ญี่ปุ่นหนึ่งประเทศที่เต็มไปด้วยความเจริญ ความทันสมัยและผู้คนที่เคร่งในระเบียบวินัย ดูจากหลายๆด้านแล้วเป็นหนึ่งในประเทศที่พร้อมในทุกๆด้าน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าจุดบอดและความอับอายอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นก็คือ “การคอรัปชั่น” ญี่ปุ่นเคยเป็น 1 ใน 3 ประเทศในเอเชียที่มีคะแนนและดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นสูงที่สุดของโลก แม้ดูจะไม่น่าเชื่อเพราะคนญี่ปุ่นจริงจังและมีวินัยสูง แต่ก็นั่นแหละในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์พร้อมเสมอไป
ญี่ปุ่นกับสถานการณ์การคอรัปชั่นในประเทศ
มีการตรวจสอบการคอรัปชั่นในญี่ปุ่นจากองค์กรตรวจสอบสอบความโปร่งใสแห่งนานาชาติเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา หลายๆประเทศในเอเชียได้มีการถูกตรวจสอบและให้คะแนนวัดผลความสะอาดและความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง คะแนนเต็ม 100 คะแนน ญี่ปุ่นได้ 72 คะแนนได้อันดับความขาวสะอาดในการทำงานเป็นอันดับที่ 20 ของโลก แม้คะแนนและอันดับจะตกลงจากปีก่อนหน้าแต่ถือว่าความโปร่งใสไร้ทุจริตคอรัปชั่นจัดว่าดีทีเดียว แต่ก็ยังไม่ดีพอเพราะด้วยคะแนนนี้ญี่ปุ่นยังเป็นรองสิงคโปร์และฮ่องกง สิงคโปร์ได้ 84 คะแนน สะอาดเป็นอันดับที่ 7 และฮ่องกงที่ได้ 77 คะแนน สะอาดเป็นอันดับที่ 15 ของโลก และส่วนของไทยเราไปไกลสุดกู่ เทียบชั้นกับประเทศต่างๆที่กล่าวมาไม่ได้เลย เพราะไทยเราได้คะแนนเพียง 35 คะแนนเป็นอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ เรียกว่าเรื่องทุจริตคอรัปชั่นยังเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเราอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลมากี่รัฐบาลก็ตาม
ปราบคอรัปชั่นสไตล์ญี่ปุ่น
สิ่งที่เราอยากจะชวนคุณผู้อ่านมาดูและพิจารณาขบคิดกันเล่นๆก็คือ เมื่อมีการทุจริตการคอรัปชั่นเกิดขึ้น วิธีการแก้ไขควรทำอย่างไร เราขอนำเสนอวิธีการของแดนซามูไรอย่างญี่ปุ่น เพราะวิธีการปราบคอรัปชั่นของประเทศญี่ปุ่นดูน่าสนใจและมหัศจรรย์ใจมากทีเดียว ญี่ปุ่นเขาไม่มีหน่วยงานตรวจสอบคอรัปชั่นเฉพาะเหมือนบ้านเรา อย่างป.ป.ช. แต่เขากลับใช้ราชการตรวจสอบราชการกันเอง คือ เขาใช้ตำรวจกับอัยการตรวจสอบและปราบคอรัปชั่นในวงการต่างๆตั้งแต่ราชการด้วยกันยังเอกชน ซึ่งคุณเชื่อไหมว่ามันได้ผลดีเกินคาด เพราะตำรวจกับอัยการต่างฝ่ายต่างก็แข่งกันเองในการเข้าไปตรวจสอบและปราบปรามการคอรัปชั่น พวกเขาถือว่าเป็นผลงานขององค์กร ปีนี้หากตำรวจจับคอรัปชั่นและปราบได้มากกว่า ตำรวจก็ชนะได้หน้าไป และถ้าปีถัดไปเป็นของอัยการ ฝ่ายอัยการก็ได้หน้าและคะแนนนิยมจากประชาชนไป
ในส่วนของตำรวจและอัยการเองก็จะมีฝ่ายที่ตรวจสอบกันเองอีกชั้นหนึ่ง และที่น่าสนใจก็คือญี่ปุ่นเขามีกฎหมายจริยธรรมระดับชาติที่มีรายละเอียดชัดเจนว่าอะไรทำได้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่โหดหินและมาตรฐานสูงมากกำกับการทำงานของข้าราชการอีกที ตัวอย่างความชัดเจนของกฎหมายนี้ก็เช่น ในกฎหมายมีระบุเลยว่าข้าราชการญี่ปุ่นไม่สามารถไปออกรอบเล่นกอล์ฟกับนักธุรกิจ เมื่อมีรายได้พิเศษ(นอกเหนือจากเงินเดือน) ข้าราชการญี่ปุ่นก็จะต้องรายงานว่ามีรายได้พิเศษเท่าไหร่ได้มาอย่างไร อย่างเป็นครู ถ้ามีสอนพิเศษข้างนอกก็ต้องทำรายงานให้ต้นสังกัดทราบด้วยว่าได้เท่าไหร่ ถ้ามีงานแต่งงานหรืองานศพข้าราชการญี่ปุ่นก็ถูกห้ามมิให้รับซองจากภาคเอกชนทุกองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับหน่วยงานราชการที่ตนเองทำงานอยู่ กฎเหล็กเหล่านี้จะถูกทำเป็นสมุดเล็กๆให้แจกจ่ายให้กับข้าราชทุกคนทุกสังกัดเหมือนเครื่องเตือนความจำว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ อะไรที่ทำแล้วต้องแจ้งผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นคนญี่ปุ่นเองก็ค่อนข้างเข้มงวดกับตนเองและการใช้ชีวิตอยู่แล้ว การใช้กฎหมายที่ดูหยุมหยิมนี้ครอบเข้าไปอีกก็ดูจะตีกรอบข้าราชการให้แน่นขึ้นไปอีก แม้จะดูเครียดก็จริง แต่มันได้ผลทีเดียวเรื่องการปราบปรามคอรัปชั่นในประเทศ
