ตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซแข่งกันดุเดือดมากขึ้น Lazada – Shopee ผลประกอบการติดลบ แต่ขณะนี้ที่ 24 Shopping ของ ซีพี ออลล์ สวนกระแสกำไรดี ส่วน 11 street ขาดทุนยับเป็นพันล้านจนต้องขายหุ้นให้ทายาทเนสกาแฟ
ภาพรวมของตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซในขณะนี้ มีมูลค่าสูงถึง 2.8 ล้านล้านและเติบโตถึงปีละ 20-25% นับว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงและมีการปรับตัวไปตามแนวโน้มเทรนด์ของผู้บริโภค ซึ่งยิ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มว่าจะสนใจในการช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซแบรนด์ดังต่างๆตื่นตัว และพร้อมที่จะสู้ในสนามอย่างแข็งขัน แม้ว่าหลายเจ้าจะขาดทุนก็ยังไม่ยอมถอย
การเข้าซื้อหุ้น 11 street ของทายาทเนสกาแฟแรงกระเพื่อมอีกระลอกของอีคอมเมิร์ซ
11 street อีคอมเมิร์ซสัญชาติเกาหลีใต้ เป็นของบริษัทเอสเค เทเลคอม ยักษ์โทรคมนาคมเข้ามาทำตลาดในไทยได้ปีกว่า และทุ่มงบฯเฉียด 1,000 ล้านบาท ทำการตลาดอย่างหนักทั้งปูพรมโฆษณา ใช้พรีเซ็นเตอร์คนดังทั้งเกาหลีทั้งไทยพยายามผลักดันแต่อย่างไรก็ดูจะไม่เป็นผล ขาดทุนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ล่าสุดไม่อาจต่อสู้ในสนามแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เกมเข้มข้นมากๆได้ จึงขายกิจการให้ ‘นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ’ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ทายาทเนสกาแฟ ซึ่งการเข้าซื้อ 11 street ครั้งนี้ของนายเฉลิมชัย เป็นการซื้อในนามส่วนตัวและถือหุ้น 100% ซึ่งโอนหุ้นเรียบร้อยแล้ว และนายเฉลิมชัยได้มีแนวทางจะปรับกลยุทธ์ที่จะขึ้นมาสู่ในเวทีอีคอมเมิร์ซนี้อีกครั้ง โดยจะปรับรูปแบบใหม่ทั้งหมดทั้งชื่อแบรนด์และโมเดลธุรกิจ ซึ่งการเข้าซื้อ 11 street ครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการอีคอมเมิร์ซไม่น้อยเหมือนกัน ทุกค่ายต่างจับตาการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
Lazada – Shopee ขาดทุนแดงทั้งกระดาน
ด้านยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada และแบรนด์อีคอมเมิร์ซดาวรุ่งอย่าง Shopee ดูภายนอกเหมือนจะดีแต่เมื่อเจาะเข้าไปดูข้างในแล้ว ก็กอดคอพากันขาดทุน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลดำเนินงานของทั้ง 2 แบรนด์อีคอมเมิร์ซนี้ว่า Lazada ปี 2559 มีรายได้ 4,266 ล้านบาท ขาดทุน 2,115 ล้านบาท ปี 2560 (รอบบัญชีสิ้นสุดมีนาคม 2560) มีรายได้ 1,757 ล้านบาท ขาดทุน 568 ล้านบาท ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนถึง 4 ครั้ง จาก 4 ล้านบาท เป็น 7,000 ล้านบาท ส่วนทางด้าน Shopee ปี 2559 มีรายได้ 56,606 บาท ขาดทุน 528 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 139 ล้านบาท ขาดทุน 1,404 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน เป็น 50 ล้านบาท
ที่ดูจะสวนทางกับอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นๆก็คือ 24 Shopping ของ ซีพี ออลล์ ที่มีกำไรทำตลาดผ่าน 3 เว็บไซต์ www.24catalog.com, www.shopat24.com และ www.amulet24.com พบว่า ปี 2559 มีรายได้ 4,641 ล้านบาท กำไร 215 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 5,626 ล้านบาท กำไร 305 ล้านบาท ซึ่งทาง 24 Shopping ได้เลือกใช้กลยุทธ์ผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยดึงเอาฐานลูกค้าจากร้าน 7-11 ที่เป็นออฟไลน์เข้ามาสู่ระบบออนไลน์ จึงทำให้ฐานลูกค้าเติบโตต่อเนื่อง และตอนนี้ยังได้ขยายตลาดไปในอาเซียน โดยไปทดลองตลาดที่ลาว ซึ่งกระแสตอบรับก็ชี้ไปในทางบวกเช่นกัน
เซ็นทรัล JD ขอลงสนามสู้ในเดือนกันยายนนี้
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวถึงการร่วมทุนระหว่างเซ็นทรัล และเจดีดอทคอม เพื่อสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเว็บไซต์ JD.co.th ว่า บริษัทจะเปิดตัวเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ พร้อมความร่วมมือเปิดแพลตฟอร์ม อีโลจิสติกส์ในไตรมาส 4 และอีไฟแนนซ์ ในไตรมาส 1 ปี 2562 ซึ่งสิ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลมีก็คือฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ซึ่งอีคอมเมิร์ซหลายค่ายขาดสิ่งนี้ไป เมื่อต้องการจะสร้างฐานลูกค้าก็ต้องใส่เงินจำนวนมากลงไป แต่เซ็นทรัลมีฐานลูกค้าอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนหนัก นับเป็นจุดแข็งที่น่าสนใจของเซ็นทรัล ซึ่งทำให้หลายค่ายอีคอมเมิร์ซถึงกับหวั่นใจไม่น้อยเหมือนกัน
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่เปลี่ยนไป อีคอมเมิร์ซจึงเติบโตและมีการแข่งขันที่สูง แต่ใช่ว่าใครก็จะมาลงแข่งในสนามนี้ได้ เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซคือเวทีปราบเซียนจริงๆ