เสียงขลุ่ยสะอื้นกับบทเพลงสรรเสริญพระบารมี (เวอร์ชั่นที่ปวดใจคนไทยที่สุด)

     เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นบทเพลงที่ถูกจดจำในอีกฐานะหนึ่งว่าเสมือนเป็น “เพลงชาติ” ของชนชาวสยาม สืบค้นกลับไปก็พบว่าจุดเริ่มต้นของเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในตอนนั้นยังไม่ได้เรียกว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่เรียกว่า “สรรเสริญนารายณ์”(จากอิทธิพลความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นองค์พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นมนุษย์) เพลงนี้ใช้บรรเลงในช่วงที่พระมหากษัตริย์เสด็จลงท้องพระโรงและเสด็จขึ้น

เพลงสรรเสริญพระบารมีในฐานะเพลงชาติสยาม

     เมื่อสืบสมัยเข้ามาจนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในยุคสมันนี้นับว่าเป็นยุคทองของการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่ง วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นในสยามประเทศ เป็นเหตุให้การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบไทยที่มีการโคมกันคล้ายสมัยกรุงศรีฯ จำเป็นต้องยุติบทบาทลง

      ช่วงปีพ.ศ.2394 ได้มีครูฝึกทหารชาวอังกฤษชื่อ Impey เดินทางเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหลวง ต่อมาทหารอังกฤษอีกนายหนึ่งชื่อ Thomas Knox ก็ได้เดินทางเข้ามาและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงให้ทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหน้า ทั้งคู่เป็นผู้ที่นำเพลง “God Save The Queen” ซึ่งถือเป็นเพลงถวายพระเกียรติพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษมาใช้ในสยามประเทศ แต่มีการประพันธ์เนื้อร้องใหม่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อถวายพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ ซึ่งปรากฎหลักฐานสำคัญอยู่ในหนังสือ Siam Recorder หลังจากนั้นไม่นาน พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงได้ประพันธ์คำร้องเป็นภาษาไทยลงในทำนอง God Save The Queen โดยให้ชื่อว่า “จอมราชจงเจริญ” และความสำคัญของเพลงนี้ในสมัยนั้นก็เทียบเท่ากับเพลงชาติสยามมาตั้งแต่บัดนั้น

จุดเปลี่ยนของเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนมาสู่ฉบับปัจจุบัน

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองสิงคโปรและเกาะชวาในปี พ.ศ.2414 ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่สิงคโปร ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทหารอังกฤษจึงได้ใช้เพลง God Save The Queen บรรเลงเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จแบบเดียวกับที่ใช้ในสยามประเทศ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองปัตตาเวีย เกาะชวา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลลันดา ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามพระองค์ว่าจะให้ใช้เพลงอะไรบรรเลงเพื่อเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จ พระองค์จึงทรงสั่งให้บรรเลงเพลง God Save The Queen เช่นเดียวกันกับการบรรเลงในสยามประเทศ นั่นจึงเป็นเหตุให้ทหารฮอลลันดาเกิดความสงสัยและจึงทูลถามอีกครั้งว่า เหตุใดพระองค์จึงทรงให้ใช้เพลง God Save The Queen ก็ในเมื่อสยามมิได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงได้ยินคำถามนั้นทำให้พระองค์จึงทรงฉุกคิดขึ้นมา สุดท้ายจึงรับสั่งมิให้มีการบรรเลงเพลง God Save The Queen เป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเสด็จนิวัติกลับพระนครจึงได้มีการประชุมครูดนตรีเพื่อสรรหาเพลงสรรเสริญพระบารมีใหม่ ทรงโปรดให้คณะครูดนตรีไทยแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ ครูดนตรีไทยจึงนำเพลงบุหลันลอยเลื่อย เพลงในพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มาใช้ แต่ด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมีจ ะนำไปใช้ในพิธีการต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระองค์มีความประสงค์ให้บทเพลงนี้ดูทันสมัยตามแบบชาวตะวันตกจึงได้ให้นายเฮวุด เซน (Heutsen) เรียบเรียงทำนองขึ้นมาใหม่และนำมาใช้บรรเลงตั้งปี พ.ศ. 2414-2431

