HIGHLIGHTS:

  • นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องแปลกใหม่ แต่จำเป็นต้องแตกต่าง
  • การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อก่อให้เกิดรายได้ให้กับตัวเอง ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องทำในสิ่งที่ยากและซับซ้อน ขอแค่คุณต้องหยิบประเด็นที่ใกล้ตัวคุณและผู้คนมาทำให้เกิดประโยชน์และแตกต่างเท่านั้น คุณก็จะได้นวัตกรรมที่ขายได้แล้ว

 

     ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยที่ผลิตนวัตกรของโลกและอาจเรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ก็ว่าได้ เพราะนวัตกรรมที่โลกยอมรับกันอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนถูกผลิตขึ้นจากไอเดียของเหล่าลูกศิษย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ทั้งนั้น คุณอยากรู้ไหมว่าที่นี่เขาสอนอะไรกัน

วิชาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม หลักสูตรที่ไม่มีในเมืองไทย

passion-creativity-     ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เปิดสอนอยู่สาขาวิชาหนึ่งที่น่าสนใจมากๆและหลักสูตรวิชานี้ก็ไม่ได้มีอยู่ในหลักสูตรมหาวิทยาลัยทั่วไป(ยิ่งบ้านเราก็ลืมไปได้เลย) วิชานั้นก็คือ วิชาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ในวันเปิดภาคเรียนอาจารย์ที่สอนวิชานี้เริ่มต้นสอนนักศึกษาด้วยโจทย์ที่ง่ายมาก นั่นคือ ให้พวกเขาออกแบบป้ายชื่อใหม่ อาจารย์ผู้สอนได้บอกนักศึกษาว่าไม่ชอบป้ายชื่อที่ทางมหาวิทยาลัยออกแบบมาให้นักศึกษาใช้กันอยู่นี่เลย ตัวหนังสือบนป้ายที่เล็กจนอ่านไม่ออก ข้อมูลที่อยากรู้ก็มีไม่ครบ แถมยังชอบห้อยโตงเตงแถวหัวเข็มขัด ดูขัดหูขัดตาชะมัด พออาจารย์ท่านนี้จุดประเด็นสะกิดต่อมเอ๊ะของนักศึกษาในชั้นขึ้นมา ก็เรียกเสียฮือฮาได้ทันที เพราะพวกเขาก็เริ่มเห็นด้วยกับอาจารย์เช่นกัน

Hanging-neck-label     ภายใน 15 นาที ทั้งชั้นก็ได้ป้ายชื่อแบบใหม่ พวกนักศึกษาบรรจงเขียนชื่อตัวโตลงบนกระดาษที่ตกแต่งสวยสด และใช้เข็มกลัดติดป้ายชื่อเข้ากับเสื้ออย่างเรียบร้อย ทุกคนพอใจที่แก้ไขปัญหาได้ลุล่วงและพร้อมจะทำโจทย์ข้อต่อไป แต่ยังหรอก เพราะอาจารย์ท่านนี้ยังมีโจทย์ปัญหาที่ท้าทายกว่านั้น อาจารย์ท่านนี้ให้นักศึกษาส่งป้ายชื่อที่นักศึกษาช่วยกันออกแบบมาใหม่นั้นให้กับเขา และทันใดนั้นพวกนักศึกษาก็ถึงกับตกตะลึงอ้าปากค้างกันเป็นแถวๆ แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เพราะอาจารย์ท่านนั้นได้ยัดเอาป้ายชื่อออกแบบใหม่นั้นใส่ลงไปในเครื่องทำลายเอกสารทันที ทุกสายตาในห้องนั่นจึงจับจ้องมองไปที่อาจารย์ท่านนั้นแบบเขม็ง ประมาณว่า “ไปโมโหใครมาเนี้ย” ขณะที่ทุกสายตาจ้องมองมา อาจารย์ท่านนั้นก็ทำลายความเงียบด้วยคำถามง่ายๆว่า

“ทำไมเราต้องมีป้ายชื่อ”

สะกิดให้รู้สึก ก่อนตบให้ตื่น

ID-Card-Bucksคำถามที่อาจารย์ถามนักศึกษาไปทำให้พวกนักศึกษารู้สึกทันทีว่า

“ถามอะไรไร้สาระ ไม่มีสมองเอาเสียเลย”

เพราะคำตอบก็รู้ๆกันอยู่ แน่นอนว่าต้องติดป้ายชื่อก็เพื่อให้คนอื่นเห็นชื่อเราน่ะสิ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ตอบสวนออกไป อาจารย์ท่านนั้นก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ เพียงแต่กวาดสายตาไปยังนักศึกษาทุกคน เพื่อให้พวกเขาตระหนักว่า “เริ่มหาคำตอบได้แล้ว” สักพักพวกนักศึกษาก็เริ่มที่จะตระหนักว่า “พวกเขาเองไม่เคยคิดถึงประเด็นอะไรแบบนี้เลย” จึงเริ่มมีการถกปัญหากันระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ และพวกนักศึกษาก็เริ่มเข้าใจถึงหน้าที่ที่แยบยลของป้ายชื่อใบน้อยที่พวกเขาห้อยอยู่ว่า มันช่วยกระตุ้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันกับคนที่เราไม่รู้จักและคุ้นเคยกัน ป้ายชื่อมีส่วนช่วยให้เกิดการสนทนาในหมู่คนที่ไม่รู้จักกันได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อเราเห็นป้ายชื่อเราจะลดความประหม่าและเขินอายลงไปโดยอัตโนมัติ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกลไกที่ซ่อนอยู่ข้างในป้ายชื่อช่วยทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น เวลาเราจะไปทักทายใครบางทีเราไม่รู้จักชื่อเขา เราก็จะรู้สึกกลัวว่าจะทักผิด แต่แค่เพียงเรารู้ข้อมูลของคนที่จะเข้าไปทักเพียงแค่นิดเดียว อย่างเช่นรู้ชื่อ สมองจะสั่งงานทำให้เรารวมคนๆนั้นเข้ามาเป็นพวกเดียวกับเรา ทำให้เรารู้สึกสนิทกันมากขึ้นทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตาม ถ้าเปรียบกับคนไทยก็เหมือนการใช้สรรพนามเรียกทุกคนเหมือนเครือญาติ อย่างเราเรียกคนที่อายุมากกว่าที่ไม่เคยรู้จักกันเลยว่าพี่ เรียกหญิงชราว่ายายแม้เพิ่งจะเจอกันครั้งแรกนั่นเอง กระบวนการนี้เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดช่องว่างระหว่างกันนั่นเอง

“ความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้จักเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน ถ้าคุณไปถามเหล่านักคิดนักประดิษฐ์ว่าพวกเขาสร้างสิ่งต่างๆได้อย่างไรกัน รู้ไหมว่าพวกเขาจะรู้สึกผิดอยู่ลึกๆในใจ เพราะจริงๆแล้วพวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำมัน แต่พวกเขาแค่เห็นอะไรบางอย่าง ที่รู้สึกแปลกแตกต่างไปจากที่เคยเห็น”

สตีฟ จ็อบส์

เมื่อตระหนักแล้วต้องต่อยอด

     นักศึกษาในชั้นเรียนนั้นเหมือนถูกตบกบาลอย่างแรงให้ตื่นคุณจากภวังค์แห่งความ “เบาปัญญา” พวกเขาเริ่มตระหนักในคุณค่าและความหมายของป้ายชื่อ พอเห็นคุณค่าและบทบาทของป้ายชื่อมากขึ้น เหล่านักศึกษาก็เริ่มซักถามพูดคุยกันว่าอยากเข้าหาเพื่อนใหม่อย่างไรและอยากให้คนอื่นเข้าหาตัวเองแบบไหน การพูดคุยดังกล่าวช่วยให้พวกเขาเกิดความเข้าใจที่นำไปสู่ทางออกอันแปลกใหม่ซึ่งทำลายข้อจำกัดต่างๆของป้ายชื่อแบบเดิมๆ

     ทีมหนึ่งทลายข้อจำกัดเรื่องขนาด พวกเขาเปลี่ยนแผ่นป้ายขนาดจิ๋วให้กลายเป็นเสื้อยืดที่มีลวดลายเป็นข้อมูลของผู้สวมใส่ โดยออกแบบให้มีทั้งข้อความและรูปภาพ เช่น เมืองที่เคยอยู่ กีฬาที่เล่น ดนตรีที่ชอบ สมาชิกในครอบครัว ฯลฯ พวกเขาขยายขอบเขตให้กับแนวคิดที่ว่าด้วย “ป้ายชื่อ” โดยแทนที่จะกลัดแผ่นป้ายใบเล็กๆกับเสื้อ พวกเขากลับเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นป้ายชื่อแทน ส่งผลให้มีข้อมูลมากมายให้คู่สนทนาได้สำรวจเพิ่มเติม

     อีกทีมคิดว่า เวลาเจอคนหน้าใหม่ๆ คงดีไม่น้อยถ้ามีการป้อนข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับคนๆนั้น จะได้พูดคุยกันอย่างลื่นไหลและหลีกเลี่ยงความเงียบชวนกระอักกระอ่วน พวกเขาจึงคิดค้นหูฟังที่คอยกระซิบบอกข้อมูลของคนที่กำลังคุยด้วย โดยมันจะค่อยๆให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น วิธีออกเสียงชื่อของคนๆนั้น สถานที่ทำงาน หรือชื่อเพื่อนที่ทั้งคู่รู้จัก

     ขณะที่อีกทีมกลับมองว่า ถ้าอยากให้ความสัมพันธ์มีความหมายมากขึ้น เราก็จะเป็นต้องรู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไรมากกว่าจะรู้แค่ข้อมูลของพวกเขา ทีมนี้จึงออกแบบริบบิ้นผูกข้อมือหลากสี แต่ละสีแทนอารมณ์ต่างๆ เช่น สีเขียวหมายถึงความสดใสร่าเริง สีน้ำเงินแทนความเศร้า สีแดงแสดงว่าคุณเครียด ส่วนสีม่วงบอกว่าคุณรู้สึกเหมือนกำลังจะมีโชค การใช้ริบบิ้นหลากสีย่อมทำให้อีกฝ่ายสัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ไวขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้การผูกสัมพันธ์ในครั้งแรกลุ่มลึกและมีความหมายมากขึ้น

     แบบฝึกหัดดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่ว่า โอกาสในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าอะไรบนโลกก็ดลใจให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งป้ายชื่อธรรมดา ฉะนั้น ลองหันมองไปรอบๆที่ทำงาน ห้องเรียน ห้องนอน หรือสวนหลังบ้าน ทุกอย่างที่คุณเห็นพร้อมจะถูกเปลี่ยนเป็นสิ่งแปลกใหม่ทั้งสิ้นและไม่แน่นะสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเงินจำนวนมหาศาลของคุณก็ได้ในวันข้างหน้า