ตรุษจีนปี 61 ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว ธรรมเนียมปฏิบัติและวัฒนธรรมต่างๆแบบชาวจีนโพ้นทะเลที่นิยมปฏิบัติมาตั้งแต่บรรพบุรุษรุ่นอากงอาม่า นับวันก็จะค่อยๆเลือนหายไปจากลูกหลานมังกรในยุคดิจิตอล ซึ่งทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงกันไปตามเวลาและสมัยนิยมอันเป็นเรื่องธรรมดา หลายสิ่งหลายอย่างมีการส่งต่อและปฏิบัติกันมาจนหาแก่นแท้ไม่เจอว่า ปฏิบัติกันทำไม

     สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กันมากับเทศกาลตรุษจีนอยู่ตลอดไม่ว่าจะเป็นชาวจีนโพ้นทะเลอย่างพวกเรา หรือแม้จีนที่อยู่ในประเทศจีนก็คือ การจุดประทัดและการเชิดสิงโต แล้วทำไมตรุษจีน ต้องจุดประทัดและเชิดสิงโตด้วย ? ครั้งนี้เรามีเกร็ดความรู้ในเรื่องนี้มาบอกเล่ากัน เพราะทุกอย่างย่อมมีที่มา

ตำนานปีศาจเหนียน

112009584640     เมื่อครั้งโบราณกาล ณ ที่ป่าทึบแห่งหนึ่งอันเป็นแดนสนทยา ที่หามีมนุษย์ผู้ใดย่างกรายเข้าไปไม่ เพราะว่าที่ผืนป่าแห่งนั้นเป็นที่สิงสถิตของสัตว์ป่าดุร้ายมีรูปร่างหน้าตาประหลาด น่ากลัวเป็นที่สุด เจ้าสัตว์ร้ายตัวนี้เดิมเคยออกอาละวาดล่ามนุษย์มากินเป็นอาหารเป็นประจำ ไม่มีมนุษย์ผู้ใดที่จะปราบเจ้าสัตว์ร้ายตนนี้ลงได้ พวกมนุษย์จึงได้ไปอ้อนวอนขอให้เทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ เทพเจ้าจึงลงมาปราบสัตว์ร้ายตนนี้ และทำการสาปเจ้าสัตว์ร้ายให้มันถูกจองจำอยู่ที่ป่าแห่งนั้น ซึ่งเทพเจ้าได้อนุญาตให้เจ้าสัตว์ร้ายตนนี้ลงจากเขาออกจากป่าลงมาหาอาหารได้เพียงครั้งเดียวใน 1 ปี เจ้าสัตว์ร้ายตัวนี้ จึงเลือกเขาช่วงปลายฤดูหนาว ที่กำลังย่างกรายเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงเวลาออกมาหาอาหาร ซึ่งนั่นตรงกับคืนวันที่ 30 เดือน 12 ของชาวจีนอันเป็นวันสิ้นปีพอดี เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวการออกล่าของเจ้าสัตว์ร้ายตัวนี้ ต่างก็พากันพร้อมใจสะสมเสบียงอาหารและปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิด เพื่อเป็นการระวังเจ้าสัตว์ร้ายตนนี้ ไม่มีใครกล้านอนตลอดทั้งคืนนั้น บางครอบครัวมีการเตรียมตัวล่วงหน้าถึงขนาดหอบลูกจูงหลานหลบหนีเจ้าสัตว์ร้ายตนนั้นเข้าป่าลึกไปที่อื่น เพื่อซ่อนตัวจากเจ้าสัตว์ร้ายตนนี้ และเหล่ามนุษย์ได้ขนานนามเจ้าสัตว์ร้ายตนนี้ว่า “เหนียน”(年) อันแปลว่า “ปี” ซึ่งหมายถึงสัตว์ร้ายที่ออกล่าเหยื่อปีละ 1 ครั้ง (เหนียนเป็นภาษาจีนกลาง ส่วนสำเนียงแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า “นี้”)

