มะเขือเทศ ภาษาจีนเรียกว่า 西红柿 ( ซีหงซื่อ) แต้จิ๋วเรียกว่า อั่งหม่อเกี๊ย ส่วนบ้านผู้เขียน เรียกว่า番茄 ฮวงเกี๊ย หลายคนสงสัยว่าตกลงมะเขือเทศนี่เป็นผักหรือผลไม้ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นผัก อันนี้เป็นความเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเรามักจะเห็นผู้คนนำมะเขือเทศมาประกอบอาหารจึงเข้าใจว่าเป็นผัก แต่ในการจัดประเภทผักผลไม้ตามหลักมาตรฐานทางพฤกษศาสตร์จัดว่ามะเขือเทศเป็นผลไม้ แต่เนื่องจากผู้เขียนจะกินมะเขือเทศในฐานะผักเป็นส่วนใหญ่จึงขอจัดเข้ามาอยู่ในหมวดผักในบทความนี้

เรื่องน่ารู้ของมะเขือเทศ

     มะเขือเทศมีต้นกำเนิดจากประเทศเปรูและเม็กซิโก ในตอนนั้นไม่มีใครกล้าพอที่จะลิ้มลองรสชาติของมะเขือเทศ เพราะคิดกันไปว่าเป็นผลไม้พิษ แม้ว่าดูภายนอกจะสวยงามสีสันสดใสเพียงใดก็ตาม ต่อมาชาวสเปนและโปรตุเกสได้นำเอามะเขือเทศไปปลูกในยุโรปในฐานะไม้ประดับในสวน มีการกล่าวกันว่าพระสวามีของพระนางอลิซาเบธได้เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศแถบอเมริกาใต้ ก็ได้ไปพบมะเขือเทศเข้าและชื่นชมในความสวยงามของผลมะเขือเทศ จึงได้นำเอาต้นมะเขือเทศกลับมายังอังกฤษด้วย เพื่อที่จะนำไปปลูกและมอบเป็นของขวัญแก่พระนางอลิซาเบธ อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรักที่มีต่อพระนาง ต่อมาจึงมีการปลูกต้นมะเขือเทศแพร่หลายออกไปทั้งในอังกฤษและยุโรปหลายประเทศ และกลายมาวัฒนธรรมที่บรรดาคนหนุ่มสาวที่รักกัน ก็จะมีการนำมะเขือเทศไปมอบให้คนรักเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงถึงความรักที่มีต่อกันตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง นี่เองจึงเป็นที่มาว่าทำไมชาวยุโรปจึงขนานนามมะเขือเทศว่า “แอปเปิลแห่งความรัก”

     มะเขือเทศถูกปลูกในฐานะไม้ประดับในสวนอยู่นานประมาณ 200 ปี จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 18 ได้มีจิตรกรชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะด้วยเหตุผลใด อาจมีปัญหาชีวิตที่ไม่ตกหรือนึกพิเรนทร์ก็ไม่มีใครทราบได้จริงๆ จู่ๆก็รู้สึกอยากลิ้มลองรสชาติของมะเขือเทศขึ้นมา เขาผู้นั้นจึงตัดสินใจลองกินมะเขือเทศดู หลังจากกินแล้วเขาก็อาบน้ำแต่งตัวอย่างดี เพื่อนอนรอรับความตายอย่างสง่างาม แต่พอผ่านไปครึ่งวันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเขา จนเวลาผ่านไปหนึ่งวันก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาจึงลองกินมะเขือเทศอีก แล้วก็รอดูผล แต่เขาก็ยังไม่ตาย เขาทดลองแบบนี้อยู่หลายรอบ จนเขาแน่ใจว่ามะเขือเทศไม่มีพิษ จากนั้นจิตรกรผู้นี้จึงป่าวประกาศออกไป ทำให้คนเริ่มกินมะเขือเทศ และเวลาผ่านไปมะเขือเทศจึงกลายมาเป็นอาหารในครัวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา   และในปี ค.ศ.1811 ก็มีการบันทึกระบุถึงมะเขือเทศลงในพจนานุกรมทางพฤกษศาสตร์ จากนั้นจึงมาแพร่หลายเข้าในเอเชีย นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมคนจีนเรียกมะเขือเทศว่า “ฮวงเกี๊ย” หรือ “อั่งหม่อ” เพราะมะเขือเทศเป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ “ฮวง” ในภาษาแต้จิ๋ว หมายถึงของนอก หรือของที่มาจากต่างประเทศ ส่วน “อั่งหม่อ” ก็มีความหมายถึงต่างประเทศเช่นกัน

