คำว่า “ไทรอยด์” เราพูดถึงกันเป็นประจำในฐานะของต่อไร้ท่อชนิดหนึ่งในร่างกาย และบ้างก็บอกว่าไทรอยด์เป็นชื่อหนึ่งของโรค แต่ไม่ว่าจะเป็นความเห็นทางด้านไหนก็ล้วนถูกต้องทั้งสิ้นเพราะไทรอยด์ก็เป็นทั้งอวัยวะและเป็นคำเรียกความผิดปกติของร่างกายด้วยเช่นกัน เราพูดถึงกันบ่อย แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกๆคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับไทรอยด์กันบมากน้อยแค่ไหน ? ไม่เป็นไรวันนี้เรามีสาระสุขภาพดีๆในเรื่องนี้มากฝากกัน
รู้จักไทรอยด์ให้มากขึ้นกว่าเดิม
เราสามารถนิยามคำว่า “ไทรอยด์” ได้ 2 แง่คือ
- ไทรอยด์ในฐานะของอวัยวะอย่างหนึ่งที่อยู่บริเวณลำคอของพวกเราทุกคน นั่นคือต่อมไทรอยด์ ต่อมนี้เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ และมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของร่างกาย การควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในความสมดุลและเป็นปกติ ระบบเผาผลาญในร่างกาย รวมทั้งเรื่องของการกระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ไทรอยด์ในฐานะของโรค คือ โรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ อย่างเช่นไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์ผิดปกติเป็นต้น หากต่อมนี้ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลและเกิดความผิดปกติในร่างกาย จิตใจ และสมอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลต่อระบบการทำงานส่วนประสาทการทำงานอัตโนมัติในร่างกาย ซึ่งเป็นบริเวณที่เราไม่สามารถควบคุมได้
ทำไมต่อมไทรอยด์ถึงทำงานผิดปกติ
สาเหตุหลักๆเป็นไปได้ 2 อย่าง คือ
- กรรมพันธุ์
- ถูกกระตุ้นจากอาหารบางชนิดที่รับประทานมาเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน
โรคในกลุ่มไทรอยด์ มีอยู่กี่แบบ
โรคในกลุ่มไทรอยด์ ถ้าแบ่งแบบกว้างๆจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งกลุ่มนี้จะแยกย่อยออกไปอีก 2 แบบคือ
- แบบที่ฮอร์โมนในร่างกายทำงานมากเกิน จะเป็นสาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษ
- แบบฮอร์โมนทำงานน้อยเกิน
2.กลุ่มที่เกิดก้อนในคอขึ้นมา กลุ่มนี้จะมีอาการคอโต คอพอก หรือมีก้อนตรงบริเวณต่อมไทรอยด์ที่เห็นได้ชัดเจน
ไทรอยด์ผิดปกติมีผลทำให้อ้วนจริงไหม ?
หลายคนคงเคยได้ยินคนพูดกันว่า “อ้วนขึ้น เพราะเป็นโรคไทรอยด์ผิดปกติ” ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องจริงเมื่อฮอร์โมนในร่างกายเกิดความผิดปกติขึ้นย่อมส่งผลต่อรูปร่างของเราเป็นธรรมดา ไทรอยด์ผิดปกติจนทำให้อ้วนนั้นเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ทั้งที่รับประทานได้น้อยลง แต่กลับอ้วนขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ ผิดกลับอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษ กลุ่มนี้จะตรงกันข้าม เพราะฮอร์โมนทำงานมากเกิน ผอมลงน้ำหนักลด หิวบ่อยทานมากแต่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน
จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีอาการของไทรอยด์ผิดปกติหรือเปล่า
เริ่มต้นให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ถ้าอยู่ๆก็เหนื่อยง่าย ขี้ร้อนมากขึ้นเหงื่อออกง่าย ใจสั่น มือสั่น หิวน้ำบ่อย น้ำหนักเริ่มลดลงทั้งๆที่กินปกติหรือมากขึ้นด้วยซ้ำ มีความเครียดมากขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ตอนนอนก็ไม่ค่อยหลับ บางทีถ่ายอุจจาระ 2 – 3 ครั้ง/วัน แบบนี้ให้รีบไปปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะคุณเข้าข่ายไทรอยด์เป็นพิษ ฮอร์โมนเริ่มทำงานมากเกินไป ถ้าปล่อยไว้อาการอาจจะรุนแรงขึ้น จนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ เช่นกัน ถ้าคุณอยู่ๆก็หนาวง่าย ทำอะไรเฉื่อยลง คิดช้าลง ง่วงนอนทั้งวันทั้งๆที่ก็นอนมาพอ รู้สึกขี้เกียจและไม่อยากทำอะไร รู้สึกหนักตัวออ่นแรงลงไปเรื่อยๆ อ้วนขึ้นทั้งๆที่กินน้อย เป็นตะคริวง่ายแบบนี้ก็ต้องรีบไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะฮอร์โมนทำงานบกพร่องแล้ว ส่วนกลุ่มที่เป็นก้อนเนื้อตรงนี้ก็จะเห็นความผิดปกติได้ด้วยตาเปล่าอยู่แล้ว
ไทรอยด์ผิดปกติรักษาได้ไหม
โรคในกลุ่มไทรอยด์ผิดปกตินั้นสามารถรักษาได้ แต่จะใช้วิธีไหนรักษานั้น แพทย์ก็จะพิจารณาตามระดับความรุนแรงในอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก และจะต้องพิจารณาลักษณะของโรคที่มาด้วย ซึ่งอาจะเริ่มจากรับประทานยา จนไปถึงการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การรับประทานน้ำแร่ไอโอดีน ชนิดที่มีการปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมา เพื่อให้รังสีไปยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์
อย่างที่ทราบไทรอยด์นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของเรา ฉะนั้นโรคที่เกิดจากไทรอยด์จึงสามารถเกิดกับใครก็ได้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ คุณจึงต้องเริ่มหัดสังเกตความผิดปกติในร่างกายของตนเองให้มากๆ หากเริ่มมีอาการผิดปกติที่ใกล้เคียงหรือไม่มั่นใจจะได้ตัดสินใจไปพบแพทย์ได้ทันเวลาก่อนที่โรคจะลุกลาม