ถือเป็นคดีใหญ่ที่มีความยืดเยื้อยาวนานมาก จนทำให้คนแทบจะลืมกันไปแล้ว แต่ล่าสุดก็มีข่าวใหม่ว่าศาลสหรัฐฯได้มีการนำคดี ‘อุลตร้าแมน’ ขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้ง และคราวนี้ก็ตัดสินให้บริษัทสึบุรายา โปรดักชั่นอันเป็นบริษัทผลิตภาพยนต์ซูเปอร์ฮีโร่สัญชาติญี่ปุ่น เป็นฝ่ายชนะคดีได้ลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนไป
ย้อนรอยคดียอดมนุษย์อุลตร้าแมน
นับเป็นเวลาหลายสิบปีทีเดียวกับคดีอุลตร้าแมนอันเป็นมหากาพย์ มีการฟ้องร้องแย่งชิงลิขสิทธิ์กันระหว่างนักลงทุนและสร้างหนังชาวไทย “สมโพธิ แสงเดือนฉาย” กับบริษัทสึบุรายา โปรดักชั่นของญี่ปุ่น ซึ่งถ้าพูดถึงอุลตร้าแมนแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นของญี่ปุ่นอยู่แล้วโดยไม่ต้องสงสัย แต่ทว่าเรื่องราวไม่ได้เรียบง่ายแบบนั้น ย้อนกลับไปประมาณ 55 ปีก่อน คาแร็กเตอร์ยอดมนุษย์อย่างอุลตร้าแมนได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วและได้รับความนิยมฮิตกันทั่วญี่ปุ่นรวมถึงเมืองไทย จะว่าไปฮิตกันไปแทบจะทั่วโลกเลยด้วยซ้ำ แต่เมืองไทยนี่ต้องบอกว่าฮิตกันมาก ชอบกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในสมัยนั้นภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้เริ่มขยายความยิ่งใหญ่เข้ามาในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย และไทยเราเองก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับอิทธิผลจากภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดบุกโลกของญี่ปุ่นด้วยเช่นกันเรียกว่าเด็กผู้ชายในยุคนั้นแทบทุกคนหลงใหลคลั่งไคล้สัตว์ประหลาดรูปร่างใหญ่โตอย่างก็อตซิลล่า กาเมร่ากันทั้งนั้น “สมโพธิ แสงเดือนฉาย” เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ภาพยนตร์ญี่ปุ่นแนวสัตว์ประหลาดแบบนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เขามีความฝันที่จะกลายเป็นนักทำหนัง เขาได้อิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ผลักดันให้เขาไปศึกษาด้านการถ่ายภาพและภาพยนตร์ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาเขาก็เริ่มทำงานในวงการด้านภาพยนตร์ทันที จากการสั่งสมประสบการณ์อยู่เมืองไทยไม่นานนักผลงานของสมโพธิที่ปรากฎออกมาก็โดดเด่น ทำให้เขาได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ที่ประเทศญี่ปุ่นในด้านการสร้างภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดตามแบบฉบับของญี่ปุ่นเลย
การเดินทางไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นนี่เองที่ทำให้สมโพธิได้พบกับผู้สร้างหนังฝีมือดีมากมายในวงการหนังญี่ปุ่น และหนึ่งในนั้นก็คืออาจารย์เอยิ สึบุรายา ชายผู้นี้ได้ถ่ายทอดวิชาให้กับสมโพธิ อาจารย์เอยิ สึบุรายามีลูกชายอยู่ 1 คน ชื่อโนโบรุ สึบุรายาอายุมากกว่าสมโพธิ ทั้ง 3 คนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เรียกว่าสนิทดั่งคนในครอบครัว สมโพธิได้ฝึกทำหนังแนวสัตว์ประหลาดที่หวังไว้ และได้เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์กับคนญี่ปุ่นมาเรื่อย จนกระทั่งบริษัททำหนังสึบุรายา โปรดักชั่นซึ่งอาจารย์เอยิ สึบุรายาเป็นคนก่อตั้งขึ้นมาได้มีโปรเจคจะทำหนังยอดมนุษย์สู้กับสัตว์ประหลาดยักษ์ จึงได้มีการวางแผนงานออกแบบคาแร็กเตอร์ตัวละครยอดมนุษย์ขึ้นมา ซึ่งมีการออกแบบหลากหลาย หนึ่งในนั้นก็มีผลงานของสมโพธิด้วย ซึ่งสมโพธิได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากพระพุทธรูป และดีไซน์นั้นก็ได้รับความสนใจจากอาจารย์เอยิและจากนั้นทีมงานทางญี่ปุ่นจึงได้มีการต่อยอดคาแร็กเตอร์ตัวนี้จนกลายเป็นอุลตร้าแมนอย่างที่เราได้เห็นกัน ซึ่งในเวลาต่อมาตัวละครยอดมนุษย์ตัวนี้ก็สร้างกระแสความสนใจจนโด่งดังไปทั่วเอเชีย