กุศโลบายขับไล่สิ่งชั่วร้าย

16283838749_701fd4df37_b     หลายปีเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยมา เจ้าสัตว์ร้ายเหนียนตนนี้ออกล่าเหยื่อมนุษย์แทบไม่ได้เลยในหลายปีที่ผ่านมา เพราะมนุษย์รู้จึงพากันหนีหาย เจ้าสัตว์ร้ายเหนียนจึงคิดว่าจะต้องออกล่าเหยื่อช่วงกลางวันบ้างเพื่อให้มนุษย์ไม่รู้ตัว ในปีหนึ่งเมื่อโอกาสของมันมาถึง เจ้าสัตว์ร้ายจึงไม่รอช้าออกล่าเหยื่อช่วงกลางวันแบบไม่ให้มนุษย์รู้ตัว มันย่องเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไม่มีใครรู้ถึงการมาของมัน ผู้ใหญ่จึงปล่อยเด็กๆวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานและไม่ระวังใด เจ้าสัตว์ร้ายเหนียนเห็นเด็กๆวิ่งเล่นกันมันจึงคิดว่านี่แหละโอกาสที่มันจะขย้ำเหยื่ออันโอชะ ทีเดียวได้เด็กๆหลายชีวิต คงพอที่จะทำใหมันอิ่มได้เป็นปีทีเดียว แต่ขณะที่มันกำลังรอจังหวะให้เด็กๆวิ่งเข้ามาใกล้ มันก็ต้องเปลี่ยนใจซะก่อน เพราะเด็กๆกลุ่มนั้นที่กำลังวิ่งเล่น แทบทุกคนถือแส้ไว้ในมือและต่างก็พากันกวัดแกว่งฟาดแส้ไปมากันอย่างสนุกสนาน ทุกครั้งที่หวดแส้ลงพื้นก็ทำให้เกิดเสียงเปรี้ยงปร้างๆ ดังไปทั่วบริเวณ เจ้าสัตว์ร้ายเหนียนได้ยินเสียงเปรี้ยงปร้างดังเข้ามาใกล้ตัวทุกทีๆ จึงรู้สึกตกใจและเปลี่ยนใจหนีไปดีกว่า

     เจ้าเหนียนคิดว่าน่าจะลองออกล่าในหมู่บ้านอื่นแทน มันจึงลัดเลาะไปยังหมู่บ้านที่สอง เมื่อกำลังจะเข้าไปที่หมู่บ้านปรากฎว่ามันเหลือบมองไป มันก็เห็นแต่ สีแดงฉูดฉาดเต็มไปหมด  ซึ่งนั่นเป็นเสื้อผ้า ที่ชาวบ้านนำมาซักและตากไว้นั่นเอง เจ้าเหนียนเห็นสีแดงพรึบไปหมด มันก็รู้สึกว่าอันตรายอย่างไรพิกล ไม่มั่นใจจึงเปลี่ยนใจอีกครั้งไม่ล่าที่หมู่บ้านนี้ ขอออกล่าที่หมู่บ้านสามแทน

chinese-new-year-18     แต่กว่าที่จะเดินทางไปถึงหมู่บ้านที่สามก็ปาเข้าไปตะวันจะตกดินแล้ว และช่วงนั้นอากาศยังหนาวเย็นอยู่ ชาวบ้านในหมู่บ้านที่สามคิดว่าก่อนที่จะหลบเข้าบ้านก็ขอผิงไฟให้อุ่น หาอะไรอุ่นๆกินให้อิ่มท้องก่อนต่างคนต่างไป พวกเขาจึงมารวมตัวกันและก่อไฟกองใหญ่ไว้กลางหมู่บ้านเพื่อให้ความอบอุ่น ใครมีอะไรก็เอามาย่างไฟ เผาไฟแล้วแบ่งปันกันกิน ก็เป็นจังหวะพอดีที่เจ้าตัวเหนียนมาถึงหมู่บ้านนี้พอดี พอจะเข้าหมู่บ้านก็เห้นกองไฟกองใหญ่ แสงแห่งเพลิงที่เจิดจ้าและความร้อนระอุทำให้มันรู้สึกกลัว มันจึงขอเผ่นหนีไป สรุปว่าปีนั้นเจ้าเหนียนก็ต้องอดอีกหนึ่งปีโดยไม่มีเหยื่อตกถึงท้องเลย

     เหล่ามนุษย์สังเกตว่าในปีนั้นไม่ปรากฎเสียงหรือมีร่องรอยการล่าเหยื่อของเจ้าตัวเหนียน พวกเขาจึงมานั่งนึกกันว่าเพราะอะไร ? เรื่องราวถูกถกกันเป็นการใหญ่ จากหมู่บ้านไปสู่อีกหมู่บ้าน จนพวกมนุษย์มีข้อสรุปว่า เจ้าตัวเหนียนมันกลัวเสียงดัง กลัวสีแดง และกลัวไฟ เหล่ามนุษย์จึงคิดกันว่าปีถัดไปจะใช้กุศโลบายขับไล่สิ่งชั่วร้าย และในช่วงนั้นก็ดันมีคนคิดอะไรพิเรนทร์ เอาดินปืนไปบรรจุในบ้องไม้ไผ่เล็กๆแล้วจุดไฟ เสียงไม้ไผ่ระเบิดก็ดังสนั่นหู นั่นจึงทำให้ชาวบ้านได้ไอเดีย เรื่องของการจุดประทัด การนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง รวมถึงการรัวกลองส่งเสียงอึกทึกเพื่อป้องกันและขับไล่ตัวเหนียนนั่นเอง

ตำนานการเชิดสิงโต

5854a1e0f3db1     ตำนานเรื่องของการเชิดสิงโตในวันตรุษจีนนั้น มีหลากหลายที่มา บางตำนานมีการเกี่ยวโยงกับปีศาจเหนียนด้วย คนจีนเรียกการแสดงเชิดสิงโตว่า “ไซ่จื้อบู้” แปลง่ายๆว่า ระบำลูกสิงโต ถือว่าเป็นหนึ่งในการแสดงสวมหน้ากากสัตว์ ว่ากันว่าการแสดงระบำสิงโตนี้นิยมใช้เป็นการแสดงเบิกโรงก่อนการแสดงชุดใหญ่(ถ้าเทียบกับลิเกบ้านเรา ก็คงเหมือนการออกแขก)

     ตำนานการเชิดสิงโตในวันตรุษจีนที่มีความเกี่ยวข้องกับปีศาจเหนียนนั้นกล่าวว่า นอกจากมนุษย์จะค้นพบวิธีป้องกันตัวเหนียนจากเสียงดังโดยการจุดประทัด และการติดกระดาษแดงแล้ว มนุษย์ยังคิดด้วยว่าก็ต้องมีการสร้างสิ่งที่ดูน่ากลัว มาต่อสู้กับตัวเหนียน จึงให้คนไปสวมชุดสิงโต และให้ออกเดินทางเยื้องย่างร่ายรำไปพร้อมกับวงมหรสพรัวกลองและฉาบไปด้วยเพื่อข่มขวัญขับไล่ตัวเหนียนรวมถึงสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

