ความรู้ความเก่งกาจของมนุษย์มากมายที่ถูกนำไปใช้ในทางที่พิษ อย่างเช่นการผลิตอาวุธ ผลิตสารพิษและวัตถุอันตราย บุคคลและองค์กรที่ทำแบบนี้หวังว่าคงจะต้องอายสาวน้อยวัย 14 ปีคนนี้ Emma Yang ที่เธอนำความรู้และความสามารถพิเศษของเธอมาใช้ในการสร้างสรรค์และพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อช่วยเหลือคุณยายสุดที่รักของเธอ เพราะขณะนี้คุณยายของเธอกำลังเริ่มหลงลืมอันเนื่องมาจากอาการป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเด็กผู้หญิงอายุเพียง 14 ปี จะอัจฉริยะเก่งกาจได้ถึงเพียงนี้
Emma Yang เกิดที่ฮ่องกงแต่มาโตที่นิวยอร์กอเมริกา นั่นจึงทำให้เธอเข้าสู่การค้นหาตัวเองได้เร็วกว่าเด็กคนอื่นๆ เมื่อเธอมาอยู่ท่ามกลางดินแดนแห่งเทคโนโลยี จึงทำให้เธอค้นพบว่าเธอสามารถที่จะเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ ขณะนั้น Emma มีอายุเพียง 7 – 8 ปี เท่านั้นเอง (โอว้าว! อายุแค่นี้เขียนโค้ดเป็นแล้วหรือนี้ วิเศษมาก) แต่…ในขณะที่เธอพบว่าเธอมีความสามารถด้านนี้ ก็เป็นขณะเดียวกันที่คุณยายที่เธอรักมากเริ่มล้มป่วยด้วยอัลไซเมอร์ และอาการดูท่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆจนเป็นเรื้อรัง เธอจึงคิดว่า เธอน่าจะช่วยอะไรคุณยายได้บ้าง Emma จึงเอาสองเรื่องนี้เข้ามาประสานกัน กลายเป็นไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ขึ้นมา
Emma Yang พยายามศึกษาและพัฒนาเรื่องการเขียนโค้ดของเธออยู่หลายปี จนในที่สุดเธอก็สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “Timeless” ขึ้นมา ซึ่งแอปฯตัวนี้มีคุณสมบัติช่วยผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ให้สามารถจดจำคนที่เขารักและผูกพันได้ โดยใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าเข้าช่วย ซึ่งวิธีการก็ง่ายๆตรงไปตรงมา คือ เอาโทรศัพท์สมาร์ทโฟนไปสแกนใบหน้าของคนๆนั้น ระบบก็จะประมวลผลและแสดงออกให้เห็นว่า คนๆนั้นเป็นใครเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรา
ในตอนแรกการพัฒนาแอฟฯของเธอเป็นเพียงแค่เรื่องเพ้อฝันส่วนตัว แต่สุดท้ายไอเดียของเธอไปเข้าตาบริษัท Kairos ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอร์ฟแวร์ให้กับ iPhone บริษัท Kairosจึงเข้าช่วยเหลือ Emma ให้เธอสามารถเข้าใช้ซอร์ฟแวร์ระบบสแกนและจดจำใบหน้าของบริษัท อีกทั้งยังช่วยฝึกสอนให้คำแนะนำเธอเกี่ยวกับการเขียนโค้ดสำหรับโทรศัพท์ iPhone จนเธอสามารถพัฒนาแอปฯ “Timeless” ขึ้นมาจนเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ จึงนับว่าเป็นการร่วมมือกันของทั้งสองฝ่าย จนนำไปสู่การผลักดันแอปฯนี้ให้แพร่กระจายไปยังผู้คนจะได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับแอปฯ “Timeless” ไม่ได้เพียงแค่ สแกนใบหน้าและแจ้งข้อมูลว่าใครเป็นใครให้แก่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์เท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเตือนความจำเรื่องนัดหมายในแต่ละวัน รายชื่อและภาพถ่ายของสมาชิกภายในครอบครัว รวมไปถึงบันทึกรายละเอียดส่วนตัวของผู้ป่วยอย่าง ชื่อ อายุ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ อีกด้วย อย่างไรก็ดี แอปฯนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์ 100 % ก็ยังต้องมีการพัฒนาและอัปเดตต่อไป แต่นี่ก็นับว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าจุดเริ่มต้นมาจากสาวน้อยวัย 14 ปีเท่านั้น
อ้างอิงจาก : nextshark