สิ่งหนึ่งที่ทำให้ที่อยู่อาศัยอย่าง “คอนโดมิเนียม” แตกต่างจาก “บ้าน” ก็คือเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มเข้ามา นั่นคือ “ค่าส่วนกลาง” ไม่ว่าคุณจะซื้อคอนโดเพื่ออยู่เองหรือซื้อเพื่อการลงทุนก็ตาม ค่าส่วนกลางก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่คุณจะต้องพิจารณาให้ดี ยิ่งคอนโดใหม่ในปัจจุบันยิ่งให้ส่วนกลางมาเยอะพอสมควร แต่บางทีก็น่าแปลกใจว่าทำไมค่าส่วนกลางของคอนโดจึงเก็บค่อนข้างถูก ครั้งนี้เราจึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับค่าส่วนกลางของคอนโดใหม่มาฝากกัน
รู้จักค่าส่วนกลางคอนโดให้มากขึ้น
ค่าส่วนกลาง คือ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมบริเวณรอบอาคาร เป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทพัฒนาโครงการคอนโดเรียกเก็บ ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ล่วงหน้า 1 – 2 ปี เป็นค่าใช้จ่ายที่กฎหมายระบุไว้ว่าเป็นค่าบริการสาธารณะ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเก็บขยะ ค่าทำสวน ค่า รปภ. ค่าบริหารจัดการอาคารชุด โดยคิดตามพื้นที่ใช้สอยของแต่ละยูนิตสภาพตามจริง ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถือว่าสำคัญกับทั้งฝ่ายบริษัทพัฒนาโครงการคอนโดและฝ่ายผู้อยู่อาศัย เพราะถ้าโครงการคอนโดไร้ซึ่งการเก็บค่าส่วนกลาง ทางบริษัทนิติบุคคลที่เข้ามาบริหารดูแลโครงการคอนโดก็จะไม่มีเงินในการดูแลส่วนกลางอันเป็นสาธารณะประโยชน์ของคอนโดนั่นเอง และเมื่อทางบริษัทผู้ดูแลไม่มีเงินในส่วนนี้ ข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นส่วนกลางหากพังลงผู้อยู่อาศัยก็ต้องได้รับความลำบากหรือความไม่สะดวกไปด้วย ดังนั้น คอนโดมิเนียมทุกแห่งจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
การคิดค่าส่วนกลางของคอนโดปกติคิดกันอย่างไร
วิธีคิดค่าส่วนกลางปกติจะเหมือนๆกันทุกคนโดอยู่แล้ว แต่ในเรื่องราคาอาจจะแตกต่างกันไป สมมติว่าทางคอนโดกำหนดไว้ว่าจะคิดค่าส่วนกลางอยู่ที่ ตารางเมตรละ 50 บาท/เดือน และคุณซื้อห้องคอนโดขนาด 40 ตารางเมตรไว้ ค่าส่วนกลางที่คุณจะต้องเสียก็คือ 50×40 = 2,000 บาท/เดือน แต่โดยปกติแล้วการเก็บค่าส่วนกลางคอนโดจะเก็บแบบรายปี ดังนั้น ราคา/ปีที่คุณจะต้องจ่ายก็คือ 2,000 x 12 = 24,000 บาท
ค่าส่วนกลางกับการเลือกซื้อคอนโด
ก่อนที่คุณจะทำการลงทุนกับคอนโด คุณต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันนี้ เจ้าของโครงการคอนโดมักจะมีนโยบายเก็บค่าส่วนกลางค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 30 – 40 บาท/ตารางเมตรเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้วเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อใช้เรียกลูกค้า ทำให้คนที่จะไปลงทุนซื้อคอนโดค่อนข้างเบาใจกับค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ และเมื่อคุณเห็นตัวเลขที่ต่ำก็อย่าเพิ่งตกลงใจเข้าไปทำการลงทุนทันที ยิ่งคอนใหม่ยิ่งต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน เพราะคอนโดใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ต้องรออีก 2 -3 ปีคอนโดถึงจะเสร็จ สถานการณ์เศรษฐกิจอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ในตอนนั้น ค่าแรงอาจเปลี่ยนไป เงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นของทางโครงการคอนโดกับค่าส่วนกลางที่เรียกเก็บจากลูกค้ามักสวนทางไม่สอดรับกัน คือ ค่าใช้จ่ายไม่พอในการดูแลจัดการนั่นเอง ทำให้เมื่อลูกบ้านเข้าไปอยู่จริง ทางนิติบุคคลของคอนโดต้อง มีการเรียกประชุมขอมติลูกบ้านเพื่อขอขึ้นค่าส่วนกลาง โดยเฉพาะโครงการคอนโดใหม่ที่มีพื้นที่ส่วนกลางค่อนข้างมาก สระว่ายน้ำขนาดใหญ่สุดอลังการ มีระบบหรือเทคโนโลยีล้ำๆ ระบบไฟส่องสว่างเต็มอัตรา ลิฟท์โดยสารเยอะเกินความจำเป็น เครื่องออกกำลังกาย ฯลฯ ทุกอย่างต้องได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องและใช้เงินทั้งสิ้น ซึ่งลูกบ้านทั้งหลายอาจต้องมานั่งหนักใจภายหลังหากต้องเสียค่าส่วนกลางที่แพงขึ้นกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นก่อนลงทุนมองให้รอบคอบเสียก่อนว่า คอนโดนั้นๆ มีพื้นที่ส่วนกลางมากหรือไม่ ถ้ามีพื้นที่ส่วนกลางมากนั่นคือเงินของลูกบ้านที่ต้องรับผิดชอบในระยะยาวนั่นเอง