ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามแนวคิดและนโยบายภาครัฐไม่ได้ส่งผลต่อ GDP มากนัก ถ้าจะปรับก็ลดลงก็เพียง 0.02% เท่านั้น แต่ที่น่าห่วงมากกว่าจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคือ SME ที่จะต้องรับภาระหนักขึ้น จึงแนะให้รัฐคิดหามาตรการช่วยเหลือในด้านอื่นอย่างการลดหย่อนภาษีให้กับกลุ่ม SME จะได้เป็นการบรรเทาภาระต้นทุน

     หลังจากมีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ออกมาอย่างเป็นทางการว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำในทุกจังหวัดประจำปี 61 มาอยู่ในช่วง 308-330 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน) จากอัตรา 300-310 บาทต่อวันในปี 60 (เฉลี่ย 305.44 บาทต่อวัน) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป และจังหวัดที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องนี้ส่วนใหญ่อยู่ในโซนเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการดึงดูดแรงงานที่พอจะมีทักษะฝีมือให้เคลื่อนย้ายมาทำงานในโซนเศรษฐกิจดังกล่าวมากขึ้น อนึ่งก็จะได้เป็นการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนไปในตัว และในส่วนของจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่น้อยที่สุดที่ 308 บาทต่อวันนั้นจะเป็นกลุ่มจังหวัดที่ผู้ประกอบการต่างๆเข้าไปลงทุนยังไม่มาก ซึ่งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาเพียงเล็กน้อยก็จะช่วยให้ค่าแรงสอดคล้องกับรายจ่ายในชีวิตประจำวันของแรงงานมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการจูงใจแรงงานให้เข้ามาทำงานมากขึ้นด้วย

     เมื่อประกาศนี้ออกมาผลต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ก็สะเทือนอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.4 % สำหรับธุรกิจใหญ่มีกำลังมากสายป่านยาวก็ยังพอหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ โดยเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรแทนคน ซึ่งก็เรียกว่าไม่กระทบต่อธุรกิจมากนัก แต่สำหรับ SME แล้ว ถือว่าหนักพอสมควร เพราะกำลังทรัพย์นั้นน้อยกว่า ไม่มีเงินทุนมาก จะลงทุนกับเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ไม่ได้

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงชี้ว่าภาครัฐน่าจะออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า ก็น่าจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนบางส่วนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้

     งานนี้ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า ใครจะอยู่ใครจะไป ในสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศแบบนี้ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กทั้งหลายก็ควรพิจารณาเรื่องการลงทุนไว้ให้ช้าสักนิด เพื่อดูแนวทางและความชัดเจนต่างๆของรัฐบาลจะได้ปลอดภัยมากขึ้น