องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นวีเมน-UNWOMEN) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันทำการศึกษาวิจัย คดีข่มขืน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและเวียดนาม คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อผู้หญิงยังมีสัดส่วนที่สูงอยู่มาก ทั้งสังคมยังเพิกเฉยต่อความรุนแรง และผู้กระทำผิดยังลอยนวล ภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงถึง 38% เมื่อเทียบกับทั้งโลก และผู้หญิงกว่า 30% ในโลกเคยมีประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรง โดย 80% ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเลือกที่จะไม่บอกกล่าวหรือเปิดเผย โดยมีปัจจัยหลายประการด้วยกัน เช่น ความอับอาย หรือถูกข่มขู่ เนื่องจากประเด็นเรื่องเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นั่นจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาว่า การข่มขืนไม่ได้เป็นเพียงอาชญากรรมเท่านั้น แต่มันกลายเป็น “วัฒนธรรม” อย่างหนึ่งไปแล้ว

     ดังนั้นเราจึงต้องตั้งคำถามตั้งแต่กระบวนการทางยุติธรรม การป้องกันการเกิดอาชญากรรมไปจนถึงหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาคดี

มายาคติเรื่องการข่มขืน

     “มายาคติ” หรือ ความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมข่มขืน ถ้าลองสืบค้นเรื่องนี้ จะพบว่าแต่ละประเทศต่างก็มีข้อมูลอันไม่เป็นจริงเกี่ยวกับการข่มขืนที่ผู้คน “พร้อมใจกันเชื่อ” แทบทั้งนั้น และที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลเหล่านั้นสอดคล้องกันอย่างประหลาด บทความ “ข่มขืน ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย” ของรศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ได้มีการสรุปมายาคติที่เกี่ยวกับการข่มขืนไว้ได้อย่างน่าสนใจ 5 ประการ ดังนี้

1.ผู้ชายที่ข่มขืนมีความผิดปกติทางจิตหรือเป็นคนชั่วร้าย

1510591211     เมื่อมองว่าผู้ชายที่ข่มขืนเป็นคนที่มีความผิดปกติ เป็น “เดนนรก” สัตว์ร้าย หื่นกาม หรือ วิปริต ก็เท่ากับเป็นการจำกัดให้การข่มขืนเป็นปัญหาเฉพาะผู้ชายบางคนเท่านั้น แทนที่จะมองปัญหาในภาพใหญ่ อย่างปัญหาเชิงอำนาจโครงสร้าง ระบบความเชื่อหรือวัฒนธรรม

ทาสหญิงไทย

ความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของผู้ชายมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

     การ “เชื่อ” อย่างนี้ ทำให้คนไทยลืมนึกถึงสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการข่มขืน เช่น ลืมนึกไปว่าโดยพื้นฐาน ชายไทยจำนวนมากมองว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของผู้ชาย ซึ่งแปลว่าสามารถทำอะไรกับสมบัติชิ้นนั้นก็ได้ หรือแม้แต่การเชื่อว่าความต้องการทางเพศของผู้ชายต้องได้รับการระบายออกและการรองรับ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยอมรับได้ที่ผู้ชายจะซื้อบริการทางเพศ หรือแม้แต่…ข่มขืน

     แต่เมื่อมาดูสถิติกันอย่างจริงจัง อาทิ สถิติจากการศึกษาของ UNWOMEN ที่ทำรายงานชื่อ Why Do Some Men Use Violence Against Women โดยศึกษาผู้ชาย 10,000 คน ระหว่างปี 2010 – 2013 จาก 6 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ศรีลังกา และปาปัวนิว กินี กลับพบว่า “ผู้ชายธรรมดาๆต่างก็เคยข่มขืนผู้หญิงมาแล้วทั้งนั้น”

