FinTech เป็นเทคโนโลยีการเงินที่กำลังค่อยเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก และในตอนนี้ชาติที่มีเทคโนโลยี FinTech ที่ล้ำหน้าเฟื่องฟูที่สุด ไม่ใช่ชาติเจ้าเทคโนโลยีและมหาอำนาจอย่างอเมริกา แต่กลับเป็นพญามังกรอย่าง ‘จีน’
ความพยายามของยักษ์ใหญ่บัตรเครดิตที่ดูจะไร้ผล
ต้องยอมรับว่ากระแสความนิยม FinTech ในโลกนั้นเริ่มตื่นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แนวความคิดที่โลกจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมไร้เงินสดนั้น เริ่มมีแววชัดเจนให้เห็นมากขึ้นในทุกๆวันที่ผ่านไป และแน่นอนว่า การเข้ามาของ FinTech ย่อมกระทบกับกลุ่มอำนาจทางการเงินเก่าอย่างยักษ์ใหญ่ค่ายบัตรเครดิตต่างๆ ทั้ง MasterCard Visa และ American Express ต่างก็พากันหนาวๆร้อนๆ จับทิศทางไม่ถูกไปตามๆกัน เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามเทรนด์โลกอะไรดีต่อพวกเขาและสะดวกมากกว่าพวกเขา ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะทิ้งของเก่าเพื่อเดินหน้าเข้าสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าทันที บริษัทยักษ์ใหญ่บัตรเครดิตเหล่านี้ในสหรัฐต่างก็ใช้ความพยายามแทบทุกวิถีทางที่จะกุมอำนาจทางการเงินไว้เหมือนเดิม และพยายามอย่างมากที่จะเจาะตลาดการเงินในประเทศจีน แต่ดูเหมือนว่าความพยายามของยักษ์ใหญ่บัตรเครดิตเหล่านี้จะ ‘ไร้ผล’ ในประเทศจีน
ด้วยความที่คนจีนมีความเป็นชาตินิยมในตัวเองส่วนหนึ่ง ทรัพยากรและเทคโนโลยีของพวกเขาก็มีเหลือเฟือ เทคโนโลยี FinTech ที่พัฒนาโดยพวกเขาเพื่อพวกเขาเองจึงได้ใจประชาชนจีนมากกว่าเห็นๆ ถ้ามองวิวัฒนาการทางด้านการเงินของประเทศจีนนั้นก็ต้องบอกว่าโตอย่างก้าวกระโดดจริงๆ จากยุคเหรียญอีแปะ มาสู่ธนบัตร และก็กระโดดข้ามผ่านบัตรเครดิต(ที่พวกเขานิยามว่าเงินพลาสติก)ไปเลย เข้ามาสู่ระบบการใช้จ่ายผ่านมือถือสมาร์ทโฟนซึ่งล้ำหน้ากว่าใครในโลกก็ว่าได้ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าระบบการเงินของจีนไม่จำเป็นต้องง้อระบบบัตรเครดิตของสหรัฐอเมริกาเลยแม้แต่น้อย พวกเขาก้าวข้ามผ่านอย่างไม่ใยดีเลย จึงไม่แปลกที่ค่ายบัตรเครดิตของอเมริกาตีตลาดจีนอย่างไรก็เงียบอยู่เหมือนเดิม
การเติบโตของ FinTech ในจีน
นักวิจัยอาวุโสจาก ธอร์นตัน ไชน่า เซนเตอร์ เว่ยหวัง (Wei Wang )และทีมงานด้านนโยบายต่างประเทศเศรษฐกิจโลกได้ระบุว่า บรรดาผู้นำของ FinTech ระดับโลก 27 แห่งที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ มีถึง 9 รายที่เป็นบริษัทของประเทศจีน เป็นบริษัทของอเมริกา 12 ราย ซึ่งใน 9 รายของจีนนั้นสามารถนำ FinTech มาใช้จนเกือบจะครบทุกมิติทางการเงินของผู้คนได้ เรื่องการชำระเงินผ่านมือถืออย่างที่เราเห็นและเข้าใจกันนั้น เป็นเพียง 1 ในความสามารถ 7 อย่างของเทคโนโลยี FinTech เท่านั้น จีนสามารถผลักดัน FinTech เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ ตั้งแต่ระดับองค์กรจนถึงระดับบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อกู้ยืมผ่านระบบออนไลน์ สินเชื่ออุปโภคบริโภคทั่วไป การให้ซื้อกองทุนรวมแบบออนไลน์ การประกันภัย การบริหารการเงินส่วนบุคคล รวมถึงการเป็นหน้าหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
แน่นอนว่าถ้ามองจากมุมมองคนนอกอย่างเรา ถ้าใครอยู่ในส่วนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องมีการติดต่อซื้อขายกับจีนก็คงจะคุ้นเคยกับ Alipay และ Tenpay ระบบการชำระเงินยอดฮิตของคนจีน นอกจากนั้นแล้วยังมี JD Pay อีกหนึ่งเจ้าที่ยิ่งใหญ่ในจีน การขอสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั่วไปของคนจีน ก็จะมีการทำผ่าน Ant Financial และ MyBank (FinTech ของ Alibaba) บางคนก็อาจจะเลือก JD Finance (ของ JD.COM) นี่เป็นเพียงเจ้าใหญ่ๆที่เราเห็นผ่านหน้าผ่านตากันมาเท่านั้น จริงๆแล้ว ยังมีอีกมากทีเดียว สิ่งเหล่านี้ คนจีนใช้ผ่านเทคโนโลยี FinTech มา 3 – 4 ปีแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในจีนตอบรับการเติบโตของ FinTech เป็นอย่างดี
FinTech จีนจะครองโลก?
ย้อนกลับไปปี 2015 อาลีบาบาได้ปฏิวัติระบบการเงินของคนจีนครั้งใหญ่ ได้นำเทคโนโลยี FinTech อย่าง Alipay เข้ามาเปลี่ยนวิธีใช้จ่ายของคนจีน โดยอาลีบาบาได้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี FinTech หลายๆประเทศทั่วโลก ทั้งอินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทยและเกาหลีใต้ และพัฒนาระบบ e-wallets ขึ้นมา และนี่คือนวัตกรรมที่พลิกโฉมการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนในเวลาต่อมา ขณะนี้ FinTech ของจีนทำรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ และมีการคาดการณ์กันว่าอีก 4 ปีข้างหน้าเทคโนโลยี FinTech จะแผ่ขยายทำรายได้นับสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งในตลาดต่างประเทศ นั่นหมายความว่าตลาด FinTech ของจีนจะโตขึ้นอีกแน่นอน
แต่อย่างไรก็ดี การขยายออกนอกประเทศนั้น โดยเฉพาะเจาะตลาดเข้าไปในอเมริกาคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับจีนนัก เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ Ant Financial ของจีนพยายามใช้ MoneyGram เจาะตลาดอเมริกาอยู่ แต่ผลปรากฎว่าตลาดอเมริกาปฏิเสธระบบนี้ ฉะนั้น การจะเข้ามาครอบครองตลาด FinTech โลกของจีนก็ยังคงห่างไกลอยู่ แต่ไม่ต้องถึงกับครองตลาดโลกแค่นี้จีนก็โกยรายได้ไปมากมายแล้ว ก็คงถึงเวลาที่บ้านเราจะต้องตื่นตัวกับเทคโนโลยีนี้ให้มากขึ้นเสียแล้ว อย่ามัวตกเป็นเบี้ยล่างใช้เทคโนโลยีของเขาอยู่ฝ่ายเดียว
อ้างอิงจาก : brookings, medium