มีหลายคนที่เข้าสู่ธุรกิจอสังหาแบบไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้เตรียมตัวไว้ตั้งแต่แรกเริ่มจึง เข้ามาสู่ธุรกิจอสังหาแบบไม่ตามเทรนด์ใคร คือ นักธุรกิจอสังหาคนอื่นๆอาจจะเน้น การลงทุนในบ้านและคอนโด แต่คุณอาจจะเลือกการลงทุนในอาคารพาณิชย์แทน ถามว่าเป็นเรื่องที่ผิดไหม แน่นอนไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลย เพราะก็สามารถทำรายได้ให้กับคุณได้เช่นกัน แต่กลุ่มอาจจะเล็กและเฉพาะกว่า ทีนี้ถ้าคุณเจาะตลาดไม่ได้ ซื้ออาคารพาณิชย์ไว้นานแล้วแต่ก็ยังไม่มีใครมาเช่าซื้อต่อเลย จะทำอย่างไร ?
พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ไม่ยอมพลาดหนทางต่อยอด
เชื่อว่าหลายทุกท่านคงได้ยินคำว่า SME กันมาบ่อยๆแล้ว หากการลงทุนในธุรกิจอสังหาของคุณเกิดผิดพลาดอย่างไม่ตั้งใจ หรือ ไม่ได้ผิดพลาดแต่คุณตั้งใจที่จะต่อยอดในธุรกิจอสังหา การผันตัวเองเข้าสู่การเป็น SME นั้นเป็นหนทางหนึ่งที่ดี นับเป็นไอเดียที่สุดยอดทีเดียว เพราะสิ่งนี้จะทำให้การลงทุนของคุณเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน สร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง อีกทั้งยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้อื่นด้วย ส่วนคุณจะเลือกเป็น SME ในธุรกิจใดนั้น ก็เป็นสิ่งที่คุณจะต้องกลับไปพิจารณาดูอีกครั้งว่าคุณถนัดและสนใจในธุรกิจใด เมื่อคุณเลือกธุรกิจ SME ที่จะมาต่อยอดได้แล้ว สิ่งสำคัญต่อไปก็คือ “จัดตั้งองค์กรธุรกิจที่เหมาะสม” ถ้าคุณไม่มั่นใจว่าอนาคตจะสดใสแค่ไหนก็เริ่มจากธุรกิจแบบเล็กๆก่อนได้ ซึ่งการถือครองอาคารพาณิชย์ที่คุณมีอยู่แล้ว นับเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากที่ทำให้คุณอยู่เหนือผู้ประกอบการ SME บางรายที่ต้องเช่าสถานที่เปิดบริษัททำออฟฟิศ
เริ่มต้นจากธุรกิจขนาดเล็ก
ถ้าคุณไม่มั่นใจกลัวว่าการลงทุนครั้งนี้จะผิดพลาดอีก ก็ให้เริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดเล็กนั้นเป็นลักษณะของการดำเนินงานธุรกิจแบบมีผู้เข้าร่วมในกระบวนการทำงานไม่มาก ซึ่งอาจเป็นเพียงแค่คนๆเดียวก็ได้ หรืออาจจะมีเพื่อนร่วมงานพนักงานอีกคนหรือสองคน ที่ไม่เกินจำนวน 10 คน เพราะถ้ามากกว่านี้จะเริ่มไม่ใช่ธุรกิจขนาดเล็กแล้ว การบริหารจัดการจะยากขึ้นอีกหนึ่งระดับ เมื่อคนจำนวนน้อยลักษณะการประกอบการของธุรกิจขนาดเล็กจึงเป็นลักษณะธุรกิจอิสระ มีเงินลงทุนในกิจการน้อย มีทรัพย์สินจำกัด
จัดตั้งองค์กรธุรกิจให้เหมาะสม
องค์กรธุรกิจขนาดเล็กนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภทห้างหุ้นส่วน (Partnerships) ซึ่งห้างหุ้นส่วนจะมีหลายแบบแบ่งออกได้ดังนี้
1.ห้างหุ้นส่วนสามัญการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเสมอ คือจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ นั่นจึงทำให้ห้างหุ้นส่วนสามัญถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน (Ordinary Partnerships) หรือที่มักจะใช้คำย่อเรียกกันสั้นๆ ว่า “หสม” ห้างหุ้นส่วนประเภทนี้จะมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นเสมือนกลุ่มคนมาร่วมลงขันกันทำธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าหุ้นส่วนแต่ละคนจะลงขันกันไปเท่าไหร่ก็ตามหากเกิดภาระหนี้สินแล้วห้างหุ้นส่วนแบบนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันโดยไม่มีจำกัด คือไม่ใช่ว่าใครลงมากต้องใช้หนี้มาก ใครลงน้อยต้องใช้หนี้น้อย แต่แบบนี้ถ้าเกิดภาระหนี้สินกฎหมายระบุว่าทุกคนมีหน้าที่จัดการหนี้สินเท่าๆกัน ใครจะต้องชำระหนี้กันเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับการตกลง การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนแบบนี้จึงต้องอาศัยความเชื่อใจและความซื่อสัตย์ต่อกันเป็นหลักใหญ่ และการทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายต่างๆของห้างหุ้นส่วนแบบนี้จะนอกหรือในธุรกิจอสังหาก็ตาม คุณจะใช้ชื่อห้างไปทำสัญญาติดต่อซื้อขายกับบุคคลภายนอกอื่นๆไม่ได้ คุณจะต้องเอาชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นคู่สัญญา และจะต้องมีการระบุไว้ในสัญญาด้วยว่า ทำการแทนหุ้นส่วนคนอื่นๆและเมื่อไม่ได้เป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนแบบนี้จึงเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา
