ปัจจุบันนี้รถยนต์ไร้คนขับนั้นได้รับการพัฒนาจากหลายๆหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมายว่า ถ้ารถยนต์ไร้คนขับเกิดทำงานผิดพลาดจนเกิดอุบัติเหตุ แบบนี้จะต้องทำอย่างไรและใครจะรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุในครั้งนั้น เพราะรถยนต์ที่มีคนขับยังมีการทำประกันรถยนต์หากเกิดอุบัติเหตุ ก็ยังสามารถเคลมประกันกับบริษัทประกันได้ แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไร้คนขับจะทำอย่างไรกับกรณีเหล่านี้ ล่าสุดทางรัฐบาลเยอรมันนีจึงได้เผยร่างนโยบายที่จะช่วยกำกับจริยธรรมของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นร่างกฎหมายควบคุมการทำงานของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับฉบับแรกของโลกก็ว่าได้ โดยมีข้อกำหนดทั้งสิ้น 15 ข้อ ซึ่งจะเน้นไปที่การปกป้องชีวิตมนุษย์เป็นสำคัญ

  

     ร่างนโยบายสำหรับรถยนต์ไร้คนขับฉบับแรกของโลกหรือ Autonomous Vehicle ได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่บริษัทรถยนต์หลายแห่งทั่วโลกกำลังเดินหน้าพัฒนารถยนต์ไร้คนขับกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น Tesla BMW หรือว่าMercedes ร่างนโยบายนี้ถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2017 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาได้มีการเน้นย้ำถึงเรื่องความปลอดภัยที่มีต่อมนุษย์เป็นหลักใหญ่ใจความ เทคโนโลยีนี้ต้องปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันต่อมนุษย์ในทุกอายุ ทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ หรือเทคโนโลยีนี้ต้องเห็นความสำคัญของชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตนั่นเอง อย่างไรก็ตามร่างนโยบายฉบับนี้ยังคงเป็นเพียงแค่พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการควบคุมจริยธรรมของรถยนต์ไร้คนขับเท่านั้น เนื่องจากยังมีปัญหาทางจริยธรรมอีกมากที่ต้องตีความให้ชัดเจนสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น ถ้าเกิดอุบัติเหตุและจำเป็นต้องเลือกฝ่ายเสียหายรถยนต์ไร้คนขับนั้นจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องหาทางออกร่วมกันในอนาคต

     เราจะเห็นว่าเยอรมันนีเป็นตัวอย่างของประเทศที่คิดไกลเกินไปกว่าแค่เรื่องของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับแล้วมองข้ามสเต็ปไปอีกหนึ่งขั้นเลยทีเดียว หากร่างกฎหมายนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้นกว่านี้เชื่อว่าต่อไปเยอรมันนีจะเป็นประเทศแรกๆที่มีรถยนต์ไร้คนขับออกวิ่งเต็มถนนไปหมดอย่างแน่นอน

 

อ้างอิงจาก: qz.com