เป็นประเด็นดราม่าที่ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่สุดแล้วสำหรับเมืองไทยในเวลานี้สำหรับกรณี “ป้าทุบรถ” เพราะการที่ป้าไปเอาขวานทุบและจามไปที่รถคันนั้น ไม่ได้ไม่ได้สะเทือนที่รถอีกต่อไป แต่กลับสะเทือนไปถึงบิ๊กข้าราชการไทยรวมถึงระบบบริหารราชการของกรุงเทพฯมหานครทั้งระบบเลยทีเดียว
เจ้าหน้าที่รัฐละเลยการใช้กฎหมาย
เรื่องราวนี้สะท้อนแง่มุมชวนคิดได้หลากหลาย แต่สิ่งแรกที่เปิดเผยออกมาให้คนไทยและโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯได้รับรู้ก็คือ “ความล้มเหลวแบบสุดขั้วของระบบราชการไทย” ตั้งแต่เขต ไปจนถึง กทม. และยังไปถึงอำนาจของศาลอีกด้วย ซึ่งกล้าท้าเลยว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เลยว่า ตลาดการค้าต่างๆนั้น ต้องมีการ “จดทะเบียนตลาด” อย่างถูกต้อง ถึงจะสามารถเปิดทำตลาดได้อย่างถูกต้องไร้ปัญหา ไม่อย่างนั้นก็จะเป็น “ตลาดเถื่อน” ซึ่งเรื่องราวรายวันที่ถูกเปิดเผยออกมาในเรื่องนี้ก็จะพบว่าตลาดที่เปิดล้อมรอบบ้าน “ป้าทุบรถ” ส่วนใหญ่เป็น “ตลาดเถื่อน” และถึงแม้ไม่เถื่อนแบบ 100 % แต่ก็ยังถือว่าไม่ถูกต้องในบางตลาด คือ จดทะเบียนเป็นพาณิชย์อีกแบบ แต่ถูกนำมาใช้อีกแบบ อันนี้จริงๆก็ไม่ถูกต้องซะทีเดียว คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วมันเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร ? เจ้าหน้าที่รัฐละเลยเรื่องเหล่านี้ไปใช่หรือไม่ ?
จริงอยู่ว่าการเปิดตลาดแม้จะไม่ใช่เรื่องผิดใหญ่โต เหมือนไปฆ่าใครตาย อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้ผู้คนสร้างอาชีพ มีที่ทำมาหากินและมีรายได้เลี้ยงปากท้อง และ “ตลาด” ก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย มีคนอยู่ตรงไหนก็ต้องมีตลาดเป็นของคู่กัน แต่ตลาดนั้นๆต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริงๆ ไม่ใช่พื้นที่ที่เปิดรับคนนอกชุมชน เปิดอิสระเสรีจนคนนอกชุมชนเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในชุมชน ดังนั้น ก่อนที่จะสร้างตลาดหรือเปิดตลาดได้ มันคงต้องมีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบพิจารณาถึงความเหมาะสมในหลายเรื่องน่าดูทั้งผังเมืองในพื้นที่ชุมชน ทางเข้าทางออก การบริหารจัดสรรเรื่องขยะ เรื่องกลิ่น เรื่องเสียง เรื่องที่จอดรถ ซึ่งถ้าดูรวมๆแล้ว ใช้เวลามากทีเดียวกว่าจะมีตลาดได้สักแห่ง แต่นั่นมันก็ดีกับทุกฝ่ายไม่ใช่หรือ ? ทุกอย่างและทุกขั้นตอนเหล่านี้จริงๆแล้ว ก็มีกฎหมายและระเบียบขั้นตอนอยู่แล้ว แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาก็ต้องถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐละเลยการใช้กฎหมาย และตอนนี้ผู้ใหญ่ในส่วนราชการกทม. ต่างก็โบ้ยกันเป็นว่าเล่น ว่าเป็นความผิดของคนนั้นคนนี้ ใหญ่กว่าก็โยนไปให้เล็ก กทม.โยนว่าเป็นความผิดของเขตที่ละเลย แล้วแบบนี้คนไทยตาดำๆจะพึ่งพาและฝากความหวังกับระบบราชการไทยได้อย่างไร
สั่งตรวจเมื่อมันสายไปที่จะแก้
หลังเหตุ “ป้าทุบรถ” เป็นกระแสดัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงขยับตัวลงมาดูพื้นที่และพยายามแก้ไขปัญหา เมื่อเรื่องราวถูกแฉออกมา ผู้ว่ากทม. ก็ไม่รอช้าก็มีคำสั่งตรวจสอบตลาด364แห่งทั่วกรุงเทพฯทันที ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ คำถามคือ ช้าไปไหมท่าน ? ตลาดและชุมชน รวมถึงคนทำมาหากินมันฝังรากลึกจนเกินกว่าจะขุดขึ้นมาตรวจสอบแล้ว ตรวจสอบกันตอนนี้สะเทือนวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯแน่นอน เจ้าของตลาดก็ต้องขาดรายได้ พ่อค้าแม่ค้าก็ต้องตกงานขาดรายได้ไปด้วย แต่เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับท่านพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย เพราะท่านเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งไม่กี่ปี ปัญหาเหล่านี้มันฝังรากลึกมาตั้งแต่ผู้ว่ากทม.คนก่อน เอาล่ะอย่างน้อย ถ้ามีการตรวจสอบจริงๆทำให้มันถูกต้องเสียทั้งหมดมันก็น่าจะดี ถือว่าการทุบรถครั้งนี้ของคุณป้า จะช่วยให้อะไรหลายอย่างของกรุงเทพฯที่มันเทาๆไม่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องเสียที แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นเพียงคำสั่งแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดหรือเปล่าก็ต้องมาดูกัน
ติดตามต่อตอนที่ 2