คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘โดรน’ เป็นอีกหนึ่งกระแสนวัตกรรมที่มาแรงมาขึ้นในยุคนี้ การพัฒนาโดรนในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก หลายๆ ประเทศเริ่มที่จะเห็นประโยชน์การใช้โดรนในแง่มุมต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ ‘จีน’ ที่กำลังสนับสนุนและพัฒนาโดรนของตนเองให้เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลาเพียงไม่กี่ 10 ปี เมืองเสิ่นเจิ้นของจีนจะพัฒนาจากบ้านป่าชาวประมงสุดเงียบเหงาหลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศจีนได้ ดินแดนแห่งของก็อปเกรดเอที่ใครๆต่างก็ขนานนามมาวันนี้กลายเป็น ‘ซิลิคอนวัลเลย์’ ของจีน เป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศจีนไปเสียแล้ว ใครจะรู้บ้างว่าเสิ่นเจิ้นนี่แหละที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดและบ่มเพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก อาทิ  Airbus, Foxconn, Huawei, ZTE, Tencent, DJI และอีกมากมาย เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์และสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญของโลก นั่นทำให้เสิ่นเจิ้นในวันนี้เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle-UAV) หรือ โดรน (Drone)

ไม่น่าเชื่อเลยว่าปัจจุบันเสิ่นเจิ้นจะมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโดรนกว่า 2,000 บริษัท เป็นบริษัทผู้ผลิตกว่า 600 บริษัท บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อีกกว่า 500 บริษัท โดยมีบริษัท DJI เป็นหัวหอกสำคัญที่ผลักดันให้เทคโนโลยีโดรนของเสิ่นเจิ้นมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกสูงกว่า 70% เมื่อไปเจาะลึกมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการผลิตและพัฒนาโดรนในเสิ่นเจิ้นจะพบว่า แค่ปี 2560 ปีเดียวเสิ่นเจิ้นมีมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมโดรนเท่ากับ 4,443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการคาดการณ์กันว่า จากจุดนี้ไปถึงปี 65 มูลค่าทางการตลาดจะเพิ่มขึ้นไปอีกจนถึง15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขนาดนี้ ก็คงต้องยกให้ว่าเสิ่นเจิ้นกลายเป็นเมืองหนึ่งที่เป็น ‘ผู้นำด้านอุตสาหกรรมโดรนที่สำคัญของโลก’ ไปแล้วเมืองหนึ่ง นั่นจึงทำให้เสิ่นเจิ้นกลายเป็นเมืองศูนย์กลางในการจัดประชุมโดรนโลก ที่จัดขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาได้มีการสัมมนากว่า 80 หัวข้อ และงานจัดแสดงสินค้าและอุปกรณ์โดรนประเภทต่างๆ นั่นทำให้เห็นว่านวัตกรรมที่อยู่ในโดรนปัจจุบันก้าวล้ำหน้าไปถึงขนาดไหนแล้ว

ความก้าวล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่จีนนำมาใช้พัฒนาโดรนนั้น เป็นมากกว่าเรื่องบันเทิงและสันทนาการ รวมไปถึงก้าวหน้าไปมากกว่าการนำไปใช้ในกิจการทางทหาร เพราะปัจจุบันโดรนมีหลากหลายรูปแบบและยังได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร การขนส่งและ โลจิสติกส์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้งานด้านอื่นๆ ที่กำลังนำเทคโนโลยีโดรนมายกระดับประสิทธิภาพของการทำงาน อาทิ งานศึกษาวิจัยทาง ภูมิศาสตร์ งานในภารกิจที่มีความเสี่ยง อาทิ การดับเพลิง การช่วยชีวิตและการรักษาความปลอดภัย

ที่น่าสนใจและน่าจับตามองมากในตอนนี้ก็คือ ‘โดรนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์’ โดยจีนได้เริ่มพัฒนาโดรนให้นำมาใช้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดรนนั้นแต่เดิมก็มีบทบาทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มาได้สักพักใหญ่ๆแล้ว แต่วันนี้ศักยภาพของโดรนสูงขึ้น สามารถขนส่งหลากหลายรูปแบบ อาทิ การส่งสินค้าที่ซื้อผ่าน e-commerce การขนส่งยารักษาโรคไปยังพื้นที่ห่างไกล การส่งอาหาร หรือสินค้าอื่น ๆ เป็นต้น บริษัทโลจิสติกส์ในจีนเริ่มหันมาให้ความสำคัญของการใช้โดรนในระบบโลจิสติกส์เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการจัดส่งสินค้าและมีต้นทุนในระยะยาวที่ค่อนข้างตํ่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้มนุษย์ในการขนส่งสินค้า

คุณูปการในวงการโดรนของจีนก็คงต้องยกเครดิตให้กับ JD Group คือบริษัทE-commerceที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของจีนรองจากอาลีบาบา JD Group นับเป็นบริษัทแรกที่เป็นผู้บุกเบิกการนำโดรนเข้ามาใช้ในระบบโลจิสติกส์ โดยเริ่มต้นวิจัยและพัฒนาโดรนเพื่อการขนส่งมาตั้งแต่ปี 2558 นำโดรนเข้ามาใช้ส่งพัสดุจากแพลตฟอร์ม JD.com มีจุดประสงค์สำคัญที่จะส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึงของจีน อาทิ เขตชนบทบนภูเขาสูง ต่อมาในปี 2559 JD.com เริ่มโครงการทดสอบการใช้โดรนอย่างเป็นทางการ ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงปักกิ่ง มณฑลเสฉวน ส่านซีและเจียงซู ปัจจุบัน JD Group มีโดรนขนส่งสินค้าจำนวน 40 ลำ สามารถบรรทุกสินค้าหนักตั้งแต่ 5-30 กิโลกรัม ครอบคลุมรัศมีระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรต่อการบิน 1 ครั้ง ในปี 2560 JD Group ใช้โดรนขนส่งสินค้าไปยังหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลของจีนแล้วกว่า 300,000 แห่ง

ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราพอมองเห็นอนาคตข้างหน้าแล้วว่า โดรนจะเฟื่องฟูในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมถึงจะมีการแผ่ขยายออกไปในธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆในจีนอีกมากมายแน่นอน นี่คืออนาคตใหม่ของการขยายและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในจีน