มาถึงตอนที่ 3 กันแล้ว สำหรับสกู๊ปพิเศษชิ้นนี้ มาว่ากันต่อถึงมายาคติหรือความเข้าใจผิดๆที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืน ที่รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ได้สรุปเอาไว้ 5 ข้อ ในตอนที่แล้วเราได้กล่าวไปแล้ว 3 ข้อ(อ่านย้อนหลังตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ) ครั้งนี้ต่อกันที่มายาคติข้อที่ 4 กันเลย

4.จะเรียกว่าการข่มขืนก็ต่อเมื่อถูกกระทำโดยชายแปลกหน้า

Rape22     สำหรับบ้านเรา ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ข่มขืนและผู้ถูกข่มขืน คือหนึ่งในหลักที่จะช่วยตัดสินว่าการบังคับร่วมเพศนั้นเป็นการข่มขืนหรือไม่ โดยก่อนที่กฎหมายจะได้รับการแก้ไขเช่นในปัจจุบัน ถ้าสามีข่มขืนภรรยา การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เป็นความผิด

      แนวคิดเช่นนี้เป็นผลมาจากการมองว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของผู้ชาย ทั้งบิดาและสามี รวมถึงการมองว่าครอบครัวเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรืออาณาบริเวณส่วนตัวที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ ซึ่งแนวคิดนี้ยังช่วยอธิบาย ประโยคที่คนไทยคุ้นหูกันว่า “เรื่องของผัวเมีย…คนอื่นไม่เกี่ยว” ได้อย่างดี แต่สิ่งที่ย้ำความสำคัญในมายาคติข้อนี้ก็คือ ทำให้กรณีที่หญิงชายที่ไม่ได้แต่งงานกัน แต่เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันมาก่อน ในทำนองถูกบังคับให้ร่วมเพศ ต้องถูกละเลยไปอีกด้วย สำหรับสถิติเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดนั้นมีออกมาให้เห็นมากมาย แทบทุกชิ้นที่ผ่านตา ต่างก็เป็นข้อมูลที่ช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า ความเชื่อที่ว่าการข่มขืนต้องกระทำโดยชายแปลกหน้า เป็นเพียงมายาคติจริงๆ

     รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เคยนำเสนอผลงานการวิจัยที่ได้รับจากการรวบรวมข่าวที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืน ทั้งไทยและต่างประเทศที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ไทย ระหว่างปี 2541 – 2553 จำนวนกว่า 10,000 ข่าวโดยบอกว่าผู้กระทำความผิดมักเป็นคนรู้จัก คุ้นเคย และใกล้ชิด ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดที่มีการข่มขืนในสายเลือดอย่างต่อเนื่อง ซ้ำซาก ก็คือ 17 ปี และ 89 % ของผู้ถูกข่มขืนในสายเลือดยังคงเป็นเด็ก

rape025

5.จะถือว่าเป็นการข่มขืนก็ต่อเมื่ออวัยเพศชายถูกสอดใส่ไปที่อวัยวะเพศหญิงเท่านั้น

brockpic1_trans_NvBQzQNjv4BqnQSfWb85vljghMlIYmeE7YTnD47p1suUoUqRntLZvXA     โดยทางสากลทั่วไปในโลกนี้ มักไม่ได้มีการตีความแบบนี้เสมอไป ถ้าจะกล่าวให้ชัดก็คือ มายาคติข้อนี้นั้นเกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ศาลและกระบวนการยุติธรรมของไทยเราเองที่ตีความออกมาแบบนี้ ซึ่งเราต้องมองกันตามความเป็นจริงว่า เรื่องของการข่มขืนมัน “วิปริต” กว่าที่เราคิด  การบังคับร่วมเพศทางปากหรือทางทวารหนัก รวมไปถึงการใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างอื่นในการล่วงละเมิด จริงๆแล้วก็ควรถูกนับว่าเป็นการถูกข่มขืนด้วยเช่นกัน แต่การพิจารณาในชั้นศาลในกรณีคดีข่มขืนของบ้านเรา ประเด็นเหล่านี้ยังถือว่าอ่อนมาก นั่นทำให้ศาลมักตีความว่า เมื่อไม่สอดใส่ด้วยอวัยวะเพศก็ยังไม่ถือว่าเป็นการข่มขืน

