนั้นจึงต้องใช้ตนเองเป็นหนูลองยา แพทย์จีนท่านนั้นได้ทดลองกินพืชผักต่างๆ เมื่อพืชผักเหล่านั้นส่งผลอย่างไรกับร่างกายก็จดบันทึกเอาไว้ แต่มีครั้งหนึ่งได้กินเอาพืชมีพิษร้ายแรงเข้าไป แต่โชคดีว่าได้กินขิงตามเข้าไปด้วย อาการจึงไม่ถึงชีวิต จากนั้นจึงค่อยๆกินขิงเข้าไปอีก จนอาการดีขึ้น จึงเป็นที่มาอีกอย่างหนึ่งถึงสรรพคุณทางยาของขิง แพทย์จีนโบราณรู้จักวิธีใช้ประโยชน์จากขิงสดและขิงแห้งในแง่มุมที่ต่างกันออกไป โดยจะใช้ขิงแห้งในภาวะที่ร่างกาย มีหยางพร่อง คือ ภาวะที่ร่างกายมีความเย็นมาก หนาวง่าย ทนกับความเย็นไม่ได้ ระบบการย่อยอาหารทำงานไม่ดี ส่วนขิงสดจะใช้สำหรับขับพิษ การติดเชื้อในร่างกายโดยการขับพิษให้ออกมาทางเหงื่อ ในสมัยโบราณหญิงชาวจีนจะนำขิงมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องยาสำหรับแก้ปวดประจำเดือน และยังใช้แก้อาการคลื่นไส้ตอนแพ้ท้อง ชาวเรือจีนจึงประยุกต์เอาความรู้ในแง่มุมนี้มาใช้ด้วย โดยการเคี้ยวรากขิงเมื่อออกทะเลเพื่อแก้อาการเมาคลื่น และต่อมาในตำรับยาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 1985 ได้บรรจุขิงเป็นยาสมุนไพรแห่งชาติตัวหนึ่ง นอกจากนี้ในหลายๆชาติยังมีการนำขิงมาใช้ในแง่มุมของสมุนไพรเช่นกัน ทั้งญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศไทย หรือแม้กระทั่งการแพทย์ในโลกตะวันตกก็นำขิงมาใช้ร่วมในการรักษาหรือบำบัดด้วยเช่นกัน ขิงจึงจัดได้ว่าเป็นสมุนไพรนานาชาติ

สารอาหารที่พบในขิง

ginger-powder-benefits     ขิงอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปรตีน วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 วิตามินซี และมีเส้นใยจำนวนมาก

ประโยชน์ของขิงในทางการแพทย์จีน

gingerGettyImages-126372179-594811115f9b58d58ac5fb82     ขิง เป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์อุ่น รสเผ็ด ออกฤทธิ์กับเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร และ ปอด มีสรรพคุณช่วยขับพิษ แก้ท้องร่วง กระจายความเย็นในร่างกาย เสริมความแข็งแรงของกระเพาะอาหาร บำรุงม้าม แก้คลื่นไส้อาเจียน ละลายเสมหะ แก้อาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอเรื้อรัง ไอหอบมีเสมหะ ขับพิษจากอาหารทะเล เนื้อนกและสัตว์ป่าบางชนิดได้ ช่วยขยายหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก แก้ท้องผูก ช่วยในระบบย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร และเหมาะสำหรับคนที่เป็นหวัดเย็นเท่านั้น

ขิงกับสรรพคุณทางยา

1.แก้หวัด แก้ไอ นำขิงมาสับให้ละเอียดและนำไปต้มในน้ำ ทำเป็นน้ำขิง แล้วนำมาดื่ม ถ้าเป็นหวัดแล้วมีอาการไอร่วมด้วย ก็ให้ผสมน้ำผึ้งลงไปในน้ำขิงเล็กน้อย หรือ อาจจะผสมเกลือลงไปเล็กน้อยแทนก็ได้ แล้วนำมาดื่ม

2.แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น นำขิงสับไปชงในน้ำเดือดทำเป็นน้ำขิงอีกเช่นกัน แต่ให้แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยนำมาดื่ม โดยดื่มทีละน้อยๆไม่ต้องมาก หากอยากดื่มแบบร้อนก็นำไปอุ่นได้ แต่อย่าอุ่นนานเพราะสารสำคัญบางอย่างในขิงจะสลายตัวไป หรือเติมน้ำอุ่นลงไปเพิ่มก็ได้

3.แก้คลื่นไส้ อาเจียน ขิงสับต้มน้ำทำเป็นน้ำขิง แล้วนำมาดื่ม

4.แก้ปวดประจำเดือน ใช้ขิงแห้งต้มนำ เติมน้ำตาลทรายแดง และนำไปดื่มตอนท้องว่าง

5.แก้หวัดเย็นสำหรับเด็ก เอาขิงสดกับรากฝอยของต้นหอมตำรวมกันคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นนำน้ำที่ได้ไปทาที่คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหน้าอกและหลังของเด็ก

ข้อควรระวัง

1.หญิงมีครรภ์ควรใช้ความระมัดระวังในการกิน เนื่องจากแพทย์จีนและแพทย์ตะวันออกเห็นตรงกันว่า ขิง มีฤทธิ์อุ่น จัดได้ว่าเป็นยาร้อน การกินยาร้อนมากเกินไปในหญิงมีครรภ์อาจทำให้แท้งได้

2.ในกรณีท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ควรดื่มน้ำขิงที่เข้มข้นมาก เพราะหากดื่มน้ำขิงที่เข้มข้นมาก หรือดื่มในปริมาณมากเกินไป ผลที่ได้จะตรงข้าม เนื่องจากขิงจะออกฤทธิ์ระงับการบีบตัวของลำไส้

3.คนที่เป็นหวัดร้อน คือ มีอาการปวดหัว ตัวร้อน เหงื่อออก คอแห้ง เจ็บคอ เสมหะเหนียวค้น ไม่ควรกินขิงหรือดื่มน้ำขิง เพราะอาจจะทำให้อาการทรุดลง ขิงจะมีประโยชน์ในกรณีที่เป็นหวัดเย็นเท่านั้น คือ มีลักษณะอาการ หนาว มีไข้ต่ำ ไม่ค่อยมีเหงื่อ เสมหะเหลวใส

4.ผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ไม่ควรกินขิงหรือน้ำขิง เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี

5.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวเกล็ดเลือด หรือเป็นโรคหัวใจ ควรระมัดระวังในการกินขิง ไม่ควรกินขิงในปริมาณมาก เพราะขิงมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด และกดประสาทส่วนกลางซึ่งจะมีผลต่อการเต้นของหัวใจ

6.ผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารต้องระมัดระวังในการกินขิงเช่นกัน เพราะอาจไประคายเคืองกระเพาะอาหารได้

7.ผู้ที่ทางแพทย์จีนเรียกว่ามีอาการหยินพร่อง หรือ มีอาการร้อนในง่าย มีโรคเกี่ยวกับตา และริดสีดวงทวารควรหลีกเลี่ยงการกินขิง