ภัยจากอาหารแห้งนอกเหนือจากเรื่องของปริมาณโซเดียมในอาหารแห้งบางชนิดแล้ว ส่วนหนึ่งคงหนีไม่พ้นสารปนเปื้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารปนเปื้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิต การเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม หรือสารปนเปื้อนที่ผู้ผลิตตั้งใจใส่ลงไปเพื่อยืดอายุอาหารให้เก็บได้ยาวนานขึ้นหรือเพื่อเพิ่มสีสันให้กับอาหาร ซึ่งถ้าใส่มากเกินไปอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้
สารปนเปื้อนที่พบได้บ่อย
สารฟอกขาว
หรือสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่ผู้ผลิตอาหารบางรายนำมาใส่ในอาหาร ทำให้ขาวใสน่ากิน และดูใหม่อยู่เสมอ สารนี้นับเป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อภัยจากอาหารแห้งถ้าบริโภคเข้าไปอาจทำให้ปวดศีรษะ อาเจียนแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตตก หากได้รับในปริมาณมากอาจถ่ายเป็นเลือด ชัก หรือ ช็อกหมดสติได้ สารฟอกขาวพบได้ในผลไม้อบแห้ง ทุเรียนกวน น้ำตาลปีป เป็นต้น
สารกันรา หรือ สารกันบูด
อีกชื่อหนึ่งอย่างเป็นทางการก็คือ กรดซาลิซิลิค เป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร แต่มีผู้ผลิตบางรายนำมาใส่ในอาหารแห้งเพื่อป้องกันเชื้อรา สารกันรานี้ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ก่อให้เกิดภัยจากอาหารแห้งที่รุนแรงต่อสุขภาพเหมือนกัน ถ้าได้รับปริมาณมาก อาจทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ในรายที่แพ้แม้ได้รับปริมาณน้อย อาจมีผื่นคันตามตัว อาเจียน และหูอื้อ สารกันราพบได้ในอาหารจำพวกแหนม หมูยอ ผักและผลไม้ดอง
อะฟลาทอกซิน
เกิดจากเชื้อรา ไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อนจากการหุงต้มปกติ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งตับ อะฟลาทอกซินจัดว่าเป็นภัยจากอาหารแห้งโดยตรง เป็นสิ่งที่เกิดจากตัวของอาหารแห้งเลย ไม่เกี่ยวกับการปรุงแต่ง อะฟลาทอกซินจะพบได้ในอาหารแห้งแทบทุกชนิด เช่น ปลาแห้ง ปลาเค็ม พริกแห้ง หอม กระเทียม และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ โดยเฉพาะถั่วลิสง
ดินประสิว
เป็นวัตถุกันเสียในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และใช้เป็นสารแต่งสีให้มีสีแดงน่ากิน ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด พบมากในเนื้อเค็ม หมูแผ่น ไส้กรอก แฮม กุนเชียง แหนม ปลาเค็ม เป็นต้น
เทคนิคเลือกซื้ออาหารแห้ง
- เลือกซื้ออาหารแห้งที่มีสีสันใกล้เคียงกับสีธรรมชาติ
- ตรวจดูฉลากโภชนาการและวันหมดอายุ
- ไม่ซื้ออาหารแห้งปริมาณมาก เพราะใช้ประกอบอาหารหรือรับประทานไม่หมดในเร็ววันอาจเกิดเชื้อราได้
- ไม่ซื้ออาหารแห้งที่มีกลิ่นหืน
การเก็บรักษาอาหารแห้ง
- เก็บไว้ที่โปร่ง มีอากาศถ่ายเท
- เก็บไว้ในตู้เย็นเสมอถ้าเป็นอาหารแห้งที่สามารถแช่เย็นได้
วิธีบริโภคอาหารแห้งให้ปลอดภัย
- ล้างน้ำหลายๆครั้ง โดยแช่น้ำนานๆ หรือลวกน้ำร้อนทิ้งก่อนนำมาปรุงอาหาร เพื่อลดปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารแห้ง
- ไม่นำน้ำที่แช่อาหารแห้งมาปรุงอาหารต่อ
- ไม่ควรบริโภคอาหารแห้งชนิดเดิมซ้ำๆ เพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการกำจัดสารปนเปื้อนตกค้างจากอาหารแห้งประเภทนั้นออกจากร่างกายบ้าง
- ถ้าเห็นว่าอาหารแห้งมีสีหรือกลิ่นเปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะมองไม่เห็นเชื้อราก็ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร เพื่อความปลอดภัย
ถ้าเป็นไปได้ควรบริโภคอาหารสดใหม่จะดีกว่า แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้ซื้ออาหารแห้งจากแหล่งร้านค้าที่เชื่อถือได้จะดีที่สุด