วิถีทางแห่งวินัย วิถีแห่งการปราบคอรัปชั่น
อะไรที่ทำให้ญี่ปุ่นใช้วิถีทางแห่งวินัยสไตล์ซามูไรในการปราบปรามการคอรัปชั่นอย่างได้ผล ก็ต้องย้อนกลับไปมองจุดยืนและรากเหง้าของคนญี่ปุ่น ตัวที่ตั้งของประเทศญี่ปุ่นเองนั้น ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนใต้เปลือกโลกขนาดใหญ่ที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิได้ตลอดเวลา ไม่นับภูเขาไฟที่รอวันปะทุราวกับการมีชีวิตอยู่บนผืนดินที่ไม่เคยดับ เมื่อต้องอยู่กับธรรมชาติที่มีทั้งดีและร้าย ไม่น่าแปลกใจว่าสิ่งที่เราเห็นจากญี่ปุ่นคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติในแบบทั้งเคารพยำเกรง อ่อนน้อมถ่อมตน ปกปักรักษา และมุ่งหาความกลมกลืน แต่ก็ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้ได้มากที่สุดในเวลาเดียวกัน นั่นน่าจะตอบคำถามของใครหลายคนได้ว่าทำไมโลกจึงเห็นความคิดสร้างสรรค์มากมายจากสังคมที่พวกเขามองว่ามีแต่ความเหมือนและสมยอม มีความอ่อนน้อมแต่ก็แข็งกร้าวและจริงจัง
การ “ละอาย” และการ “ถ่อมตน” คือวัฒนธรรมที่ชาวญี่ปุ่นถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจะแนะนำใครให้รู้จักลูกของพวกเขา จะพูดว่า “นี่คือลูกที่ไม่เอาไหนของเรา” แต่คำแปลที่คนญี่ปุ่นด้วยกันฟังออกก็คือ “นี่คือลูกที่พวกเขาภูมิใจมาก” ยิ่งเป็นสังคมที่ระแวดระวังและมีขนบในการอยู่ร่วมกันอย่างมาก ความอ่อนน้อมจึงกลายเป็นความอ้อมค้อมได้ไม่ยากเย็น เรารู้กันดีว่าในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ยิ่งอ้อมค้อมเท่าไรยิ่งสุภาพมากเท่านั้น ยิ่งถ่อมตนเท่าไหร่ก็ยิ่งสูงส่งไปในตัว พวกเขารู้จักละอายที่จะคุยโวโอ้อวด พวกเขาละอายที่จะทำสิ่งที่คนในสังคมไม่ยอมรับ สิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังอยู่ในจิตใจของคนญี่ปุ่น ถ้าเทียบกับหลักของศาสนาแล้วนี่ก็คือหลัก “หิริโอตตัปปะ” ความเกรงกลัวและละอายต่อบาปและความชั่วนั่นเอง การปลูกฝังสิ่งนี้ให้ผู้คนจึงทำให้คนญี่ปุ่นมีความเคารพในกฎหมาย กฎหมายจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ และยิ่งตั้งกฎหมายให้เข้มงวดยิ่งทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์เท่าทวี ทุกอย่างทุกขั้นตอนของการทำงานไม่ว่ารัฐหรือเอกชน มีกฎหมายครอบคลุมเอาไว้ และถ้าใครฝ่าฝืนบทลงโทษอย่างจริงจังก็มีและไม่เคยปราณีใครดุจดาบคาตานะของซามูไรที่พร้อมจะฟาดฟันผู้กระทำผิดให้สิ้นชีพไปในดาบเดียว
ดูเขาแล้วย้อนมองบ้านเรา
ที่กล่าวมาใช่ว่าบ้านเมืองไทยเราจะไม่มี การปลูกฝังเรื่องของศาสนา การสอนเรื่อง “หิริโอตตัปปะ” บ้านเราก็มี กฎหมายบ้านเราก็มีเช่นกัน แต่สิ่งที่เพี้ยนไปจากญี่ปุ่นก็คือ เมื่อก่อนผู้ใหญ่สอนเด็กให้รู้จักหิริโอตตัปปะ แต่ปัจจุบันผู้ใหญ่สอนเด็กต่อท้ายไปด้วยว่า “ด้านได้ อายอด” กฎหมายมีแต่เป็นแค่เสือกระดาษ เพราะผู้เขียนมันก็เอาแต่แก้มันและฉีกมันอยู่ทุกปี อีกทั้งผู้ที่จะบังคับใช้ก็ถูกปลูกฝังมาแล้วว่า “ด้านได้ อายอด” ฉะนั้นอย่าเถรตรงนักเลย เพราะไม่งั้นก็อดน่ะสิ นี่คือวิถีไทยๆ การปราบคอรัปชั่นแบบไทยๆ ซึ่่งก็ไม่น่าแปลกใจที่คอรัปชั่นไม่มีวันหมดหรือน้อยลงไปเลยในบ้านเรา