กสศ. ชี้ปมการศึกษาไทยเป็นปมที่ยังไม่มีทางแก้ และเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทย จนแทบจะเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ความเหลื่อมล้ำยังฝังรากลึก จึงอยากกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาจริงจังกับเรื่องนี้อีกครั้ง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการเปิดเผยว่า จากรายงานดัชนีพัฒนาทุนมนุษย์ของเวิลด์แบงก์ หรือ Human Capital Index (HCI) ที่รายงานค่าเฉลี่ยของจำนวนปีการศึกษาของเด็กไทยอยู่ที่ 12.4 ปี แต่มีจำนวนปีของการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอยู่เพียง 8.6 ปี ช่องว่างประมาณ 4 ปีนี้ สะท้อนว่าแม้เด็กไทยจะอยู่ในระบบการศึกษานานถึง 12 ปี แต่ไม่ใช่ทุกช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ หากนำไปพิจารณารวมกับดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทยที่มีค่า 0.6 หมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้วเด็กไทยที่เกิดวันนี้จะมีผลิตภาพเพียงประมาณ 60% ของศักยภาพสูงสุดของเขา (Full Productivity) เท่านั้น
ถ้ากล่าวกันให้เจาะจงขึ้นก็คือ ไทยเราเสียงบประมาณลงทุนไปกับเรื่องการศึกษาเยอะมาก แต่เหมือนเทน้ำทิ้งไปเฉยๆ โดยไม่ได้อะไรที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ากลับมามากนัก โดยในแต่ละปีประเทศไทยเรา ลงทุนในด้านการศึกษาถึง 6.1% ของจีดีพีประเทศ และสุขภาพ 3.7% ของจีดีพี รวมแล้วลงทุนสูงเกือบ 10% ของจีดีพี แต่ทั้งสองเรื่องนี้กลับเหมือนเป็นการลงทุนที่เปล่าประโยชน์ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณว่าไม่พอ แต่ปัญหาก็คือ เราลงทุนแก้ไม่ถูกจุด ยังมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง ทำให้ลงทุนไปเท่าไหร่ก็จมไปเท่านั้น
ถ้ามองกันที่เรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียว ก็ต้องบอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงเกือบ 20 เท่า คือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศ มีโอกาสแค่ 5% เท่านั้น ที่จะไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ ในขณะที่ เด็กที่อยู่ในครอบครัวร่ำรวยที่สุด 20% แรกของประเทศ มีโอกาส 100% มีสิทธิและโอกาสเลือกที่จะเรียนอะไรแบบไหนก็ได้ในแบบที่ตนเองต้องการ และพวกเขาพร้อมที่จะใช้เวลาให้นานเท่าที่ต้องการในการอยู่ในระบบการศึกษา คือ จะเลือกเรียนคณะอะไรก็ได้ เพราะครอบครัวมีธุรกิจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรียนอะไรก็มีฐานที่ครอบครัวสร้างไว้รองรับ ไม่ต้องกังวลเรื่องจบออกมาแล้วจะหางานทำไม่ได้ จะเลือกเรียนภาคอินเตอร์ก็ได้ หรือจะไปเรียนต่างประเทศเลยก็ได้ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้กังวลว่าตนเองต้องเรียนจบภายในเกณฑ์ 4 ปี หรือ 5 ปี ตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด หากยังไม่พร้อมที่จะทำงานก็จะอยู่ในระบบการศึกษาแบบนั้นไปจนกว่าจะพอใจ และบางคนเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ก็ยังขอเรียนต่อปริญญาโททันที
ขณะที่อีกด้านหนึ่งเด็กที่มากจากครอบครัวที่ยากจน แทบไม่มีสิทธิ์ในการเลือก เพราะไม่มีตัวเลือก ต้องเรียนตามระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไปตามมีตามเกิด ถึง ม.3 หรือ ม.6 ก็จะต้องออกมาทำงานเพื่อช่วยครอบครัว ไม่มีโอกาสที่จะคิดและฝันที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะไปต่อได้ แต่จบออกมาก็ยากที่จะหางานทำให้ตรงกับความสามารถที่เรียนมา
ปัญหาเหล่านี้เป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นจากคุณภาพชีวิตที่ต่างกัน ไม่ใช่ระบบการศึกษาที่ไม่ดี แต่เพราะค่านิยมของสังคมที่ผิดเพี้ยนไปจนส่งผลกระทบเข้าไปสู่ระบบการศึกษาที่ด้อยคุณภาพลงไปเรื่อยๆ เราเริ่มเรียนเพื่อสอบแข่งขัน มากกว่าเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ไปใช้งานจริงๆ ในการดำรงชีพ ถ้าเราหันมองดูประเทศต่างๆบ้าง เราจะพบว่าหลายเทศในเอเชีย ทำการลงทุนกับมนุษย์แล้วได้ความคุ้มค่ากลับมา อย่าง จีน เวียดนาม มาเลเซีย ประเทศเหล่านี้สามารถลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้มีประสิทธิภาพกว่าไทย ทำให้ในอนาคตจะมีความมั่นคงยั่งยืนและมีแนวโน้มแซงหน้าประเทศไทยได้