สารอาหารที่พบในมะเขือเทศ

tomatoplant003     มะเขือเทศอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมายหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินเค แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก สารจำพวกไลโคพีน เบต้าแคโรทีน และกรดอะมิโน สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่า การกินมะเขือเทศมากๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย รวมถึงมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งทางเดินอาหารอีกด้วย

ประโยชน์ของมะเขือเทศในทางการแพทย์จีน

     มะเขือเทศ มีฤทธิ์เย็น มีรสหวานอมเปรี้ยว มีสรรพคุณช่วยดับร้อยถอนพิษ ช่วยเพิ่มความเย็นให้กับเลือด ช่วยสมานแผลในตับ ลดอาการตับอักเสบ บำรุงกระเพาะ ช่วยในระบบย่อยอาหารสำหรับผู้ที่มีระบบย่อยไม่ดี ดับกระหาย บำรุงไตและช่วยขับปัสสาวะ แก้วิงเวียนศีรษะจากการเมาแดดได้ แก้แผลร้อนในในช่องปาก มีส่วนช่วยปรับสายตาในการมองเห็นในเวลากลางคืน ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเส้นเลือดตีบ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายและยังช่วยต้านเซลล์มะเร็ง

มะเขือเทศกับสรรพคุณทางยา

1.เลือดออกตามไรฟัน นำมะเขือเทศสดมาล้างให้สะอาด และกินสดๆเหมือนผลไม้ทั่วไป ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ อาการดังกล่าวก็จะดีขึ้น

2.อาหารไม่ย่อย นำมะเขือเทศมาคั้นเอาน้ำ ให้ได้ประมาณครึ่งแก้ว และนำไปดื่มวันละ 2 – 3 ครั้ง

3.ปากเป็นแผล ให้อมหรือบ้วนปากด้วยน้ำมะเขือเทศ อมครั้งละ 3 – 10 นาที ทำวันละหลายๆครั้งติดต่อกันสัก 2 – 3 วัน

4.ร้อนในเป็นไข้กระหายน้ำ นำมะเขือเทศมาคั้นน้ำ และผสมน้ำอ้อยในอัตราส่วนที่เท่าๆกันและนำไปดื่ม

5.ลดความดันโลหิต หลังตื่นนอนและแปรงฟันแล้ว ขณะท้องว่างในตอนเช้าให้กินมะเขือเทศสด 1 – 2 ผล ทุกวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน (ทางการแพทย์ถือเป็น 1 ช่วงของการรักษา) ให้กินอย่างนี้สัก 2 ช่วงของการรักษา

6.ป้องกันโรคหวัดฤดูร้อน นำมะเขือเทศมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นแผ่น แล้วนำไปต้ม จากนั้นนำไปดื่มและกินทั้งเนื้อมะเขือเทศจะช่วยป้องกันโรคหวัดได้

ข้อควรระวัง

     มะเขือเทศมีฤทธิ์เย็น ผู้ที่กระเพาะ ลำไส้ และม้าม ไม่ค่อยแข็งแรง มีลมในท้องมาก หรือถ่ายเหลวบ่อย ไม่ควรกินมะเขือเทศมาก หากหลีกเลี่ยงได้ก็จะดี สำหรับผู้ที่จะกินมะเขือเทศเพื่อปรับลดความดัน จะต้องพิจารณาพื้นฐานสุขภาพร่างกายด้านอื่นด้วย หากเป็นผู้มีกระเพาะ ลำไส้ และม้ามแข็งแรง ก็ไม่เป็นไร เพราะมะเขือเทศ มีรสหวานออกเปรี้ยว หากกินตอนท้องว่างอาจทำให้ปวดท้องได้ง่ายเช่นกัน ผู้ที่ตับร้อนหรือแพทย์จีนเรียกว่ามีหยางในตับมาก ไม่ควรกินมะเขือเทศมาก จะทำให้ตาแฉะ ปากขม และนอนหลับไม่สนิท