2.การข่มขืนเกิดเพราะผู้หญิงยั่วยุให้เกิดการกระทำ

sexual-assault-series-1_yana-mazurkevich_4     มายาคติข้อนี้ทำให้นึกถึงคำว่า Victim Blaming หรือ ปรากฎการณ์ที่ผู้เสียหายจากการข่มขืนถูกกล่าวหาว่ามีส่วน หรือเป็น “ต้นเหตุ” ที่ทำให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ การกล่าวโทษเหยื่อ

     ประโยคคุ้นหูที่มักได้ยินกันก็คือ “ใส่สั้นขนาดนั้น คนที่เห็นไม่รู้สึกก็แปลกแล้ว” หรือ “ก็ไม่เห็นจะแปลกเลย ในเมื่อแต่งมาเพื่อยั่วแบบนั้น ใครเห็นก็ต้องขึ้น” หรือ “รู้ทั้งรู้ว่าเปลี่ยว มืด แต่ก็ยังจะไปเดิน”

     และนั่นคือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังได้รับทราบข่าวข่มขืน ผู้เสียหายไม่ได้รับความเห็นใจ ทว่ากลับถูกตั้งคำถามและข้อสงสัยถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะควรที่ผู้คนเชื่อว่าจะนำไปสู่การข่มขืน ยิ่งสำหรับผู้หญิงไทยซึ่งมี “มาตรฐานความดีงาม” อันสูงส่ง คอยเป็นกรอบควบคุมความพฤติกรรมอยู่ด้วยแล้ว อะไรที่ทำก็จะดูผิดไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางยามค่ำคืน หรือการแต่งตัวเซ็กซี่ตามรสนิยมและความพึงพอใจส่วนตัว

     การแต่งตัวของผู้หญิงกับการถูกข่มขืน นับเป็นตัวแปรที่คนทั่วไปในหลายสังคมเชื่อว่าเกี่ยวข้องกัน โดยทั่วไปที่ว่านั้นหมายความว่าถึงทั้งตัวผู้เสียหาย และไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่หลักในการมองหาความยุติธรรมให้เหยื่อ

     เมื่อปี 2013 เรื่องของการแต่งตัวกลายเป็นประเด็นร้อนในอังกฤษ เมื่อ Richard Graham นักกฎหมายให้สัมภาษณ์กับหนังสือฉบับหนึ่งว่า “ถ้าคุณเป็นผู้หญิงอายุยังน้อย กำลังเดินกลับบ้านตามลำพัง ผ่านสวนสาธารณะในเวลาเช้า คุณใส่กระโปรงสั้นรัดรูป รองเท้าส้นสูง ที่นั่นมีนักล่าอยู่ และในขณะเดียวกัน คุณก็ไม่ค่อยมีสติเพราะดื่มหนักมาเมื่อคืน การใส่เสื้อผ้าในชุดแบบนั้นและในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงแบบนั้น หากเกิดเหตุขึ้นคุณจะหนีได้อย่างไร”

     แม้ตอนหลังเกรแฮมจะออกมาให้ข่าวว่า เขากำลังพูดถึงเรื่อง “การบริหารความเสี่ยง” อยู่ต่างหาก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาถูกด่าน้อยลง

woman-portrait-girl-color-rape     ใกล้ตัวเข้ามาหน่อยก็คือตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ได้กล่าวถึงกรณีที่สองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกฆาตกรรมเสียชีวิตที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า “เขาเข้าใจว่าบ้านเมืองเราเนี่ยสวยงาม ปลอดภัย ทำยังไงก็ได้แต่งบิกินีไปไหนก็ได้ ผมถาม แต่งบิกินีประเทสไทยเนี่ยจะรอดไหม เว้นแต่ไม่สวยละนะ” แม้จะเป็นคำพูดติดตลกซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องออกมากล่าวขอโทษในเวลาต่อมา แต่คำพูดดังกล่าวก็ทำให้หลายองค์กร ทั้งไทยและเทศ ออกมาแสดงความไม่พอใจกันเป็นอันมาก

     ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผลการวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นแล้ววาการแต่งตัวโป๊ หรือยั่วยวน ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการข่มขืน เพราะการข่มขืนไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ เช่น กรณีพ่อข่มขืนลูกสาวเพราะไม่พอใจแม่ที่ไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นต้นและถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การสร้างชาติและสงครามที่ผ่านๆมาของแต่ละประเทศ การข่มขืนหลายครั้งเกิดขึ้นและถูกใช้ในฐานะเครื่องมือการทรมาน ลงโทษ กดดัน สร้างความกลัวให้ฝ่ายศัตรู การแสดงออกซึ่งชัยชนะ และเป็นการเหยียดหยามและทำลายเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่า ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการยั่วยุทางเพศ แต่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่จะควบคุม แสดงอำนาจ และทำให้เหยื่อเจ็บปวด นอกจากนี้ ในงานวิจัยหามูลเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดการสัมภาษณ์ผู้ต้องหาที่ต้องโทษข่มขืนหลายชิ้น ก็ยังไม่มีคำตอบใดที่ระบุว่าเสื้อผ้าวับแวมเป็นเหตุให้เกิดการข่มขืนเลย ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น “ทำไมถึงตั้งคำถามกับผู้หญิง” ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ได้เกี่ยวกับความสวยหรือการแต่งตัว ถ้าจะกล่าวอย่างเป็นกลางที่สุด อาจจะต้องสรุปว่าการยั่วยุของฝ่ายหญิงนั้นมีส่วนที่ทำให้เกิดการข่มขืนขึ้นจริงแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก และไม่ควรเหมารวมว่าการข่มขืนที่เกิดขึ้นในทุกๆกรณีเกิดเพราะฝ่ายหญิงยั่วยุ

3.การข่มขืนต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความรุนแรง

rape-victim     หลายคนเชื่อว่า เราจะสามารถเรียกเหตุการณ์ใดๆว่าข่มขืนได้ ก็ต่อเมื่อผู้ถูกกระทำมีร่องรอยจากการต่อสู้ป้องกันตัวเอง มีบาดแผล มีรอยฟกช้ำหรือเลวร้ายที่สุด คือ เสียชีวิต

     วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่อง “เหยื่อข่มขืนหญิงในโลกทัศน์ของพนักงานสอบสวนชาย” โดย วิชชุตา อิสรานุวรรธน์ ระบุว่า พนักงานสอบสวยชายเข้าใจว่าเหยื่อข่มขืนจะต้องมีบาดแผลตามร่างกาย รวมถึงเชื่อว่าการแต่งกายล่อแหลมมีส่วนส่งเสริมให้มีการข่มขืน

“ถ้าเกิดการข่มขืนจริงๆ ผู้เสียหายต้องมีบาดแผล หากการกระทำนั้นไม่ใช่การสมยอม ผู้เสียหายถูกผู้กระทำใช้กำลังบังคับและกด ผู้เสียหายก็ต้องมีบาดแผลนะ มันเป็นธรรมดาหากผู้เสียหายไม่ยอมและต่อสู้ก็ต้องมีรอยช้ำอะไรบ้าง ปรากฎขึ้นบ้าง” พนักงานสอบสวนคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับวิชชุตาเอาไว้

ไม่เฉพาะแต่สื่อและผู้รักษากฎหมายเท่านั้น แม้แต่ตัวบทกฎหมายเองก็ยังมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับความเชื่อนี้ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 ระบุไว้ว่า ถ้าเหตุข่มขืนกระทำชำเรา ไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ถือเป็นความผิดที่ยอมความได้(ส่วนเรื่องโทษถึงตายในเชิง ข่มขืนต้องประหาร ที่เคยมีการออกมาเรียกร้องกันนั้น จริงๆมีอยู่แล้ว แต่กฎหมายระบุให้เป็นโทษในกรณีทำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต) ซึ่งในงานวิจัยของวิชชุตาก็มีตัวอย่างคำสัมภาษณ์ของผู้เสียหายที่แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้ยกเอาข้อเท็จจริงที่ว่า คดีข่มขืนสามารถยอมความได้มาใช้ในการพูดคุยกับผู้เสียหายด้วย