1.2 ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (Registered Ordinary Partnerships) คือห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนนั่นเอง ปัจจุบันการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนประเภทนี้ไม่เป็นที่นิยม เราจึงขอกล่าวแบบผ่านๆง่ายๆก็คือลักษณะคล้ายข้อ 1 แต่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้นและเมื่อเป็นนิติบุคคลแล้วเรื่องของภาษีจึงต้องเสียภาษีแบบนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนแบบนี้จะมีความน่าเชื่อถือต่อการประกอบธุรกิจมากกว่าแบบข้อ 1แต่ที่ประเภทนี้ไม่นิยมก็เพราะว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบภาระหนี้สินโดยไม่จำกัดเหมือนข้อ 1 นั่นเอง
2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด(Limited Partnership)หรือที่มักจะใช้คำย่อเรียกกันสั้นๆว่า “หจก” ห้างหุ้นประเภทนี้จะเป็นนิติบุคคลเสมอ คือต้องจดทะเบียน เมื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคลจึงต้องเสียภาษีนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนประเภทนี้จะแบ่งประเภทย่อยออกมาอีก 2 ประเภทคือ
2.1 ห้างหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ คือเมื่อเกิดภาระหนี้สินขึ้น หุ้นส่วนแต่ละคนจะรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการเท่าจำนวนเงินที่นำมาร่วมลงทุน ยกเว้นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนที่จะต้องรับผิดชอบแบบเต็มๆไม่จำกัดจำนวน
2.2 ห้างหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบ คือ เมื่อเกิดภาระหนี้สินขึ้น หุ้นส่วนแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการแบบไม่จำกัดจำนวน
ข้อดีของห้างหุ้นส่วน
- สามารถระดมทุนและความรู้ของหุ้นส่วนแต่ละคนมาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพยิ่งขึ้น
- เสียภาษีน้อยกว่า หากห้างหุ้นส่วนได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว สามารถเสียภาษีในอัตราสูงสุดเพียง 30% จาก 37% เหมือนกับบริษัทจำกัด
- จำกัดรับผิดชอบหนี้สิน หากเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนแต่ละคนถูกจำกัดความรับผิดชอบหนี้สินด้วยส่วนที่ตนรับลงทุน ห้างประเภทนี้จึงเหมาะกับกิจการที่เสี่ยงต่อการขาดทุน
ข้อเสียของห้างหุ้นส่วน
- ข้อขัดแย้ง อาจเกิดข้อขัดแย้งในหมู่ผู้ร่วมหุ้น
- ข้อจำกัด มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น
- อุปสรรคในการถอนเงินทุน ถอนเงินทุนออกได้ยาก
นี่คือแนวทางในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส กับรูปแบบหนึ่งของการต่อยอดธุรกิจอสังหา ไปสู่การเป็น SME ที่เป็นรูปธรรม แปลงอาคารพาณิชย์ที่เรามีให้เป็นองค์ธุรกิจเล็กๆสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและผู้อื่น เพิ่มประโยชน์และมูลค่าให้กับการลงทุน การเป็นนักลงทุนไม่จำเป็นเลยที่คุณจะต้องอยู่กับธุรกิจอสังหาตลอดไป คุณสามารถ เปลี่ยนแปลงตัวคุณเข้าสู่ธุรกิจอื่นก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณอยู่บนเส้นทางธุรกิจได้ยั่งยืนขึ้นอีกด้วย สำหรับเนื้อหาในเรื่องนี้ยังไม่จบ ธุรกิจขนาดเล็กยังสามารถจัดตั้งรูปแบบองค์กรได้อีกอย่างหนึ่งจะเป็นอะไรนั้นมาคอยติดตามกันในครั้งหน้า