เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตอนนี้ใครๆต่างก็มีรถยนต์ส่วนตัวกันทั้งนั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้ปริมาณรถยนต์ในปัจจุบันเยอะขึ้นมาก เมื่อรถยนต์เยอะขึ้นตามจำนวนคนก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่จอดรถอยู่เสมอ ปัญหานี้จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก่อนการตัดสินใจในการเลือกซื้อคอนโดมิเนียมเช่นกัน ยิ่งโดยเฉพาะคอนโดใหม่ในกรุงเทพฯ พื้นที่จอดรถในคอนโดเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อยู่อาศัยอย่างมาก ลองคิดดูว่าถ้าคุณต้องขับรถเข้ามาจอดที่คอนโดที่ตัวเองซื้อไว้เสียแพงแล้วหาที่จอดไม่ได้คุณจะรู้สึกหงุดหงิดแค่ไหน ดังนั้น เรื่องที่จอดรถของคอนโดจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนการลงทุน ส่วนมีอะไรที่จะต้องรู้ต้องพิจารณาบ้างมาติดตามกัน
ที่จอดรถมีผลต่อราคาคอนโดด้วยนะ
ใครที่ไม่มีรถอาจจะคิดว่าจะซื้อคอนโดก็ไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอดรถอะไรมากมาย สบายๆหายห่วง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะราคาของห้องคอนโดที่คุณต้องจ่ายจริงนั้น บริษัทผู้ขายเขาได้บวกราคาที่จอดรถของคอนโดไปเรียบร้อยแล้ว หากตึกนั้นๆมีการสร้างที่จอดรถในพื้นที่ที่มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะบวกราคาเพิ่ม/ตารางเมตรเข้าไปมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งราคาที่เพิ่มเข้ามานั้นก็จะเป็นส่วนของค่าก่อสร้างนั่นเอง ดังนั้น คนที่ไม่มีรถอาจจะรู้สึกเสียเปรียบในเรื่องนี้ เพราะจะรู้สึกเหมือนต้องเสียเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้คนอื่นได้พื้นที่จอดรถ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงๆ
สัดส่วนที่จอดรถที่เหมาะสมของคอนโด
สำหรับคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ กฎหมายควบคุมอาคารในเขตกทม.ยังคงใช้อัตราส่วน พื้นที่ขาย 120 ตารางเมตร/ช่องจอดรถ 1 คัน ตัวอย่างเช่น คอนโดมีพื้นที่ขายทั้งหมด 12,000 ตารางเมตร หารด้วย 120 จะได้ที่จอดรถขั้นต่ำที่โครงการควรมีอยู่ที่ 100 คัน ซึ่งไม่ได้แปลว่าห้องชุดทุกยูนิตจะได้การันตีที่จอดรถ ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทผู้พัฒนาคอนโดด้วยว่า ยินดีเพิ่มต้นทุนก่อสร้างเพื่อขยายที่จอดรถหรือไม่
ต้องเข้าใจด้วยว่าค่าจอดคนละอย่างกับค่าที่จอด
ค่าที่จอดรถจะถูกบวกเพิ่มเข้าไปกับราคาคอนโดที่ซื้ออยู่แล้ว แต่จะมีอีกส่วนที่บางโครงการคอนโดจะเรียกเก็บเพิ่มนั่นคือ ค่าจอดรถ ส่วนใหญ่โครงการคอนโดใหม่มักจะเรียกเก็บในส่วนนี้ด้วย ซึ่งค่าจอดรถเป็นคนละส่วนกับค่าที่จอด ค่าจอดรถจะเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับรถยนต์ของผู้ที่เข้ามาจอด อาจจะเป็นค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบการจอด ปกติแล้วส่วนนี้จะเสียกันเป็นรายเดือน เฉลี่ยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 300 บาท/เดือน และค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ยังแยกออกจากค่าส่วนกลางอีกด้วย ถ้าคิดไปแล้วก็ถือว่าแฟร์ดีสำหรับลูกบ้าน ส่วนถ้าใครมีเพื่อนมาหาและต้องเอารถเข้ามาจอดเพิ่มด้วย โครงการคอนโดที่มีการเรียกเก็บเงินค่าจอดนั้น มักจะมีระบบจัดการในส่วนนี้คล้ายๆกับห้างสรรพสินค้า คือ ผู้ที่มีเยือนชั่วคราวจอดได้ฟรีประมาณ 2 ชั่วโมง แต่หลังจากนั้นไปก้จะเสียค่าจอดที่แพงกว่าเจ้าของห้อง ดังนั้น ถ้าใครอยู่คอนโดลักษณะนี้และต้องมีเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยๆ ควรคุยกับทางนิติบุคคลไว้ล่วงหน้าเพื่อทำความเข้าใจกันก่อน
ต้องพิจารณาเลือกคอนโดอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับการลงทุน
เชื่อเหลือเกินว่าปริมาณรถในกทม.มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากโครงการให้พื้นที่จอดรถยิ่งมากยิ่งดี ปัจจุบันมีความพยายามผลักดันจากภาครัฐให้เจ้าของโครงการเพิ่มสัดส่วนที่จอดรถ ส่วนฝ่ายผู้พัฒนาก็จะยกเหตุผลว่าหากเพิ่มที่จอดรถสัดส่วน 1:1 ซึ่งถ้าทำแบบนี้ต้นทุนโครงการจะสูงมากจนพัฒนาขายไม่ได้เป็นความหนักใจของนักพัฒนาที่ดินและเจ้าของโครงการคอนโดทุกรายจึงยังทำให้เรื่องนี้ไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดในตอนนี้ แต่หลักพิจารณาสำหรับคนที่ต้องการลงทุนในคอนโด ก็ให้ยึดหลักอย่างที่ว่ามีที่จอดรถมากไว้ก่อน ยิ่งถ้าเป็นคอนโดใหม่ใกล้รถไฟฟ้า สัดส่วนที่จอดรถที่ต่ำสุดที่น่าจะพอรับได้ คือ ควรมีที่จอดรถประมาณ 50 – 60 % ของจำนวนยูนิตรวมทั้งโครงการ เช่น ทั้งโครงการมี 500 ยูนิต ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า 100 เมตร มีที่จอดรถ 250 คันแบบนี้ถือว่ายังพอรับได้ จากที่สำรวจดูส่วนใหญ่แล้วโครงการคอนโดที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าจะมีผู้อาศัยจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช้หรือไม่มีรถแต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย หากโครงการนั้นๆให้สัดส่วนที่จอดรถน้อยกว่า 50 % คงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงโดยทั่วไปเชื่อว่าน่าจะเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย ทางที่ดีนักลงทุนควรเลี่ยงไว้จะดีกว่า