จากการที่มีราชกิจจาฯเกี่ยวกับเรื่องการห้ามใช้ไขมันทรานส์ ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต่างๆ จึงเริ่มที่จะหาวิธีปรับตัวกับต้นทุนที่สูงขึ้น ด้านอย.เขาจริงในเรื่องนี้คุมเข้มเรื่องไขมันทรานส์ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจการส่งออกอาหารในบ้านเรา และเป็นการปรับตัวเพื่อให้สอดรับเทรนด์โลก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการนี้เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยให้ระยะเวลาผู้ประกอบการในการปรับปรุงกระบวนการผลิต 6 เดือน นับจากวันที่ 13 มิถุนายน 2561 เรื่องนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเป็นการบังคับผู้ประกอบการให้แบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากการที่ต้องเปลี่ยนวัตถุดิบในการประกอบอาหารโดยที่ยังต้องคงรสชาติไว้เช่นเดิม แต่ในระยะยาวแล้วประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์แบบนี้ จะส่งผลดีต่อประเทศไทยและคนไทยในหลายๆด้าน อย่างเรื่องสุขภาพของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง และเรื่องของการส่งออกอาหารก็ได้อานิสงค์ไปด้วย เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลเรื่องนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็ได้มีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมแล้ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกอาหารไทย

WHO-Trans-Fatty-Acids-696x392ลองมาดูเรื่องนี้ในต่างประเทศกันบ้าง อย่างสหรัฐอเมริกาออกประกาศบังคับใช้เรื่องไขมันทรานส์เมื่อ 3 ปีก่อน แต่ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 3 ปีเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง นอกจากนั้นแล้วยังมีแคนาดา, เดนมาร์ก, จีน ที่มีกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้ แคนาดาบังคับใช้เมื่อปี 2548 กำหนดให้มีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมไม่เกิน 0.2 กรัม แต่ในอาหารทั่วไปของแคนาดาต้องน้อยกว่า 2% ของไขมันทั้งหมดที่อยู่ในน้ำมัน จีนบังคับใช้ปี 2556 กำหนด 0.3 กรัมต่อ 100 กรัม สำหรับประเทศไทยอาจให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวน้อยไปสักหน่อยก็จริง โดยให้เวลาปรับตัวอยู่ที่ 6 เดือน แต่ถ้ามองกันให้ดีแล้วเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสียแน่นอน ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ เมื่อประเทศหนึ่งแบนการใช้ไขมันทรานส์ จะส่งผลให้มีสินค้าที่ผลิต โดยมีส่วนผสมของไขมันทรานส์จากประเทศนั้นทะลักมายังประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายของไทยขณะนี้จึงเป็นการป้องกันไม่ให้มีใครนำเข้าสินค้าที่มีส่วนผสมไขมันทรานส์เข้ามา เพราะทำตลาดภายในประเทศไม่ได้

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็จริงจังกับเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด โดยล่าสุด ได้เชิญสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเข้าไปหารือเพื่อออกมาตรการกำกับดูแลว่า เบื้องต้นจะกำหนดข้อความบนฉลากอย่างไร จะกำหนดสัดส่วนไขมันทรานส์อย่างไร บางส่วนเห็นว่า ควรกำหนดให้ทำแบบฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือกำหนดแบบกระทรวงสาธารณสุขใช้น้ำตาล น้ำมันไม่เกินกี่ช้อน เป็นต้น