หลายคนเอ่ยถึงขั้นที่ว่า “ป้าทุบรถ” มีคุณูปการกับสังคมไทยอย่างมาก จริงหรือไม่ เราไม่ขอออกความคิดเห็น แต่มาดูสิ่งที่เกิดขึ้นกันต่อจากตอนที่ 1 ดีกว่า
ถึงเวลาพิจารณากฎหมายครอบครองรถหรือยัง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด หลายประเทศในโลก อย่างเช่นญี่ปุ่น และสิงคโปร์เป็นต้น มีกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองรถ ในญี่ปุ่นจะซื้อรถทีก็ต้องถูกตรวจสอบมากมาย ผู้ที่จะซื้อรถจะต้องแสดงหลักฐานความจำเป็นในการซื้อรถต่อรัฐ ถ้ารัฐให้ผ่านถึงจะซื้อได้มีการสอบสัมภาษณ์ด้วย ส่วนสิงคโปร์เขามีนโยบายและวิธีการควบคุมปริมาณรถที่เรียกว่าระบบยานพาหนะแบบโควต้า หรือ Vehicle Quota System คือคนที่จะซื้อรถใหม่ก็จะต้องมีการขอทะเบียนรถ ที่เรียกว่า Certificate of Entitlement (COE) แต่เจ้า COE นี้รัฐจะเป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งคนจะซื้อรถนอกจากจะมีเงินซื้อรถแล้วก็ต้องเตรียมเงินอีกจำนวนหนึ่งไปประมูลเพื่อซื้อทะเบียนรถจากรัฐด้วย คือ ผู้จะซื้อรถได้ก็ต้องส่งเรื่องขอเข้ามูลทะเบียน รัฐก็จะตรวจสอบดูความจำเป็นถ้าผ่านคุณก็จะได้ทะเบียนและได้ซื้อรถ แต่ยังไม่หมดแค่นั้นถึงคุณจะได้เป็นเจ้าของรถและทะเบียนรถแล้วก็ตาม แต่กฎหมายของสิงคโปร์เขายังระบุต่อด้วยว่าคุณจะมีสิทธิ์ครอบครองรถยนต์นั้นแค่เพียง 10 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วรถยนต์คันนั้นต้องถูกส่งไปทำลาย(ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องขยะและปริมาณรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้) หรือถ้ารถยนต์ยังใช้งานได้คุณก็ต้องมีการส่งต่อทะเบียนรถให้ผู้อื่น คือง่ายๆหลัง 10 ปี คุณไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้สของรถคันนั้นอีกแล้ว ซึ่งมันก็เป็นไอเดียที่เข้าท่า ที่น่าจะนำมาใช้กับบ้านเราบ้าง
คนไทยกำลังถูกสปอยล์ ทำให้เริ่มรักความสบายบนความทุกข์ยากของตัวเอง ปัญหารถติดที่แก้ไม่ตก ปัญหาที่จอดรถไม่มี จะไปกินข้าวทีขับวน 10 รอบยังหาที่จอดไม่ได้ เราเจอปัญหากันอยู่ทุกวัน และเป็นปัญหาคุณภาพชีวิตด้วย แต่เรากลับมองว่าต้องทำใจรับมันและปรับตัวกับมันให้ได้ จนเรามองว่ารถติด แล้วไง? ไม่มีที่จอดก็ไม่เป็นไร ไปหาจอดเอาหน้าบ้านใครชั่วคราวก็ได้ เมื่อคนไทยคิดแบบนี้ปัญหา “ป้าทุบรถ” จึงเกิดขึ้น และเชื่อว่าหลายคนต้องประสบพบเจอเรื่องแบบเดียวป้ามาแล้วแน่นอน แต่เราพยายามไกล่เกลี่ยประนีประนอมเอา เราลืมต้นตอว่าปัญหามันเกิดขึ้นเพราะเรา มีรถกันมากเกินไป มีรถเยอะกว่าถนนที่จะวิ่งด้วยซ้ำ เราอยากให้คุณพิจารณากรณีศึกษาเหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวันและเกิดขึ้นแบบทุกวัน ไม่ว่าจะกับคุณ เพื่อนๆ ญาติๆ เชื่อว่าคุณอาจจะต้องเคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆกับแบบนี้มาก่อน
- กรณีศึกษาที่ 1 : แย่งที่จอดรถจนฆ่ากันตาย
- กรณีศึกษาที่ 2 : แย่งที่จอดรถในห้าง(ปัญหาคนกรุง)
- กรณีศึกษาที่ 3 : ทะเลาะกันเพราะถามหาสิทธิ์พื้นที่จอดรถ
