ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้มีการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยที่มีการซื้อขายในปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่าและพบว่ามีมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯ 576,396 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 113,280 ล้านบาท หรือเกือบ 20% ถูกซื้อโดยชาวต่างชาติ นั่นหมายความว่าอสังหาฯไทยยังคงแรง

Bangkok cityscape , Aerial view of Bangkok modern     อสังหาฯที่ชาวต่างชาติลงทุนซื้อไว้นั้นยังคงเป็นโซนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยตรงส่วนนี้มีมูลค่าในการซื้อขายสูงถึง 83,170 ล้านบาท จากมูลค่าการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั้งหมด 415,852 ล้านบาท ในปี 2560 หรือประมาณ 20% ของจำนวนทั้งหมด ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ฯได้กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่แล้ว การลงทุนอสังหาฯเน้นอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่ช่วงหลังๆมานี้ การซื้อขายจะเน้นหนักมาที่กรุงเทพฯ เพราะรัฐได้มีการเพิ่มการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน จึงดึงความสนใจนักลงทุนมากขึ้นในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดนั่นจากภาวะเศรษฐกิจด้วยส่วนหนึ่งจึงทำให้ซบเซาลงไป

     แต่ทั้งนี้พื้นที่ในต่างจังหวัดบางแห่งก็ยังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนอสังหาฯต่างประเทศอยู่ อย่าง พัทยา ถือว่าเป็นรองกรุงเทพฯแค่นิดเดียวมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 21,746 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 30% หรือ 6,524 ล้านบาท เป็นการซื้อขายโดยชาวต่างชาติ ถัดมาคือ ภูเก็ต ที่มีมูลค่าการซื้อขายรวม 18,161 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อขายของชาวต่างชาติ 5,448 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย การเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯในไทยมากขึ้นนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่จะต้องระวังจะได้ไม่คุ้มเสียเพราะตอนนี้เรายังไม่มีเรื่องข้อตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการขาดระบบฐานข้อมูลการซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยชาวต่างชาติจุดอ่อนตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้น จะส่งผลเสียได้ในอนาคต

     สำหรับแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในปี 61 นี้ สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เชื่อว่า ปี 61 นี้อสังหาริมทรัพย์ไทยยังมีโอกาสโตได้อีก เพราะคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ จะผุดขึ้นอีกมากและทิศทางการประกาศตัวเลขต่างๆ ด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งทำให้คนเริ่มกล้าใช้จ่ายและเป็นหนี้มากขึ้นในกรณีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ และคอนโดมิเนียมยังครองอันดับ 1 ในแง่ของจำนวนการซื้อขาย เพราะราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับบ้าน แต่อย่างไรก็ดีคนส่วนใหญ่ยังอยากได้บ้านมากกว่าคอนโด แต่เพราะรายได้ที่ไม่สอดคล้องจึงทำให้คนยังต้องเลือกซื้อคอนโดอยู่นั่นเอง

     อย่างไรก็ดีสุรเชษฐ กองชีพมองว่าคอนโดมิเนียมใหม่ตลอดแนวรถไฟฟ้าทั้ง 6 สายที่จะเกิดขึ้นใหม่จะไม่ได้มากเป็นดอกเห็ดอย่างที่ใครหลายคนคาดการณ์ไว้ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายเจ้าได้บทเรียนจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่คนใช้บริการน้อย เพราะไม่สะดวกในการต่อรถ แต่ในภาพรวมคอนโดจะขึ้นมากกว่าหมู่บ้านจัดสรร เพราะราคาที่ดินในบริเวณตามแนวรถไฟฟ้าจะสูงขึ้น จนผู้ประกอบการมองว่าถ้าซื้อมาทำหมู่บ้านจัดสรรจะไม่คุ้มนั่นเอง คอนโดจึงมากระจุกตัวอยู่ในเมืองตามแนวรถไฟฟ้า และบ้านของหมู่บ้านจัดสรรต่างๆไปกระจุกตัวอยู่ตามชานเมืองก็ด้วยเหตุนี้นั่นเอง