     นี่คือมายาคติทั้ง 5 ข้อที่ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ได้สรุปเอาไว้ ซึ่งแม้ข้อสรุปนี้จะล่วงเลยผ่านมานานกว่า 20 ปี แล้วเราก็จะเห็นได้เลยว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ “ข่มขืน” ยังไม่เป็นแปลงไปไหนเลย ทัศนคติของผู้คนต่อเหยื่อและการข่มขืนยังเหมือนเดิม โลกก้าวหน้าไปเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ความคิดและจิตใจของเราที่มีต่อเรื่องนี้ 20 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เขยิบไปไหนเลย

     นอกจากมายาคติทั้ง 5 ข้อดังกล่าวแล้ว ยังมีมายาคติที่สำคัญอีก2อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลให้ภาพรวมของการกระทำความรุนแรงทางเพศในเมืองไทยไม่ดีขึ้นเสียที

ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเป็นผู้หญิงไม่ดี

rape20160429_630_630     ความที่ในสังคมไทยให้ค่ากับผู้หญิงที่ยัง “บริสุทธิ์” ในทุกกรณี สตรีไทยถูกสอนมาเสมอว่าการเป็นผู้หญิงที่ดีจะต้องรักนวลสงวนตัว เลี่ยงที่จะไม่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่ไม่ใช่สามีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล ดังนั้น ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ผู้ที่ “มีอะไร” กับบุคลที่ไม่ใช่สามีจึงถูกมองว่ามีตำหนิ ราคี และมีคุณค่าน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นอีกครั้งที่วิทยานิพนธ์ของวิชชุตาสะท้อนเรื่องนี้ออกมาให้เห็นชัดเจน ในการให้ความหมายของ “หญิงที่ตกเป็นเหยื่อข่มขืน” ผู้หญิงที่โดนกระทำความรุนแรงทางเพศมักมองว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี มีมลทิน และไร้ค่า โดยความคิดเช่นนี้ถูกหล่อหลอมมาจากการที่สังคมกำหนดเพศสภาพและหน้าที่ของหญิงชายไว้

ตอนแรกหนูก็มีความคิดประมาณว่าเราก็คิดว่าเราไม่ใช่คนดีอะไรนี่ รับเงินไปดีกว่าไหม รับเงินสัก 2 หมื่น เอาเงินไปเก็บดีกว่า มันยังรู้สึกว่าได้อะไรบ้าง อีกอย่างตอนเกิดเหตุเราก็เมา ถ้าสู้คดีไปอาจจะแพ้ก็ได้ แต่อีกความรู้สึกลึกๆแล้วหนูก็รู้สึกนะว่า หนูมีค่าแค่นี้เหรอ แค่เงิน2 หมื่นแล้วแลกกับอนาคตของหนู ชีวิตหนูจะต้องดับลงตรงนี้เหรอ

 

เพื่อนที่ทำงาน ถ้าเขารู้ เขาต้องมองว่ามันเหมือนเป็นสิ่งไม่ดี กลัวคนอื่นมองว่าเราเป็นคนไม่ดี ก็เลยยังไม่บอกใคร ตอนแรกไม่มีใครในสาขาคุยกับหนูเลย คือ เขาไม่รู้ว่าความจริงเป็นแบบไหน เพราะเขาได้ยินจากผู้ชายอย่างเดียว รู้สึกท้อมากๆ มันรู้สึกแย่ คือมันรับไม่ได้ ไม่อยากอยู่แล้ว

     ตัวอย่างคำพูดของผู้ถูกกระทำทั้ง 2 คนที่ให้สัมภาษณ์กับวิชชุตา สะท้อนให้เห็นปัญหาต่อเนื่องจากความรู้สึกที่ผู้หญิงมีต่อตัวเอง นั่นคืออาจนำไปสู่การยอมความ หรือการไม่นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็จะส่งผลให้ผู้กระทำผิดลอยนวล และไม่ต้องรับการลงโทษในสิ่งที่ตัวเองก่อ ในขณะเดียวกัน ความเชื่อแบบเดียวกันนี้ ก็ยังคงมีอยู่ในตัวของพนักงานสอบสวนชายด้วย

“ส่วนใหญ่ก็จะเต็มใจทั้งนั้น ฟังจากคำพูดคำจา น้อยมากที่จะถูกฉุดกระชากลากเข็น ส่วนมากที่ฟังจะเต็มใจ บางคนมีสามีมาแล้ว บางคนเคยผ่านผู้ชายมาแล้ว คนไม่เคยก็จะรู้สึกอายบ้าง คนที่เคยผ่านผู้ชายมาก็จะพูดหมดแบบไม่อาย กรณีถูกข่มขื่นจริงๆเลยมันค่อนข้างน้อย ที่ผ่านมาประเภทวาเลนไทน์ไปกับแฟนแล้วไปมีอะไรกันก็เจอมาแล้ว พอมีอะไรกันแบบไม่คาดคิด ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป จิตตก ซึมเศร้า พอแม่จับได้ก็พากันไปแจ้งความ”

นี่คือความเชื่อของพนักงานสอบสวนชาย แต่ทางฝั่งผู้ถูกกระทำ ความคิดกลับตอกย้ำเข้าไปในความเจ็บปวดที่อยู่ลึกภายในใจ มีเหยื่อผู้เสียหายคนหนึ่งในกรณีถูกข่มขืนเคยกล่าวไว้ว่า

“ฉันเป็นหนึ่งที่ต้องผ่านเรื่องร้ายๆแบบนั้นมา มันเป็นเรื่องยากสำหรับฉันที่จะเอาชนะความรู้สึกอับอาย ความรู้สึกว่าร่างกายของฉันสกปรก มันยากเหลือเกินในการที่ฉันจะต้องอธิบายให้ตำรวจชายฟัง ฉันถูกพวกผู้ชายรุมโทรมและฉันยังต้องเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พวกผู้ชายฟังอีกหรือ ? …”

นี่คือความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของเจ้าหน้าที่ที่ต้องให้ความยุติธรรม กับ ผู้ที่ต้องเป็น “เหยื่อ” ของการกระทำที่ไร้จิตสำนึก

ยิ่งกำหนดโทษไว้รุนแรงเท่าไหร่ ผู้คนจะทำความผิดน้อยลงเท่านั้น

Stop-Rape-2     อีกหนึ่งมายาคติที่ผิดมหันต์ เพราะเราจะเห็นได้แทบทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญเกี่ยวข้องกับการข่มขืน ผู้คนมักออกมาเรียกร้องให้เพิ่มโทษสำหรับผู้กระทำผิดให้รุนแรงขึ้น ที่เห็นกันเสมอก็คือ การเรียกร้องให้ตัดสินโทษประหารชีวิตกับผู้ข่มขืนในทุกกรณี แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่ส่งผลให้การทำผิดลดลงนั้นไม่ใช่ความรุนแรงของโทษที่จะได้รับ แต่กลับเป็นประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบมากกว่า กล่าวง่ายๆก็คือ “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่ปัญหาอยุ่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย” คนจะทำความผิดน้อยลงก็ต่อเมื่อ ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและมีความยุติธรรมเท่านั้น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 มีการเสวนา “ความรุนแรงซ้ำซ้อน : ข่าวข่มขืนกับสิ่งที่สังคมมองข้าม” ซึ่งมีบทสรุปที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า

การศึกษาทางอาชญวิทยาพบว่า การเพิ่มโทษไม่ได้ส่งผลให้การกระทำผิดลดลง แต่สิ่งที่มีผลคือ เมื่อผู้มีแนวโน้มจะกระทำผิดรับรู้ว่าหากตนเองกระทำความผิดแล้วโอกาสที่จะถูกจับและลงโทษมีสูงมาก เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ให้มีหลักประกันว่าผู้กระทำผิดมีโอกาสถูกจับตัวมาลงโทษสูง รวมถึงปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ให้มีความละเอียกอ่อนในการจัดการคดีความรุนแรง และเร่งรัดการดำเนินคดีให้รวดเร็วแทนที่จะใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะพิจารณาคดีข่มขืนเสร็จ