ซึ่งคุณจะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับการมีตลาดถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย ต่อให้ประเทศไทยมีตลาดทุกตลาดถูกกฎหมาย ปัญหา “ป้าทุบรถ” ก็จะเกิดขึ้นอีกอยู่ดี เพราะเราจะ “ไม่มีที่จอดรถ” กันเหมือนเดิม การมีรถยนต์มากเกินไปทำให้คนไทยไร้วินัยและลืมคิดถึงการรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม เราจะซื้อเราคิดเพลินๆถึงตอนขับ แต่เราลืมหลับตานึกถึงตอนจะเอารถไปจอดที่ไหนสักแห่ง แค่จะลงไปกินข้าวยังยาก เดินไปยังง่ายกว่ามาก วนรถไปหลายเที่ยวแล้วยังหาที่จอดไม่ได้ ก็มันหาที่จอดไม่ได้อ่ะก็…จอด(แม่ง)ตรงนี้ล่ะวะ หน้าบ้านใครก็ช่าง จอดลงไปกินข้าวแป๊ปเดียวไม่เป็นไรหรอก เรามักคิดกันแบบนี้ จริงๆที่จอดรถมันมีนะ แต่มันไม่เพียงพอ เพราะรถมันเยอะเกินไป นโยบายและกฎหมายควบคุมรถจึงน่าจะเป็นทางออกและทางแก้ไขปัญหา “ป้าทุบรถ” ในระยะยาวที่ยั่งยืนและถาวรกว่าแต่การจะออกกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมันกระทบกับเศรษฐกิจภาคใหญ่ของประเทศ เพราะบ้านเราเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นรายได้เข้าประเทศด้วยเช่นกัน แต่ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ ระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า รถเมล์ต่างๆ พัฒนาไปก็ค่าเท่าเดิม เพราะคนจะไม่ใช้ คนมีรถก็ต้องขับรถอยู่แล้ว มีรถไว้ใช้ทำงานมันก็เรื่องหนึ่ง แต่พวกสะสมรถนี่สิน่าจะต้องดูๆกันหน่อย
กรุงเทพฯผังเมืองย่ำแย่
การวางผังเมืองของกรุงเทพฯนั้นมีความผิดพลาดมานานมากแล้ว แต่การจะแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะระบบราชการที่มีการทุจริตคอรัปชั่น เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยและนายทุน ทำให้ทุกอย่างมากยากเกินเยียวยา ใครอยากสร้างบ้านจัดสรรก็สร้าง ใครอยากสร้างคอนโดก็สร้าง มีเงินก็ยัดเข้าไป เดี๋ยวก็ก่อสร้างได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มองเลยว่ามันกระทบกับผังเมืองหรือไม่ ถ้าผังเมืองผิดเพี้ยนไปก็กระทบกับชีวิตและวิถีชุมชนแน่นอน อย่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ผ่านมาก็ต้องมีการเวนคืนที่มากมาย(แม้ค่ายทหารยังโดนย้ายมาแล้ว) กรณีของป้าทุบรถก้เป็นแบบนี้เช่นกัน ก่อนจะอนุญาตให้สร้างอะไร จะให้มีตลาด ก็ต้องดูก่อนว่ามีใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์บ้าง ไม่ใช่เอาแต่รับเงินเขามาแล้วก็อนุญาตง่ายๆ เพราะถ้ายังเป็นเช่นนี้ กรณีแบบป้าทุบรถก็จะมีให้เห็นอีกแน่นอน
ผลกระทบรุนแรงกว่าที่คิด
แม้กระแสสังคมส่วนใหญ่ จะเทใจให้กับ “ป้าทุบรถ” แต่ผู้ที่น่าสงสารไม่ได้มีแต่ครอบครัวของป้า ยังมีพ่อค้าแม่ค้า ที่หาเช้ากินค่ำรายได้ไม่ได้มากมายต่อวันที่ค้าขายอยู่ในตลาดเหล่านั้น ซึ่งตอนนี้ผู้ว่ากทม.รวมถึง ผอ.เขตสั่งปิดตลาดชั่วคราว พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย เขาไม่ได้ผิด แค่มีพื้นที่ให้ขายเขาก็มาเช่าขาย แต่การออกคำสั่งปิดตลาดแบบนี้ทีมป้าอาจจะดีใจ แต่นั่นก็กระทบกับอีกหลายสิบครอบครัวที่ต้องทำมาหากินในพื้นที่นั้นไปด้วย แล้วไหนล่ะแนวทางเยียวยาแก้ไข ใครบ้างที่จะรับผิดชอบเงินรายได้ ของพวกเขาเหล่านั้น งานก็อายากอยู่แล้ว ที่ทำกินก็ยังโดนปิด มันกระทบเป็นวงกว้างกว่าที่คิด เราจึงภาวนาว่าอย่าให้เรื่องนี้ยื้อเยื้อนานเกินไป จะออกคำสั่งอย่างไรก็นึกถึงใจคนไทยหลายๆคนด้วย ความผิดอยู่ที่ผู้ใหญ่ที่เป็นราชการ ไม่ใช่อยู่ที่ประชาชนตาดำๆอย่างพวกเรา