โลกเราไม่เคยเหือดแห้งจาก “สงคราม” หากจะกล่าวแบบนี้ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าโลกจะเจริญไปแค่ไหนความขัดแย้งของมนุษย์ก็ยังตามไปในทุกที่ บางครั้งยิ่งเจริญมาก ยิ่งขัดแย้งและทำลายล้างกันมากขึ้นด้วย ไม่ต้องมองไกลขยับมาใกล้ๆในอาเซียนอย่างเมียนมา ที่เกิดการเข่นฆ่ากันมาอย่างไม่ยอมหยุด อย่างสถานการณ์ความขัดแย้งกันในรัฐยะไข่ ซึ่งไม่นานมานี้เกิดเป็นข่าวไปทั่วโลกอีกครั้ง จากเหตุการณ์ตำรวจยิงประชาชน ชาวเมียนมาพุทธเสียชีวิต 7 ศพ บาดเจ็บ 13 คน ซึ่งทั้งหมดก็เป็นชาวพุทธและพลเมืองยะไข่เอง ระหว่างการประท้วงคำสั่งห้ามจัดงานประเพณีท้องถิ่น เมื่อคืนวันอังคาร (16 ม.ค.) ที่ผ่านมา ความขัดแย้งการเข่นฆ่ากันในรัฐยะไข่นี้ ทำให้ชาวโลกเริ่มมองปัญหาที่มีความซับซ้อนและฝังลึกมานานในเมียนมา เราจึงขอมาสำรวจกันดูว่าเกิดอะไรขึ้นใน “ยะไข่”
ชื่อของรัฐยะไข่ดังขึ้นมาอีกครั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์เข่นฆ่าและกวาดล้าง กลุ่มมุสลิมชาวโรฮีนจา ที่ต้องถือว่าเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนไร้รัฐไร้ที่อยู่ ทั่วโลกต้องจับตากับสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ก็เพราะว่า กลุ่มมุสลิมชาวโรฮีนจากลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธและหัวรุนแรงไปก่อเหตุกระตุกหนวดเสือ ยกกำลังบุกโจมตีฐานทหารตำรวจหลายจุดพร้อมกัน ทำให้กองทัพเมียนมาไม่อาจอยู่เฉยลุกขึ้นมาทำการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธโรฮีนจา ทำแบบชนิดที่สหประชาชาติขนานนามว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” นั่นจึงทำให้ชาวโรฮีนจาส่วนหนึ่งราว 750,000 คน ต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ในบังกลาเทศ โดยทยอยหนีไปตั้งแต่เดือน ส.ค. เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องราวที่พวกเรามักจะได้ยินเกี่ยวกับรัฐยะไข่อยู่เสมอ คือ เป็นเรื่องราวความขัดแย้งกับกลุ่มมุสลิมชาวโรฮีนจา แต่ทว่าเหตุการณ์ตำรวจยิงประชาชนที่เรากล่าวไปข้างต้นกลับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวยะไข่ที่เป็นชาวพุทธด้วยกันเองนั่นจึงทำให้หลายๆฝ่ายเริ่มงงว่าเกิดอะไรขึ้นในยะไข่กันแน่
รัฐยะไข่นั้นอยู่ทางภาคตะวันตกของเมียนมาประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 3.2 ล้านคน โดยที่เป็นชาวยะไข่จริงๆ ก็ประมาณ 2 ล้านคน นอกนั้นก็เป็นชาวโรฮีนจา จากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2557 เป็นชาวยะไข่หรือชาวอาระกัน อีกหนึ่งชาติพันธุ์ที่รวมกันเป็นสหภาพเมียนมา แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวยะไข่นั้นไม่ค่อยจะลงรอยกับทางรัฐบาลกลางเมียนมามานานแล้ว ย้อนกลับไปที่รากของรัฐยะไข่กันบ้าง เดิมทีแล้วยะไข่เคยมีอาณาจักรของตนเองปกครองกันเองในสมัยโบราณ ดินแดนในบริเวณนั้นก็รุ่งเรืองอยู่ตามแนวชายฝั่งอ่าวเบงกอล