Spring-Festival-China     มีบันทึกในสมัยราชวงศ์ซ่งหรือซ้อง(พ.ศ. 1669 – 1822) กล่าวว่าได้มีการนำการเชิดสิงโตไปใช้ในสงคราม โดยสมัยนั้นคิดกันว่าสิงโตถือเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีศักดิ์ศรีเหนือกว่าสัตว์ป่าทั่วไป สัตว์ที่ใช้ในสงครามอย่างม้าก็คงจะกลัวสิงโต ซึ่งก็จริงดังนั้น กองทัพที่มีการนำการเชิดสิงโตไปใช้ ทำให้ฝ่ายข้าศึกแตกฮือไม่เป็นขบวนได้ เพราะเสียงอึกทึกครึกโครมจากกลองและฉาบ การระบำย่ำเท้าตามแบบฉบับนักรบทำให้ม้าศึกฝ่ายตรงข้ามตกใจ หนีถอยไม่เป็นขบวน พอมาถึงสมัยราชวงศ์หมิง(พ.ศ.1911 – 2187) ความเชื่อเรื่องการเชิดสิงโตไล่ตัวเหนียนถูกแพร่หลายในมณฑลกวางตุ้ง และได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาออกไปกลายเป็นชาวเชื่อที่มากกว่าการขับไล่ตัวเหนียน คือ พวกเขาเชื่อว่านอกจากการเชิดสิงโตจะขับไล่สัตว์ร้ายได้แล้วยัง ขับไล่ภูตผี โชคร้ายและสิ่งไม่ดีออกจากชีวิตได้อีกด้วย ความเชื่อเหล่านี้จึงได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในวันตรุษจีน คือ จะต้องมีการใช้สีแดง มีการจุดประทัด และเชิดสิงโตด้วยเหตุนี้

กุศโลบายที่ซ่อนอยู่ในตำนานของตรุษจีน

21d2d9ffd8bb08b4159b830b5b8b7ad7     คนจีนไม่ได้ยึดถืออะไรที่ดูงมงายไร้สาระอย่างที่เข้าใจกัน สิ่งที่คนจีนทำในช่วงวันตรุษจีนนั้นต่างล้วนมีความหมายและมีกุศโลบายที่แยบยล ถ้าเราเอาตำนานมากะเทาะดูอย่างมีเหตุมีผล เราก็จะพบว่าตำนานเหล่านี้ก็ไม่ได้ไร้สาระ ตำนานจะจริงหรือไม่นั้น ไม่ได้สำคัญ อย่างการจุดประทัดนั้นนอกจากจะอิงความเชื่อเรื่องตัวเหนียนแล้ว คนจีนยังมีกุศโลบายหนึ่งด้วยคือ ช่วงปีใหม่ย่อมมีการเฉลิมฉลอง อาหารการกินอันอุดมสมบูรณ์ย่อมถูกปรุงแต่งและรังสรรค์ออกมาอย่างมากมาย เพื่อจัดเลี้ยง ซึ่งกลิ่นของอาหารเหล่านี้ก็คงจะไปเตะจมูกสุนัข แมวและสัตว์เลี้ยงในบ้านด้วย หากคนเผลอไปนิดเดียวสัตว์เลี้ยงอาจมาขโมยอาหารกินได้ การจุดประทัดให้เสียงดังก็สามารถช่วยไล่สัตว์ให้ไปไกลๆจากอาหารได้ เท่านั้นยังไม่พอ เวลาจัดเลี้ยงผู้ใหญ่ก็จะออกไปสังสรรค์ทักทายกัน อาจจะปล่อยลูกน้อยอยู่ในบ้านคนเดียว การจุดประทัดให้เสียงดังจะทำให้เด็กตกใจร้องไห้ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าเป็นการระวังภัยให้กับเด็กๆเอง เพราะสุนัขและสัตว์ร้ายจะตกใจเสียงประทัดและเสียงเด็กทำให้ไม่กล้าเข้าใกล้นั่นเอง

     ส่วนการเชิดสิงโตนั้น ถ้ามองไปก็คล้ายเป็นสัญลักษณ์เชิญชวนให้มาร่วมเฉลิมฉลองกัน เวลามีงานมงคลในบ้านเราอย่างงานบวช เราก็จะมีการแห่นาคซึ่งก็มีแตรวงเดินในขบวนเหมือนๆกัน ในต่างประเทศเวลามีงานเทศกาลคานิวาลอะไรก็จะมีการตีฆ้องร้องป่าวเดินไปตามถนนเฉกเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่ามีงานดีๆนะ ออกมาร่วมฉลองกันเถอะ การเชิดสิงโตก็เป็นประมาณนั้นนั่นเอง