     เพลงสรรเสริญพระบารมีได้ถูกแต่ง เรียบเรียง และปรับเปลี่ยนเนื้อเพลงอยู่หลายครั้งหลายครา และถูกแต่งให้มีหลายเนื้อร้องเพื่อใช้เฉพาะในกลุ่ม เช่น กลุ่มทหารเรือ กลุ่มนักเรียนหญิง เป็นต้น จนในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้นำผลงานเพลงสรรเสริญพระบารมีของปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) ผู้ประพันธ์ทำนอง และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าพระยานริศรานุวัตวงศ์ ผู้ประพันธ์เนื้อร้อง มาปรับเปลี่ยนคำร้องเสียใหม่ โดยเปลี่ยน คำสุดท้ายของเพลงจากเดิมคือ “ฉะนี้” เป็น “ชโย” ทรงประกาศใช้ใน วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2456 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ความหมายของ เพลงสรรเสริญพระบารมี

ข้าวรพุทธเจ้า… หมายถึง ข้าพเจ้า

เอามโนและศิระกราน… หมายถึง ขอเอาดวงใจและศีรษะก้มน้อมกราบ

นบพระภูมิบาล บุญดิเรก… หมายถึง ขอนบไหว้พระผู้ปกครองแผ่นดิน ผู้มีบุญญาธิการอันใหญ่หลวง

เอกบรมจักริน… หมายถึง ทรงเป็นวงศ์แห่งพระจักรีอันประเสริฐ

พระสยามินทร์… หมายถึง เป็นผู้เป็นใหญ่แห่งสยาม

พระยศยิ่งยง… หมายถึง เกียรติยศของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่และยืนนาน

เย็นศิระเพราะพระบริบาล… หมายถึง พวกเราจึงร่มเย็นด้วยการปกครองของพระองค์

ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์… หมายถึง พระคุณของพระองค์มีผลรักษาปวงประชาให้เป็นสุข

ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด… หมายถึง ขอพระคุณนั้น บันดาลให้สิ่งที่พระองค์ประสงค์สำเร็จตามความปรารถนา

จงสฤษฎ์ดัง หวังวรหฤทัย… หมายถึง ขอให้ได้ดังใจหวัง

ดุจถวายชัย ชโย…หมายถึง ดังที่ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัย

ความหมายรวมก็คือ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอกราบไว้พระองค์ผู้มีบุญญาธิการ ซึ่งพระองค์ที่ปกครองปวงชนให้เป็นสุข ด้วยใบบุญของพระองค์ประชาชนจึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงขอบันดาลให้พระองค์สมประสงค์ในทุกสิ่ง เป็นการถวายพระพรชัยแด่พระองค์

ประวัติผู้บรรเลงอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ

     อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นศิลปินชาวจังหวัดสิงห์บุรี  มีความถนัดทางด้านดนตรีหลายประเภท อาทิเช่น ขลุ่ย คลาริเน็ต แซ็กโซโฟน ออร์แกน เปียโน กีต้าร์ และเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานติดอันดับหนึ่งของเมืองไทย เคยร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรีคาราบาว ได้สร้างชื่อเสียงกับบทเพลงเมดอินไทยแลนด์ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดีมีความผูกพันอยู๋กับเสียงขลุ่ยมาเนิ่นนาน จึงตั้งปณิธานที่จะพัฒนาขลุ่ยไทยให้ไปสู่ระดับสากลให้ได้ และในวันนี้ท่านอาจารย์ก็ทำได้สำเร็จหลังจากคลุกคลีและพยายามพัฒนามาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ปัจจุบันได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2559 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล)

อ้างอิงจาก:thairath.co.th, matichon.co.th, chaoprayanews.com, thaisabuy.com