แต่ต่อมาถูกราชอาณาจักรพม่ายกทัพโจมตี และยึดครองยะไข่ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2327 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย และยะไข่กับเมียนมาก็บาดหมางกันลึก ๆ มาตลอดนับแต่นั้น และพอยุคสมัยเปลี่ยนผ่านทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องกวนใจอื่นๆอีกก็ทำให้ชาวยะไข่กับทางการเมียนมามีการกระทบกระทั่งกันบ้างประปรายแต่ไม่ค่อยจะเป็นข่าว จึงทำให้โลกภายนอกไม่ได้รู้ความเป็นไปจากรัฐเล็กๆแห่งนี้
ชาวยะไข่จริงๆนั้นเป็นชาวพุทธเหมือนกับชาวเมียนมาเกือบ 90% ทั่วประเทศ และเป็น 1 ใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเมียนมาว่าเป็นพลเมืองของเมียนมาด้วย แต่สำหรับชาวโรฮีนจานั้นแตกต่างไป ทางการเมียนมาไม่ได้ยอมรับว่าพวกเขาเป็นพลเมือง และผลักไสให้ชาวโรฮีนจาเป็นผู้อพยพชาวเบงกาลีจากบังกลาเทศ ที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย
ส่วนเหตุการณ์ที่เป็นข่าวคราวตอนต้น ที่ตำรวจเมียนมายิงชาวยะไข่ ต้นชนวนเหตุเกิดขึ้นที่เมือง มร็อคอู เมืองโบราณทางตอนเหนือของรัฐ และเมืองนี้ทางการเมียนมาจับตามานานแล้ว เพราะเมืองนี้เป็นเมืองเก่าแก่และถือเป็นเมืองที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง เกี่ยวกับการเรียกร้อง การปลดแอกและดูแลตนเอง โดยวันที่เกิดเหตุขึ้นนั้นเป็นวันรำลึกถึงวันล่มสลายของราชอาณาจักรยะไข่ เมื่อกว่า 200 ปีก่อน โดยปกติแล้วทุกปีชาวยะไข่ก็มีการจัดงานรำลึกเป็นเช่นนี้ทุกปี แต่มาปีนี้ทางการเมียนมาไม่อนุญาตให้ชาวยะไข่จัดงาน โดยอ้างว่าชาวยะไข่ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดงานล่วงหน้า ชาวบ้านยะไข่จึงไม่พอใจและก่อการประท้วงขึ้น นั่นเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้านหนึ่งในยะไข่
ส่วนอีกด้านหนึ่งคือความขัดแย้งของชาวยะไข่ที่เป็นชาวพุทธ กับ ชาวยะไข่ที่เป็นชาวโรฮีนจามุสลิม ซึ่งจริงๆแล้วความขัดแย้งมีมานานร่วม 10 ปีแล้ว แต่เราจะมาได้ยินข่าวกันในช่วง 3 – 4 ปีหลังนี่เอง ประเด็นความขัดแย้งก็คือ แย่งกันเป็นใหญ่และเป็นเจ้าของรัฐ ชาวยะไข่พุทธบอกว่าอยู่ในดินแดนนี้มาหลายร้อยปี ขณะที่ชาวโรฮีนจามุสลิมก็บอกว่าอยู่มาหลายชั่วอายุคนเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนี้ เลยทำให้เกิดการปะทะกันอยู่บ่อยๆ
สำหรับชาวยะไข่เองแล้วทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมโรฮีนจา เหมือนมีจุดร่วมแต่ขอสงวนจุดต่าง คือ ต่างฝ่ายต่างไม่ชอบรัฐบาลเมียนมาเหมือนกัน แต่ยังไงลึกๆแล้วก็ไม่ถูกกันเองด้วย นั่นจึงทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ชาวยะไข่ไม่ค่อยถูกใจนาง อองซาน ซูจี
ทุกอย่างในโลกล้วนมีที่มาที่ไป สงครามความขัดแย้งก็เช่นกันทุกอย่างมีเบื้องลึกเบื้องหลัง แต่เราหวังว่าความสงบจะกลับมาสู่ชาวเมียนมาในวันหนึ่งวันใดได้สักที