ในทุกวันนี้วงการสื่อและทีวีดิจิตอลมีการแข่งขันกันแบบนาทีต่อนาที รายการต่อรายการ และสิ่งที่จะผลักหรือฉุดกระฉากเรตติ้งได้ โดยส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นเรื่องในกระแส และถ้าหากดูกันเฉพาะในส่วนของข่าว ก็ต้องเน้นไปที่ข่าว “ดราม่า” เท่านั้น ถึงจะทำให้คนสนใจและดึงเรตติ้งให้พุ่งสูงได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ ? และหากสิ่งเหล่านี้เป็นจริง คำถามที่ตามมาก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย เมื่อสื่อเริ่มไร้จรรยาบรรณ
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มีงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ดราม่าในข่าว สร้างสรรค์หรือทำลายในยุคสื่อดิจิทัล” จัดโดย นักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เนื้อหาในการเสวนาที่จัดขึ้น มีการกล่าวถึงรูปแบบการปรับตัวของสื่อไทยในยุคปัจจุบันที่จำเป็นต้องปรับตัวเพราะได้รับผลกระทบจาก Media Disruption ข่าวธรรมดาจะไม่สามารถดึงความสนใจจากผู้คนได้ การเล่าข่าวแบบเดิมๆ ที่ค่อนดข้างจะเป็นกลาง ไม่เอนเอียนไม่ชี้นำผู้คน จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียกกระแสคนดูได้อีกต่อไป ฉะนั้น จึงต้องมีการใส่อารมณ์ สีสันของผู้เล่าข่าวลงไปในการเล่าข่าวนั้นๆด้วยจึงจะทำให้ รายการข่าวนั้นๆ มีคนดูและมีเรตติ้งเพิ่มมากขึ้น
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อไทยในลักษณะดังกล่าวนี้ จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เรตติ้งกับเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ ความรับผิดชอบต่อสังคมมันพอจะไปด้วยกันได้หรือไม่ ? อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้มีการกล่าวว่า ประเด็นดราม่าในข่าวนั้น จุดเริ่มต้นมาจาก
1.ดราม่าที่เกิดในโลกโซเชียลมีเดีย เกิดขึ้นจากเพจชื่อดัง 4-5 เพจ อาศัยแฟนเพจของตัวเองในการปั่นกระแส จุดประเด็นในโซเชียลให้เกิดดราม่าขึ้น จากการทำวิจัยพบว่าพฤตกรรมทำนองนี้เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมากในวงการข่าว คือ จากแค่ข่าวจะลามไปถึงการคุคามอย่างปรากฏการณ์การล่าแม่มดในโลกโซเชียล บางครั้งไปล่าครอบครัวของแม่มดด้วย เช่น มีข่าวข้าราชการคนหนึ่งโกงเงิน ก็มีการนำข้อมูลของข้าราชการคนนั้น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ติดต่อทั้งตัวข้าราชการและครอบครัวของเขามาเผยแพร่ด้วย ถามว่าครอบครัวเขาโกงด้วยหรือไม่
2.ดราม่าเกิดจากความต้องการเรตติ้ง เพื่อให้คนเข้าไปชมจำนวนมาก จึงต้องขยี้ประเด็นให้แรงขึ้น เพื่อให้คนติดตามมากขึ้นจะได้มีโฆษณาเยอะขึ้น เพราะสื่อ คือ อุตสาหกรรมที่มีค่าโฆษณาเป็นตัวนำพา แต่ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์กลับมองว่า ช่องทีวีของประเทศไทยมีจำนวนมากเกินไป ต่อให้ทุกคนทำดีก็ไม่มีทางรอด ต้องมีคนตายครึ่งนึงก่อนจึงจะมีคนรอด ดังนั้น จึงมีการขายความเป็นดราม่ามากขึ้น เล่าข่าวมากขึ้น เล่นประเด็นโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำด้วยหลายกลยุทธ์ คิดว่านั่นจะทำให้เรตติ้งช่องตัวเองดีขึ้น
จากประเด็นนี้จึงสะท้อนภาพออกมาได้หลายทางทางหนึ่งในเรื่องของจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อ ที่ถูกตั้งคำถามว่า แบบนี้จะเชื่อถือได้หรือไม่ และการนำเสนอแต่ข่าวดราม่าคือการกระทำที่ไร้จรรยาบรรณของสื่อหรือไม่ เหมือนเป็นการมัดมือชกผู้บริโภคกลายๆ เมื่อรายการข่าวมีแต่ข่าวดราม่าให้ดู คนเสพสื่อไม่มีทางเลือกก็จึงต้องตกกระไดพลอยโจนไปกับกระแสด้วย ส่วนหนึ่งก็มีการแย้งกลับมาว่า ก็เริ่มจากคนเสพสื่อเองนั่นแหละที่ทำให้สื่อกลายสภาพเป็นแบบนี้ เพราะข่าวไม่ดีถ้าไม่มีคนดู ไม่มีคนผลัก มันก็ไม่เกิด กับอีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในแง่เศรษฐศาสตร์ เมื่อในสนามมีผู้เล่นเยอะไป โอกาสที่ผู็เล่นทุกคนจะได้ลูกไปครองก็น้อยลงมาก ทีวีดิจิตอลมีจำนวนช่องและผู้เล่นเยอะเกินไปในทุกวันนี้ ทำให้ช่องทีวีดิจิตอลหลายช่องต้องขาดทุนจนเตรียมจะปิดตัว จึงมีแนวโน้มมากว่าช่องทีวีดิจิตอลจะเจ๊งอีกหลายช่องในไม่ช้า แต่สื่อที่จะโตและอยู่ได้ก็คือ โซเชียลและสื่อออนไลน์
ในตอนท้าย อาจารย์กอบกิจ พยากรณ์เทรนด์ของสื่อในอนาคตว่า ตอนนี้เราถูกFacebook YouTube Google IG ครอบงำอยู่ แต่ตอนนี้Facebookมีข่าวหุ้นร่วงรุนแรง เพราะเกิดความไม่แน่นอนของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ในอนาคตจะไม่มีโซเชียลมีเดียตัวไหนที่ผูกขาดโลกได้ เพราะในอนาคตจะแตกให้กับคนทำสื่อมีช่องทางตั้งตัวได้มากขึ้น ทำให้คนกลุ่มเฉพาะได้ดู
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สังคมคงต้องช่วยกันพิจารณา ว่าทิศทางของสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป สื่อต้องการปรับตัวให้รอด แล้วคนแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ต้องการประเด็นดราม่าทุกวัน เป็นหน้าที่และจรรยาบรรณสื่อที่ต้องแก้ไข หรือ คนในสังคมไทยต้องปรับทัศนคติ มันก็ยังคงเป็นคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้อยู่เช่นเคย แต่ที่แน่ๆ สงครามทีวีดิจิตอลมันช่างน่ากลัวกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้จริงๆ