เรื่องของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบกับปัญหาของสุขภาพของคนเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศด้วย ปัญหานี้จึงเรียกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่เราคนไทยคนตระหนักและร่วมมือกันคนละเล็กละน้อยในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่ในบางพื้นที่เช่นภาคเหนือประสบอยู่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว/แล้ง สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ปัญหานี้ก็เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 จากนั้นสถานการณ์ก็คลี่คลายขึ้น จนกระทั่งช่วงปลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองPM 2.5เกินมาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ
1.) ค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละอองไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพ ทั้งนี้แม้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น
2.)ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละอองทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวจากเดิมที่มีแผนจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นของไทย อย่างไรก็ตามจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่สามารถปรับแผนการเดินทางได้ เปลี่ยนเส้นทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นแทน ในกรณีหลังนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งล่าสุดสื่อต่างประเทศก็เริ่มมีการกล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองในไทยหลังจากที่กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโลก
โดยสรุปแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว ในเบื้องต้นอาจคิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณคือไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561