ปัญหาคลาสสิกทุกข์ของคนกรุงเทพฯ คงหนีไม่พ้นเรื่อง ปัญหารถติด โดยเฉพาะเช้าวันจันทร์กับเย็นวันศุกร์สิ้นเดือน ยิ่งทำให้บางคนมองว่าโลกมันช่างโหดร้ายเสียนี่กระไร เท่านั้นยังไม่พอถ้ามีฝนตกมาอีกด้วยล่ะก็ เตรียมนอนกันในรถได้เลย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆทุกวัน จนบางคนเริ่มที่จะชินชา เป็นปัญหาที่ไม่ว่าจะแก้อย่างไรก็ยังแก้ไม่ได้
ในส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบดูแลและแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะกี่หน่วยงานก็ยังคงมึนอยู่เช่นเคยไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้จุดไหนก่อน ล่าสุดคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจราจรร่วมกับสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ได้เผยแผนการปรับลดจำนวนรถเมล์เพื่อแก้ปัญหารถติดบนถนนรามคำแหง ด้วยเหตุผลที่ว่าขนาดของรถเมล์กินผิวจราจรมากเกินไป ทางคณะกรรมการจึงมีข้อเสนอให้ลดจำนวนรถเมล์บางสาย รวมถึงมีนโยบาย park & ride (จอดแล้วจร) สำหรับประชาชนที่นำรถยนต์ส่วนตัวมาจะมีการหาจุดจอดรถให้ แล้วใช้วิธีการต่อรถชัตเติลบัส (shuttle bus) เข้าเมือง เนื่องจากขณะนี้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มทำให้ต้องมีการปิดช่องการจราจรเหลือเพียง 2 ช่องทางจาก 4 ช่องทาง แต่ก็มีหลายเสียงสะท้อนกลับมาว่า นี่เป็นแนวทาง “เอาใจคนรวย” หรือเปล่า ลดจำนวนรถเมล์แล้วคนที่ต้องใช้รถสาธารณะประจำล่ะจะทำอย่างไร แท้จริงแล้วต้องให้คนซื้อรถน้อยลงใช้รถสาธารณะมากขึ้นสิถึงจะถูกต้อง ตรงนี้ก็เป็นมุมมองที่แตกต่างกัน
เรื่องนี้บอกไม่ได้เหมือนกันว่าแนวคิดไหนจะดี หรือ เป็นทางออกที่แท้จริง ที่แน่ๆ เราต้องฟังความคิดเห็นประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนและผู้โดยสารรถเมล์ อย่างพนักงานรัฐวิสาหกิจรายหนึ่งมีรถยนต์เป็นของตนเอง มีการขับขี่เองบ้างและบางครั้งบางวันก็เลือกที่จะเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนอย่างรถเมล์ และรถไฟฟ้าเหมือนกัน เรียกว่าเป็นคนที่สัมผัสประสบการณ์ตรงมาแล้วทั้ง 2 ด้าน ซึ่งพนักงานรัฐวิสาหกิจรายนี้ให้ความเห็นว่า
ปัญหาที่เจอบ่อยที่สุด คือ ความล่าช้าและความถี่ของรอบรถเมล์ ผู้ใช้บริการคาดการณ์เวลาที่รถเมล์จะมาถึงป้ายไม่ได้ บวกกับความแออัดเบียดเสียดภายในรถทำให้ไม่สามารถใช้บริการรอบรถนั้นและต้องรอคันถัดไป เขาเคยเดินทางสั้นๆ ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ด้วยรถเมล์แต่ต้องใช้เวลาอยู่บนถนนนานเป็นชั่วโมง ต้นเหตุก็มาจากรถเมล์ที่วิ่งอย่างไร้ระเบียบจอดแช่ป้ายแม้ไม่มีคนขึ้น และยังขับด้วยความเร็วต่ำตลอดทาง แต่อย่างไรก็ดีพนักงานรัฐวิสาหกิจรายนี้ก็ยังมองว่า การแก้ปัญหารถติดด้วยการปรับลดจำนวนรถเมล์ยังไม่ใช่ทางออกของเรื่องนี้ เพราะไม่ว่าอย่างไรปัญหาก็จะกลับไปที่เดิม รถเมล์จะจอดแช่เหมือนเดิม และยิ่งทำให้คนที่โดยสารรถเมล์ประจำเดือดร้อนหนัก เพราะรอรถเมล์นานขึ้น
อีกด้านหนึ่งนักวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้านวิศวกรรมโยธากลับเห็นด้วยว่า การปรับลดจำนวนรถเมล์จะช่วยแก้ปัญหารถติดได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเรื่องขนาดของรถเมล์ที่ใหญ่ย่อมเป็นปัญหาเรื่องพื้นที่การใช้งานบนถนน หากลองปรับลดจำนวนรถเมล์คันใหญ่และใช้รถเมล์คันเล็กแทนจะช่วยให้สภาพการจราจรเกิดความคล่องตัวขึ้น แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านมองว่าแนวคิดนี้ยังไม่ตรงประเด็นการแก้ปัญหา ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่รถเมล์แต่อยู่ที่ปัญหาการจัดผังเมือง ปัญหาเรื่องการทำผืนผิวจราจรมากกว่า
เรื่องนี้จึงยังไม่มีคำตอบว่า อะไรที่จะดีที่สุด แต่ปัญหารถติดในกรุงเทพฯนี้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ฉะนั้น หากจะแก้กันจริงๆ ก็คงจะต้องรื้อระบบทุกอย่างกันใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มต้นที่ผังเมืองของกรุงเทพฯ วางผังเมืองได้ดี ก็จะทำให้รู้ว่าเส้นทางไหนเป็นอย่างไร ตรงไหนควรสร้างถนนเพิ่ม ตรงไหนควรสร้างทางด่วนเพิ่ม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินไปที่ใครหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะสามารถทำได้ เรื่องนี้จึงน่าจะยังคงเป็นความทุกข์ต่อไปอีกนานสำหรับคนกรุงฯ