มีข่าวแว่วมาแล้วว่ารัฐเริ่มปักธง 5G ในไทยแล้วปี 63 แต่ทว่าในมุมมองผู้ที่จะถือครอง 5G และเปิดให้บริการสู่ภาคประชาชนจริงๆ อย่าง 3 ค่ายมือถือของไทย True AIS dtac ต่างหวั่นใจว่าไทย พร้อมแล้วหรือสำหรับ 5G และดูเหมือนเรื่องนี้จะเข้ามาเป็นอุปสรรคปัญหาสำหรับการแข่งขันที่ต้องโหดขึ้นสำหรับผู้ประกอบการสัญญาณโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตด้วย อะไรที่ทำให้ 5G ปี 63 อาจไม่สวยหรูอย่างที่คาดคิด
5G จำเป็นแล้วหรือ?
ที่เวทีเสวนา “5G เทคโนโลยีพลิกโลก : ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริงในไทย” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า 5G ที่ต่างประเทศนั้นขณะนี้ผู้ใช้กลุ่มใหญ่คืออุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคโรงงานและการผลิต เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเอื้อประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมมาก ฉะนั้น 5G จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เพราะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมรวมทั้ง ด้านธุรกิจอื่นๆ แต่ถ้าไทยเรายังไม่มี 5G ในเร็วๆนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การย้านฐานการผลิตจากไทยไปสู่ประเทศที่มี 5G
เมื่อนโยบายยังไม่มีความชัดเจน
เมื่อ 5G มีความสำคัญขนาดนั้น ภาครัฐทราบดีจึงเร่งปักธงให้เกิด 5G ขึ้นในประเทศไทย แต่ทว่านี่อาจเป็นความเร่งร้อนมากเกินไปหรือไม่ เพราะถ้าย้อนกลับไปมองผู้ประกอบการที่จะต้องเข้าแข่งขันประมูลและให้บริการทั้ง 3 ค่ายมือถือในขณะนี้ ก็ดูอาการจะร่อแร่บาดเจ็บกันมามากจากคราวที่แล้ว อีกทั้งถ้าภาครัฐไม่มีนโยบายหรือแนวทางการบริหารกำกับดูแล วางกติกาที่ชัดเจนจริงๆ 5G จากที่จะเป็นน้ำทิพย์อาจกลายเป็นยาพิษที่ทำร้ายคนไทยกันเอง เพราะจะเป็นแค่โมบายบรอดแบนด์ที่เร็วกว่า 4G แค่ 10 เท่า แต่ราคาแพงมหาโหดภายใต้การบริการที่ห่วย ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ หรือส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมตามที่คิดไว้เลย อีกทั้งยังอาจเป็นการผูกขาดอยู่กับผู้ประกอบการรายเดิมที่เป็นยักษ์ใหญ่ 3 ราย ไม่เกิดการแข่งขันสำหรับรายใหม่เล็กๆ ที่เป็นทางเลือกอีกด้วย
เมื่อ 5G มีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้มีการเสนอแนะในเรื่อง 5G ที่มีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมากขึ้นว่า รัฐบาลก้ควรมองความสำคัญในด้านนี้ด้วย ไม่ใช่แค่มองแต่มุมเดิมๆ ว่า 5G ก็คือสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้นเท่านั้น ควรจะมองถึงภาคอุตสาหกรรมและประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้จริงๆ ดังนั้น ทางเลือกที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทั้งหมดก็คือ ควรผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่ให้บริการเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้จะทำได้ก็จำเป็นที่จะต้องมีการแก้กฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นบริษัทโทรคมนาคมได้เกินครึ่ง หากทำตรงนี้ได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมที่คาราคาซังอยู่นี้ได้ดีขึ้น เพราะองค์กรธุรกิจจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนธุรกิจ ซึ่งทำให้มีทางออกที่ดีมากยิ่งขึ้นเมื่อธุรกิจประสบปัญหา
