อีกหนึ่งควันหลงจากงานประชุมเศรษฐกิจโลก เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม 2018 (World Economic Forum 2018 )ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ก็คือเรื่องของผลการสำรวจเรื่องราวในด้านต่างๆ อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งอ็อกแฟม องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศของอังกฤษได้ทำรายงานขึ้นมาในหัวข้อ “เศรษฐกิจเพื่อคนร้อยละ 99” ซึ่งข้อมูลที่ออกมาดูจะน่าตกใจทีเดียว เพราะทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันของคนในโลกชัดเจนมาก ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมันถูกถ่างออกจากกันมากขึ้นกว่าเดิมใน ปี 60 ที่ผ่านมา แล้วนี้คือเศรษฐกิจที่ต่างพากันคุยว่าก้าวหน้าจริงหรือไม่ ?
คนแค่ 8 คนมีทรัพย์สินมากกว่าคนครึ่งโลกรวมกัน
รายงานของอ็อกแฟมระบุสิ่งที่น่าสนใจไว้อย่างหนึ่งว่า ปัจจุบันคนรวยเพียง 8 คน ครอบครองความมั่งคั่งเทียบเท่ากับคนยากจนจำนวน 3.7 พันล้านคน หรือเท่ากับจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ซึ่ง 80% ของความเฟื่องฟูและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในปี 60 ที่ผ่านมาตกอยู่ที่มือและกระเป๋าของคนรวย ซึ่งคนจำนวนนี้มีเพียง 1% ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งปีที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้มีความร่ำรวยเพิ่มขึ้น 7.62 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจากรายงานที่พวกเขาพบนี้ทำให้ วินนี เบียรยิมา (Winnie Byanyima) ผู้อำนวยการบริหารอ็อกแฟม อินเทอร์เนชั่นแนล ถึงกับกล่าวว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจโลก”
เธอชี้ให้เราเห็นว่า ชนชั้นแรงงานกำลังถูกเอาเปรียบจากพวกนายทุนทั้งหลาย ชนชั้นแรงงานทุ่มเทกำลังผลิต เสื้อผ้า ผลิตโทรศัพท์ ผลิตสินค้าทางการเกษตรอย่างหนักแต่พวกเขาได้เพียงเศษเงินจากระบบเศรษฐกิจเท่านั้น หลังจากสินค้าเข้าตลาดไปแล้ว มูลค่าของสิ่งที่ชนชั้นแรงงานผลิตถูกเพิ่มราคาขึ้นหลายเท่าตัว เงินทองนั้นไม่ได้ตกไปสู่ชนชั้นแรงงานเลย แต่กลับไหลเข้ากระเป๋าคนรวยที่เป็นนายทุนแทน แล้วแบบนี้จะเรียกว่าเป็นความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ควรจะเรียกว่า “ความสำเร็จของคนรวย” จะดีกว่า
ช่องว่างที่เพิ่มขึ้น จากอำนาจเงินที่แตกต่าง
จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ รายได้ของคนชนชั้นแรงงานนั้น เพิ่มขึ้นเพียง 2%/ปี(เป็นอัตราเฉลี่ย) แต่สำหรับคนรวยกลับมีรายได้เพื่อขึ้นต่อปีสูงถึง 13% และถ้าย้อยกลับไปไกลกว่านั้นดูช่วง 25 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนที่ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีของโลกที่มีอยู่เพียง 1% นั้นกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า คนครึ่งโลกรวมกัน นี่คือช่องว่างของคนรวยและคนจนที่ห่างกันสุดกู่ ซึ่งรายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า CEO ในธุรกิจแฟชั่นที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทำงานเพียง แค่ 4 วันต่อสัปดาห์แต่เขาได้รับค่าแรง เท่ากับการทำงานตลอดทั้งชีวิตของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังคลาเทศ
ยิ่งรวยยิ่งเลี่ยงภาษี
เทคนิคหนึ่งที่คนรวยมักจะชอบใช้ในการเพิ่มความมั่งคั่งของตนเองก็คือ “การเลี่ยงภาษี” (Tax haven) นี่ไม่ใช่การกล่าวหา แต่เป็นผลการสำรวจที่เกิดขึ้นจริงและมีอยู่จริง ซึ่งไม่ว่าคุณหรือใครต่างก็ทราบดีว่ามีเกิดขึ้นจริงในสังคมโลก อ็อกแฟมสำรวจมาว่า ในปี 2559-2560 บรรษัทขนาดที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก มีผลกำไรรวมกันแล้วมากกว่าเงินรายได้ของรัฐบาลต่างๆ 180 ประเทศรวมกัน นั่นหมายความหมายเงินในการพัฒนาประเทศ เงินในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคมของพวกเรา กำลังหายไปจากการเลี่ยงภาษีของคนรวย นี่ยังไม่ร่วมการทุจริตคอรัปชั่นโกงกินงบประมาณของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งอธิบายเท่านี้เราก็คงจะเห็นคุณภาพชีวิตของพวกเราแล้วว่ามันแง่ขนาดไหน แต่ถือว่ายังโชคดีที่ไม่ได้มีแค่ประเทศเราที่แย่แบบนี้ ภาวะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก คนรวยเลี่ยงภาษีได้ แต่คนจนและลูกจ้างทั้งหลายต้องจ่ายภาษีเต็ม
ชนชั้นแรงงานถูกเลือกปฏิบัติ
นอกจากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว หรือของความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติกับแรงงานหญิง มีแรงงานหญิงมากมายที่ถูกเลือกปฏิบัติให้ทำงานหนักแต่ได้ค่าแรงต่ำ นอกจากนั้นยังมีประเด็นเลือกปฏิบัติจากสถานที่ทำงานอีกมากมายที่แรงงานเหล่านี้ต้องพบเจอ ซึ่งทางอ็อกแฟมได้มีการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์แรงงานหญิงในเวียดนามซึ่งทำงานอยู่ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้อดังระดับโลก แรงงานหญิงเหล่านั้นต้องทำงาน วันละ 12 ช.ม. สัปดาห์ละ 6 วัน โดยได้รับค่าแรง 1 ดอลลาร์ต่อ ช.ม.เท่านั้น แต่ขณะที่ CEO ของบริษัทเป็นกลุ่มคนที่ทำงานน้อยสุดได้ค่าจ้างแพงที่สุดในบริษัท
สิ่งเหล่านี้คงสะท้อนภาพความล้มเหลวทางเศรษฐกิจมากกว่าความสำเร็จ เพราะเศรษฐกิจที่ดีจริงๆ คือการที่ผู้คนต่างมีรายได้ที่ใกล้เคียง มีสถานะทางสังคมที่เท่าเทียม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่กลางๆในระดับเดียวกัน ช่องว่างระหว่างความรวยและจนจะต้องไม่ห่างกันมาก นี่น่าจะเป็นนิยามความเป็นเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูได้มากกว่าการที่คนรวย รวยเงิน แต่คนจนก็จนลงอยู่แบบนี้ คุณว่าจริงไหม