สมโพธิกลับมาประเทศไทยก็ลงมือสร้างสรรค์ผลงานอวดฝีมือของตนเอง หนังสัตว์ประหลาดแนวญี่ปุ่นแต่ใส่ความเป็นไทยเข้าไปได้ถูกสร้างขึ้น และก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนๆคนไทย และเรื่องที่พีคที่สุดก็คือ “หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์” ซึ่งเป็นการนำเอาตัวละครเอกจากเรื่องรามเกียรติอย่างหนุมานมาพบกับ 7 อุลตร้าแมน ณ ตอนนั้นความซีเรียสและกฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่เข้มข้นเหมือนปัจจุบัน การยืมตัวละครข้ามไปข้ามมาจึงไม่ใช่ปัญหาใดๆ อีกประการสมโพธิเองก็ถือว่าเขาเองก็มีส่วนเป็นเจ้าของอุลตร้าแมนด้วยเพราะต้นแบบนั้นมาจากเขา จึงทำให้เขามั่นใจที่จะใช้ตัวละครอุลตร้าแมนอย่างไม่มีข้อกังขา
อีกไม่กี่ปีถัดมากระแสความนิยมหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ในญี่ปุ่นเริ่มลดลง อุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่นซบเซาลง อุลตร้าแมนก็ตกเทรนด์ อาจารย์เอยิเสียชีวิตลง บริษัทสึบุรายา โปรดักชั่นของญี่ปุ่นก็เริ่มขาดทุน โนโบรุ สึบุรายาจึงบินมาขอคำปรึกษากับสมโพธิที่เมืองไทย สมโพธิจึงได้ให้ความช่วยเหลือโนโบรุ สึบุรายาเป็นเงินจำนวนหนึ่งให้ โนโบรุ สึบุรายากลับไปตั้งตัวใหม่ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีนี้ทำให้โนโบรุ สึบุรายาตัดสินใจมอบลิขสิทธ์อุลตร้าแมนให้กับสมโพธิ แทนการชดใช้ด้วยเงินที่สมโพธิมอบให้มาก่อนหน้านี้ ซึ่งการมอบลิขสิทธิ์ตัวละครอุลตร้าแมนที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีการทำหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างถูกต้อง เพราะในสมัยนั้นไม่ได้ซีเรียสเหมือนสมัยนี้ นั่นจึงเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาการฟ้องร้องนำไปสู่คดีอุลตร้าแมนในเวลาต่อมานั่นเอง
มหากาพย์การฟ้องร้องคดีอุลตร้าแมน
คดีอุลตร้าแมนมาเริ่มขึ้นตรงที่ทั้งสองฝ่ายคือทางสมโพธิและทางบริษัทสึบุรายา โปรดักชั่นต่างแยกกันทำงานของตนเอง สมโพธิสร้างหนังในไทย บริษัทสึบุรายา โปรดักชั่นก็ผลิตหนังในแนวเดียวกันที่ญี่ปุ่นและรวมไปถึงการผลิตหนังส่งออกต่างประเทศด้วย มีการผลิตหนังเรื่องอุลตร้าแมนทั้งสองฝ่าย แต่ต่อมามีบริษัททำหนังจากจีนจะขอเข้ามาร่วมทุนผลิตหนังแนวนี้กับสมโพธิ นั่นจึงทำให้เกิดการแต่หักระหว่างสมโพธิกับทางบริษัทสึบุรายา โปรดักชั่น เพราะจะต้องมีการมอบลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่งในตัวละครอุลต้าแมนให้กับทางจีนด้วย แต่ทางญี่ปุ่นไม่ยอม จึงเกิดการฟ้องร้องในเรื่องลิขสิทธิ์นี้ขึ้นมากลายเป็นคดีอุลตร้าแมนที่ยืดเยื้อยาวนาน
การทำคดีอุลตร้าแมนที่ต้องยืดเยื้อนั้น เพราะมีความยากลำบากในการสืบสวนเนื่องจากว่า ทุกอย่างเป็นคำพูดอย่างเดียวไม่มีอะไรเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องนี้เป็นคดีใหญ่มากทั้งสองฝ่ายต้องจ้างทนายหลายชาติเข้ามาว่าความ ในปี 2004 ศาลฎีกาที่ญี่ปุ่นมีคำพิพากษาชี้ขาดว่า ตราประทับบริษัทที่นายสมโพธินำมาแสดงนั้นเป็นของจริงและมีผลบังคับใช้ ต่อมาในปี 2008 ศาลฎีกาไทยตัดสินให้ฝ่ายสึบุรายาชนะคดี โดยพิพากษาว่าเป็นสัญญาปลอม ไม่สามารถรับรองได้ และมีคำสั่งให้จ่ายเงิน 10.70 ล้านบาท (34.5 ล้านเยน)
เรื่องราวยืดเยื้อต่อมาเพราะอีกบริษัทคือยูเอ็ม คอร์ป บริษัททำหนังจากจีนยังมีการยื่นฟ้องต่อกับฝ่ายสึบุรายา การยื่นฟ้องครั้งนี้ไปยื่นต่อศาลสหรัฐฯ และสุดท้ายแล้ววันที่ 18 เม.ย. 2561 ศาลแขวงกลางรัฐแคลิฟอร์เนียก็ได้มีคำตัดสินออกมาว่า ฝ่ายสึบุรายาชนะคดีเพราะหนังสือสัญญาที่อ้างขึ้นในชั้นศาลนั้นเป็นเอกสารปลอมจึงไม่มีผลตามกฎหมาย เรื่องราวนี้ดูจะเป็นมหากาพย์กันต่อไปที่จะมีการฟ้องร้องกันไปไม่มีหยุดแน่ๆ
อ้างอิง : ฐานเศรษฐกิจ, manager