การให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ให้บริการเฉพาะพื้นที่ อย่างพื้นที่ใน EEC หรือเขตอุตสาหกรรม จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมไม่ผูกขาดประชาชนเองก็ได้ประโยชน์ไปด้วย แต่เรื่องนี้รัฐเองก็ต้องมีความชัดเจนต้องเตรียมกฎระเบียบมารองรับ ในหลายๆด้าน อย่างที่ต่างชาติเป็นห่วงมากเวลาจะมาลงทุนใน EEC และในเรื่องอุตสาหกรรม ก็คือข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ที่รัฐบาลไทยพยายามทำกันมาหลายยุครวมเวลา 20 ปีแต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จและร่างล่าสุดที่เห็นก็ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายนี้ ซึ่งต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยรู้สึกไม่สบายใจในเรื่องนี้ เพราะกังวลว่าแนวนโยบายและกฎหมายดูจะเอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่มเท่านั้น การแข่งขันจะผูกขาดและสุดท้ายผลกระทบก็ย่อมต้องเกิดกับธุรกิจและประชาชน
ตู้ เย่ชิง รองประธานบริหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G หัวเว่ย เทคโนโลยี กล่าวว่า 5G จะมีผลทุกอุตสาหกรรม แต่ภาคการผลิตจะได้รับประโยชน์สูงสุด สร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28% ของ GDP โลก ส่วนการสื่อสารจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ราว 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ 5.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ปีนี้ทั่วโลกกำลังประมูล 5G หลายประเทศเลือกใช้คลื่นย่าน 3.5-3.6 GHz ขณะที่สมาร์ทโฟนหัวเว่ยรุ่นใหม่จะเริ่มรองรับ 5G ตั้งแต่ปี 2562
ปี 63 ค่ายมือถืออาจวิกฤต
หากความพร้อมของภาครัฐไทยยังขาดๆเกินๆแบบนี้แต่ต้องการรีบผลักดันเอา 5G เข้ามาให้ได้ในปี 2563 แบบนี้ ค่ายมือถือในบ้านเราต่างหวั่นใจและเริ่มมองอนาคตตัวเองออกแล้วว่า 5G น่าจะเป็นยาขมสำหรับพวกเขา จักรกฤษณ์ อุไรรัตน รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า 5G จะเกิดได้ต้องมีคลื่นมีโรดแมปที่ชัดเจน 4G ใช้เสา 2-5 ต้น แต่ 5G ต้องใช้ 10-15 ต้น ต้องลากสายไฟเบอร์เพิ่ม มีกฎกติกาอย่างไร ใครจะเป็นผู้ลงทุน รัฐบาลปล่อยให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นผู้ขับเคลื่อน ต้องลงทุนโครงข่ายเอง ประมูลคลื่นเอง รัฐซัพพอร์ตอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ยังไม่ความชัดเจนเลยสักสิ่งเดียว ดังนั้น จึงมองว่าปี 2563 คือปีแห่งวิกฤตของอุตสาหกรรมโมบายไทย เพราะเมื่อรวมภาระที่ทรูกับเอไอเอสต้องจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ที่ประมูลไปก่อนนี้ 1.2 แสนล้านบาท ก็แทบจะไม่มีเงินเหลือลงทุนโครงข่ายใหม่เลย
ด้าน สุเทพ เตมานุวัตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวว่า 5G ไม่ได้มาทดแทน 4G แต่เป็นส่วนเติมเต็มเท่านั้น โดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นตลาดใหม่ที่ AIS ต้องโฟกัส สำคัญคือ การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน อย่างเกาหลีใต้ ประกาศนโยบาย 5G ระบุชัดว่า ต้องทำอะไร เมื่อใดแล้วจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าใด กับอุตสาหกรรมใด เห็นทุกอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน จึงอยากให้มีบ้างในไทย เพราะตอนนี้ 5G มันมองประโยชน์ได้ 2 มุม คือมุมของประชาชนทั่วไปในระดับบริการ luxury 5G จะเข้ามาช่วยทำให้คนสามารถดูวิดีโอ 4K 8K ได้ กับอีกมุมหนึ่งคือเป็น utility เครื่องมือพัฒนาประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ฉะนั้นอยู่ที่ภาครัฐว่าจะผลักดันให้เป็นแบบไหน
ส่วนด้านนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า กสทช.ยังไม่ได้กำหนดแผนและวิธีการจัดสรรคลื่นว่าจะทำด้วยวิธีไหน ราคาเท่าไร ในต่างประเทศเตรียมจัดสรรเป็น 1000 MHz เพราะแต่ละรายต้องใช้คลื่น 70-100 MHz แต่คลื่นในไทยแพงมาก จะเป็นไปได้ทางธุรกิจแค่ไหน จะเปิดให้แชร์ใช้ร่วมกันได้หรือไม่ ทั้งต้องทบทวนว่ามีกฎหมายสนับสนุนให้เกิดการใช้ 5G การขยายโครงข่ายทำได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วหรือไม่ เน็ตเวิร์ก 2G จะยังต้องใช้ต่อหรือไม่ เพราะหลายประเทศเริ่มยุติแล้ว การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานทำได้จริงหรือไม่ เพราะจะทำให้เน็ตเวิร์กดีขึ้น ส่งผลดีกับโอเปอเรเตอร์และประเทศ