ในยุคสมัยที่คนไทยใส่ใจโซเชียลมีเดียกันขนาดหนักอย่างนี้ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว บางคนนั่งอยู่หน้าจอทั้งวันทั้งจอใหญ่และจอเล็ก แต่ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือมือถือสมาร์ทโฟน เราก็หลีกเลี่ยงการพิมพ์ข้อความแชท หรือ งานต่างๆไปไม่ได้เลย การอยู่กับอุปกรณ์ไอทีเหล่านี้ ทำให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อนน้อยลง บางคนพิมพ์ตอบแชททั้งวัน ทั้งพูดคุยกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน มารู้ตัวอีกทีก็เริ่มรู้สึกปวดนิ้ว เริ่มรู้สึกนิ้วมือขยับไม่ค่อยได้ไปแล้ว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะนั่นกำลังเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะ “นิ้วล็อค” นอกจากนั้นแล้วถึงบางคนไม่ได้ทำงานเกี่ยวคอมพิวเตอร์สมาร์ทโฟน ก็สามารถเกิดอาการนิ้วล็อคขึ้นมาได้เช่นกัน ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก อ.สุธาสินี ทองอ่อน นักกายภาพบำบัด มาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนิ้วล็อคกับเรา จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างติดตามกันได้เลย
รู้จักภาวะนิ้วล็อคกันก่อน
นิ้วล็อค(Trigger Finger) เป็นภาวะที่เยื่อหุ้มเอ็นหรือเอ็นนิ้วมือเกิดการอักเสบ บวมและหนาตัวขึ้น ทำให้เหยียดหรือขยับนิ้วได้ยาก เอ็นเป็นส่วนเชื่อมกล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างและกระดูกนิ้วมือ ทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้โดยมีปลอกหุ้มเอ็นรัดเอ้นไว้กับกระดูกนิ้วมือ เอ็นแต่ละเส้นจะถูกหุ้มด้วยเยื่อหุ้มเอ็นเพื่อให้เอ็นมีน้ำหล่อเลี้ยงและเคลื่อนไหวได้ราบรื่น
การทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานมือมากๆและซ้ำๆ เช่น งานบ้าน งานช่าง แม้กระทั่งการแชทบ่อยๆซึ่งจะทำให้เอ็นถูกเสียดสี และเกิดการอักเสบได้ ส่งผลให้เยื่อหุ้มเอ็นอักเสบไปด้วย นอกจากนี้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นก็จะหนาตัวขึ้น ทำให้เอ็นเคลื่อนไหวได้ไม่ดีเวลาเหยียดนิ้วจึงมีอาการติดขัดหรือล็อค
อาการที่บ่งบอกว่าคุณมีภาวะนิ้วล็อค
อาการแรกที่มักจะเกิดขึ้นคือ “ปวดนิ้วมือ” โดยเฉพาะบริเวรโคนนิ้ว อาจพบ “นิ้วบวม” ร่วมด้วยได้ หากเอ้นนิ้วมือบวมมากขึ้น “การงอและเหยียดนิ้วจะเริ่มสะดุด” เมื่อพยายามยามเหยียดนิ้วออก นิ้วจะเด้งออกเหมือนหลุดออกจากปลอกหุ้ม ซึ่งจะทำให้เอ้นถูกเสียดสีมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น อาจเกิดการหนาตัวของเอ้นและปลอกหุ้มเอ้น ทำให้ “การงอและเหยียดนิ้วเริ่มติดจนต้องใช้มืออีกข้างมาช่วยขยับ” จึงเคลื่อนไหวได้
การรักษาอาการนิ้วล็อค
ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบว่าวัตถุประสงค์ในการรักษาภาวะนิ้วล็อค คือ ลดปวดและลดการอักเสบ เพื่อให้นิ้วมือกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ แต่เมื่อรักษาหายแล้วไม่ใช่ว่าจะกลับมาเป็นอีกไม่ได้ หากผู้ป่วยยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิมๆอยู่โอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกก็มี การรักษานั้นจะเน้นไปที่การทำให้เอ็นไม่อักเสบเมื่อเอ็นนิ้วมือไม่มีการอักเสบแล้ว ก็จะทำให้การบริหารนิ้วมือทำได้ง่ายขึ้น การบริหารนิ้วมือจะช่วยส่งเสริมให้การเคลื่อนไหวกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น เช่นการยืดนิ้วมือ การบีบลูกบอลนิ่ม นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานมือเพื่อลดการเสียดสีของนิ้วมือให้มากที่สุดเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ เช่น ไม่หิ้วของหนัก เป็นต้น สำหรับการรักษาอาการนิ้วล็อค สามารถทำๆได้ 2 วิธีดังนี้
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
หากเอ็นนิ้วมืออักเสบและบวมมาก แพทย์อาจให้ “ยาลดการอักเสบ” ไปรับประทานเพื่อลดอาการ และอาจจะให้ทำ “กายภาพบำบัด” ควบคู่กันไป ซึ่งกายภาพบำบัดก็เช่น การกดนวด การยืดนิ้วมือ การจุ่มพาราฟินร้อน และการบริหารนิ้วมือในท่าต่างๆเป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดอาการปวดบวม และช่วยให้นิ้วมือกลับมาขยับหรือเหยียดได้ดีขึ้น ในบางรายที่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณา “การฉีดยาเฉพาะที่” บริเวณเอ็นที่มีปัญหา
การรักษาแบบผ่าตัด
หากรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดเพื่อเปิดปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมือให้มีพื้นที่กว้างขึ้น ช่วยให้เอ็นนิ้วมือที่บวมเคลื่อนไหวได้ ทำให้นิ้วมือกลับมาขยับได้เป็นปกติโดยไม่ติดขัด เป้นการผ่าตัดเล็ก ใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ และใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 20 นาที