HIGHLIGHTS:

  • ปัญหาที่ซับซ้อน คือ เทรนด์ใหม่ของโลกอย่างหนึ่ง เมื่อการทำงานและการใช้ชีวิตของคุณพบเจอกับปัญหา จงอย่าเพิ่งท้อแท้ลองมองออกไปข้างนอกคุณจะพบว่า ทุกๆคนล้วนมีปัญหาเช่นกัน ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ปัญหาก็หนักและซับซ้อนมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหาของคุณมันเล็กแค่นิดเดียว
  • เมื่อพบเจอปัญหาอย่าวิ่งวนอยู่ในหนทางแก้ไขแบบเดิมๆลองรวมปัญหาที่ซับซ้อนนั้นให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วมองปัญหาในมุมบวก แล้วคุณจะเริ่มเกิดความคิดสร้างสรรค์ทำให้มองเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆแบบองค์รวมในครั้งเดียว และนั่นแหละคือ Innovationหรือนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่คุณก็สามารถทำได้

เมื่อปัญหาที่คาดการณ์ไว้เป็นจริงขึ้นมา ท่ามกลางความกดดันของบ้านเมืองและสังคม เวลาที่บีบคั้น และคำตอบของปัญหาที่มีช่างดูเลือนรางเสียเหลือเกิน แล้วเราจะก้าวต่อไปกันอย่างไร

ส่องโลกให้มองเห็นเรา

      ในขณะที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการstartupไทยก้าวไปสู่ยุค4.0คือยุคที่ขับเคลื่อนประเทศด้วย Innovation หรือนวัตกรรมให้ได้อยู่นั้น ทางฝั่งผู้ประกอบการไทยต่างก็พากันงงกันเป็นแถว ว่าทำไมต้องนวัตกรรม ? แล้วนวัตกรรมมันคืออะไรจำเป็นแค่ไหนกับโลกธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดเศรษฐกิจกำลังฟุบ สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่งแบบนี้จะเอากำลังกายกำลังใจและกำลังทรัพย์ที่ไหนไปสรรค์สร้างนวัตกรรมตามนโยบายรัฐอันสวยหรู แน่นอนว่าปัญหารอบด้านแบบนี้ปากท้องต้องมาก่อนเสมอแต่การเลือกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้นั้น “ไม่ใช่ทางออกระยะยาวในการทำธุรกิจ” ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คุณคิดใช่ไหมว่าปัญหาภายในประเทศไทยที่ไม่แน่นอนแบบนี้จะก้าวไปสู่การสร้างและพัฒนานวัตกรรม คงจะเป็นไปได้ยาก ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่เช่นนั้นก็ได้

     หากเราจะกล่าวถึงประเทศที่ทรงอิทธิพลต่อโลกมากที่สุด ก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีแสนยานุภาพเหนือใครในทุกๆด้าน ทั้งประชาธิปไตย การเมือง เศรษฐกิจและกำลังทางการรบ เรามองเห็นสหรัฐอเมริกาในแบบประเทศที่เจริญถึงขีดสุดในทุกๆด้านเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อผู้คนบนโลกมากที่สุด ในขณะที่มุมหนึ่งประชาชนพลเมืองของสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาที่ซับซ้อนและยากเกินที่จะแก้ไขมากกว่าหลายๆประเทศที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึงและรวมถึงประเทศไทยด้วย ปัญหาหลายๆอย่างมีความยากในการที่จะแก้ไขได้โดยง่าย หากย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2012 ที่ประชุมสภาของสหรัฐได้ยืนยันถึงความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเสมือนสัญญาณบางอย่างที่ไม่ค่อยจะดีนักต่อประเทศซึ่งเคยปรากฎมาแล้วในยุคก่อน ที่ประชุมสภาแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นสถาบันเดียวที่ยืนยันข้อมูลดังกล่าว หลายๆหน่วยงานในสหรัฐต่างยืนยันตรงกัน ซึ่งในตอนนั้นสหรัฐอเมริกายังมีสงครามและการปะทะกับทางอิรักและอัฟกานิสถาน และที่เป็นปัญหามากก็คือ ประชาชนพลเมืองอเมริกาต้องสุ่มเสี่ยงอยู่กับการก่อการร้ายอยู่ตลอดเวลา ชาวอเมริกันต่างมีความหวังว่าจะมีข่าวดีบางอย่างเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น นอกจากนั้นแล้ว ปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน และปัญหาเรื่องพลเมืองด้อยการศึกษาเพราะค่าใช้จ่ายในการศึกษาสูงขึ้นเหมือนกับลูกโป่งที่ลอยลิ่วไปเมื่อหลุดจากมือเรา ยังผลให้ผู้เรียนรู้สึกไม่คุ้มที่จะลงทุนเรียนหนังสือ ปัญหาสุขภาพของประชากรก็ดูจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีการสำรวจในช่วงนั้นพบว่า8%ของประชากรในอเมริกาป่วยเป็นโรคเบาหวาน และประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลไปกับการรักษาโรคบางอย่างที่มากขึ้นในยุคหลังอย่างโรคอ้วน โรคหัวใจ และมะเร็งประกอบกับช่วงนั้นมีสถานการณ์การเดินขบวนอาหรับสปริง(Arab Spring)หรือการเดินขบวนเรียกร้องเสรีภาพในประเทศกลุ่มอาหรับที่เริ่มต้นจากตูนิเซียและกระจายก่อตัวกันไปในหลายประเทศ อันเนื่องมาจากนายมุฮัมมัด บูอาซีซีจุดไฟเผาตัวเอง เพราะถูกเผด็จการของรัฐย่ำยี การเดินขบวนดำเนินไปในขณะที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายก็แฝงตัวเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยแม้ว่าตำรวจของอเมริกาจะเข้าถึงแผนลับของเหล่าผู้ก่อการร้ายได้มากขึ้น แต่อาชญากรรมต่างๆ ก็ยังมีอยู่เยอะมาก อีกทั้งยังมีปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ทั่วโลกต่างเรียกร้องให้พี่ใหญ่อย่างอเมริกาออกตัวมาทำอะไรสักอย่างให้ดีขึ้นอีกด้วย ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือปัญหาภาระอันซับซ้อนและเป็นปมที่ใหญ่มากของประเทศที่เรามองว่าเจริญแล้วอย่างขีดสุดอย่างอเมริกา ซึ่งเราก็ไม่อาจฟันธงได้ว่าความเจริญที่มีมากนี้มันคุ้มค่าหรือไม่ เพราะความเจริญที่มากขึ้นก็ตามมาด้วยปัญหาที่มากขึ้น

นวัตกรรมทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้ตาม

 

Steve Jobs

นวัตกรรม คือทางออกของปัญหาที่ซับซ้อน

     จากที่กล่าวมาคุณจะเห็นว่าสหรัฐอเมริกามีปัญหาที่ซับซ้อนและรุนแรงมาก ถ้าจะเทียบกับเราแล้ว ก็ต้องขอบอกเลยว่าเราน้อยกว่าจริงๆแต่จากปัญหาที่มีความซับซ้อนเหล่านี้กลับกระตุ้นให้ชาวอเมริกันเกิด “ความคาดหวัง” ในอะไรบางสิ่งบางอย่าง และในอีกด้านหนึ่งลึกๆลงไปในใจก็เริ่มมีความต้องการที่มากขึ้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ในห้วงเวลาที่ปัญหามากมายรุมเร้า ก็เป็นช่วงเวลาที่การพัฒนาเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาเติบโตมากยิ่งขึ้น ผู้คนในอเมริกามีความคาดหวังมากขึ้นกับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แอพพลิเคชั่น โซเชียลมีเดียและเกม ผู้คนเริ่มสัมผัสได้ถึงโลกที่เปลี่ยนไปจาก iPhone Twitter Facebook เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเริ่มเข้ามาตอบสนองความต้องการในส่วนลึกของผู้คนอเมริกาที่กำลังกระหายในอะไรบางสิ่งบางอย่าง และจากการที่เริ่มเติมเต็มในส่วนที่ขาดให้แก่ผู้คนนี่เองเทคโนโลยีก็เริ่มมีส่วนในการแก้ปัญหาอันซับซ้อนของคนอเมริกัน วงการแพทย์เริ่มพัฒนา ปัญหาสุขภาพของคนอเมริกันก็ได้รับการตอบสนองดูแลมากขึ้น ประชาชนเริ่มตื่นตัวเรื่องสุขภาพและหันมาดูแลตัวเอง อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยในเรื่องของการศึกษา ซึ่งมูลนิธิเกตส์(Gate Foundation) ของบิล เกตส์และสถาบันกองทุนการกุศลอื่นๆก็เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนนี้ด้วยวิธีการต่างๆที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องของการพัฒนาInnovation ที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

นวัตกรรมเป็นความสร้างสรรค์ในเชิงบวกต่อมนุษย์

     ในตอนนี้เราอยู่ในยุคทองของการสื่อสารที่ไร้พรมแดนภาพ เสียง กิจกรรม กีฬา ภาพยนตร์ทุกอย่างสามารไปปรากฏ ณ ที่ใดๆก็ได้บนโลกแล้วก็ได้ในตอนนี้ และสิ่งเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความชื่นชอบของคนในพื้นที่นั้นๆอีกด้วย เราสามารถเข้าถึงเรื่องราวแปลกประหลาดไม่เคยพบเห็นไม่เคยรู้ได้อย่างง่ายดาย แหลางข้อมูลความรู้ก็มีให้ค้นคว้าดุจมีห้องสมุดส่วนตัว สามารถเข้าถึง ค้นหา เรียนรู้ได้อย่างง่ายดายหรือแม้แต่จะพัฒนาไอเดียเล็กๆของตนเองไปสู่สิ่งที่ขายได้จริงในตลาด ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆแล้วในปัจจุบัน เพราะโลกถูกเชื่อมโยงกันด้วยระบบออนไลน์จนแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว จะเรียกว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็ว่าได้ อันเป็นช่วงเวลาที่วิธีคิดแบบเก่าๆกำลังถูกท้าทายด้วยอะไรใหม่ๆที่มีความคล่องตัวสูงกว่า ดังนั้น Innovation หรือนวัตกรรมจึงเป็นทางออกของทุกปัญหาที่ยากจะแก้ไขไม่ว่าจะระดับเล็กๆแค่เพียงองค์กรหรือจะขยับขึ้นไประดับใหญ่ในสังคมก็ตาม นี่จึงเป็นคำถามสำคัญต่อไปว่า “คุณพร้อมที่จะเป็นนวัตกรคนต่อไปหรือยัง”