“หากสังคมยังไม่ปรับทัศนคติต่อผู้เสียหายและไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ผู้เสียหายจำนวนมากจะไม่เข้าแจ้งความ และผู้กระทำผิดจะลอยนวล และมีโอกาสทำผิดซ้ำ” ดร.วรากรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนการส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศได้อธิบายไว้ในงานเสวนาครั้งนั้น

     นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมายาคติเกี่ยวกับการข่มขืนที่ครอบสังคมไทยอยู่เท่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพกว้างใหญ่เห็นเลยว่าวัฒนธรรมข่มขืนยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมไทย และคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจและจับประเด็นที่ควรจะให้ความสำคัญยังไม่ถูก

สื่อ กับอิทธิพลแห่งมายาคติประเด็นข่มขืน

Sexual_objectification001     เราต้องยอมรับว่า “สื่อ” ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าวทีวี หนังสือพิมพ์หรือ สื่อออนไลน์ก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนมีพลังและอิทธิพลที่ทำให้ผู้รับสารมีความคิดและพฤติกรรมต่อเรื่องของการข่มขืนเป็นแบบปัจจุบัน คือ สนใจเป็นพักๆแล้วก็หายไป ไม่เกาะติดไม่สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และบางทียังเล่นประเด็นแบบตอกย้ำความเสียใจของผู้เสียหายแบบไม่เกรงใจ เน้นสนุกเอามันส์ และขอให้ข่าวขายได้เป็นพอ นั่นเรียกว่าแย่แล้ว แต่ที่จริงยังแย่กว่านั้น เพราะสื่อต่างๆต้องมีการโฆษณา การข่มขืนถูกเปลี่ยนบทบาทจากอาชญากรรมทางสื่อ กลายมาเป็นงานโฆษณาได้ด้วย ซึ่งถ้าแบบนี้ไม่เรียกวัฒนธรรมข่มขืน ก็ไม่รู้จะเรียกอย่างไรแล้ว

Sexual_objectification002

Sexual_objectification003

Sexual_objectification004

Sexual_objectification005

Sexual_objectification006

Sexual_objectification007

Sexual_objectification008     โฆษณาที่ปรากฎด้านบนเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า การข่มขืนกลายเป็นเรื่องธรรมดาและกลายเป็นวัฒนธรรมคู่กับมนุษย์ไปแล้ว เพราะโฆษณาเหล่านี้ส่อไปในทางใช้ผู้หญิงเป็น “วัตถุทางเพศ” โฆษณาเหล่านี้สื่อออกมาให้เรารู้สึกกันว่าผู้หญิงเป็นเพียง “สิ่งของ” หรือ “สินค้า” ที่มีประโยชน์ในฐานะสิ่งช่วยสร้างความสุขทางเพศ โดยปราศจากการเห็นคุณค่าหรือให้เกียรติใดๆ หนึ่งในวิธีดูง่ายๆ เวลาเห็นโฆษณาที่จะส่งไปในเรื่องทำนองนี้หรือไม่ คือ ให้คุณลอง “ปิด” ผู้หญิงในโฆษณาไป แล้วดูซิว่าสินค้าที่อยากขายน่ะยังขายได้ไหม โดยไม่ต้องมีผู้หญิงมาทำท่าทางไม่จำเป็นอยู่ข้างๆ

     จากฉากข่มขืนในละครเรื่อง “ล่า” นำมาสู่สกู๊ปพิเศษ 3 ตอนนี้ เราหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นเตือนพี่น้องชาวไทย ให้กันมาใส่ใจกับวัฒนธรรมข่มขืน ขอให้ช่วยกันมองเรื่องนี้เสียใหม่ พยายามอย่านิ่งเฉยกับเรื่องของการข่มขืน อย่าทำให้ “อาชญากรรม” กลายเป็น “วัฒนธรรม” กันเลยนะ

อ้างอิง:

บทความ Rape Myths and Sexual Assault โดย Southern Arizona Center Against Sexual Assault

บทสรุปการเสวนา “ความรุนแรงซ้ำซ้อน : ข่าวข่มขืนกับสิ่งที่สังคมมองข้าม”

thaipublica.org, bbc, teenpath, chaisuk.wordpress

ภาพประกอบบางส่วนจาก Google