รู้ไหมกรณีข่มขืนมันยอมความได้ และยิ่งบวกกับอายุหนูเกิน 18 แล้ว เรื่องมันยิ่งไปกันใหญ่ เขาบอกว่าคดีนี้เหมือนแลกหมัดกัน ถ้าใครแกร่งกว่าก็ชนะ ถ้าคุณไม่ชนะเขา เขาก็ฟ้องกลับ เขาฟ้องกลับได้นะ

ความเชื่อที่ว่าการข่มขืนต้องเกิดขึ้นพร้อมความรุนแรงยังทำให้เราหลงลืมแง่มุมอื่นๆ ของการข่มขืนไป อาทิ ข้อเท็จจริงที่ว่า หลายครั้งผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงทางเพศก็มีเหตุผลมากมายที่ทำให้พวกเธอ “เลือก” ที่จะ “ยอม” เพื่อรักษาชีวิตของตัวเองในจุดเกิดเหตุแทนที่จะ “แลก” กับการถูกทำร้ายจนเสียชีวิต หรือบางครั้ง การที่ผู้ก่อเหตุมีอำนาจสูงกว่า เช่น เป็นเจ้านาย หรือบุคคลในครอบครัวก็อาจทำให้การขัดขืนไม่สามารถทำได้ง่ายนัก

     นอกจากนี้การที่วิธีพิจารณาความอาญาของประเทศเราใช้ ระบบ “กล่าวหา” ซึ่งหมายความว่า ผู้กล่าวหาหรือผู้เสียหายต้องเป็นผู้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง ก็แปลว่า ผู้ถูกกระทำต้องพยายามทุกวิถีทางในการหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าตนเองโดนข่มขืนจริง ซึ่งสำหรับกรณีที่ไม่ได้มีบาดแผล หรือร่องรอยการต่อสู้ให้เห็น การพิสูจน์ก็ยากขึ้นไปอีก นี่ยังไม่รวมความเลวร้ายต่างๆ ที่ผู้หญิงต้องเผชิญระหว่างการสืบสวนและพิจารณาคดี โดยมีความจำเป็นบังคับให้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

     นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิ ธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับความรุนแรงของไทยไว้ว่า เป็นกระบวนการที่ขาดความละเอียดอ่อน และทำให้ผู้เสียหายถูกละเมิดซ้ำ ทำร้ายซ้ำทางจิตใจ คำถามอย่าง “กางเกงในสีอะไร” “เห็นอะไรบ้าง” “ขนาดเป็นอย่างไร” รวมถึงการต้องบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง สร้างความรู้สึกขมขื่นแก่ผู้ถูกกระทำมากกว่า การถูกข่มขืนในครั้งแรกเสียอีก แม้ว่าตอนนี้จะมีความพยายามเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้เสียหายมากขึ้น ก็ยังไม่เป็นผล และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า หนึ่งในสถาบันที่ยึดเอามายาคตินี้มาเป็นฐานในการตัดสินอย่างสม่ำเสมอก็คือ สื่อมวลชน เพราะแทบทุกครั้งที่มีข่าวข่มขืนปรากฏขึ้นในสื่อ ข้อมูลที่ได้ยินได้เห็นต้องเป็นเหตุการณ์อันน่าสลด ที่เหยื่อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เสียชีวิต ไม่ก็เล่าถึงเหตุการณ์การต่อสู้ และวิธีการเอาตัวรอดอันน่าสนใจเสมอ เรียกได้ว่าน้อยมากที่เราจะได้เห็นเรื่องการข่มขืนในบริบทอื่นปรากฎในพื้นที่ของสื่อมวลชนไทย

มีต่อตอนหน้า