ต้องยอมรับเลยว่า Grab ประกาศศักดาความแข็งแกร่งเหนือ Uber มาหลายภูมิภาคแล้ว ล่าสุด Uber ก็พ่ายแพ้ต่อ Grab อีกครั้ง หลังจากที่ทาง Grab ได้ประกาศว่าได้เข้าซื้อกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเป็นที่เรียบร้อย ภายใต้ข้อตกลงที่ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การซื้อธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคนี้ โดย Grab จะควบรวมกิจการเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นและรับส่งอาหารของ Uber ใน AEC ไว้ในแพลตฟอร์มการให้บริการอันหลากหลายของ Grab ทั้งหมด

     26 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา Grab ค่าย App เรียกใช้บริการพาหนะ (Ride Hailing App) รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยว่าได้ควบรวมกิจการ Uber ในอาเซียนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นข้อตกลงการซื้อธุรกิจออนไลน์ในมูลค่าสูงสุดในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ภายหลังการควบรวมธุรกิจ Grab ตั้งเป้าก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) และผู้ให้บริการรับส่งอาหารชั้นนำของอาเซียน โดยจะผลักดันการเป็นผู้นำแพลตฟอร์มในอาเซียนที่สามารถจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ของ Uber ในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม  โดยในข้อตกลง Uber จะถือหุ้น 27.5% ใน Grab และ ‘ดารา โคสโรว์ชาฮี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Uber ก็จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของ Grab ด้วย

     ด้าน Anthony Tan – CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Grab กล่าวว่าเป็น เราภูมิใจที่สามารถสร้างแพลตฟอร์มที่คนหลายล้านคนเรียกใช้บริการในแต่ละวัน รวมถึงช่วยสร้างอาชีพให้คนมากกว่า 5 ล้านคนทั่วภูมิภาค การเข้าซื้อและควบรวมกิจการในครั้งนี้ เราถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ โดยจะทำให้ธุรกิจของ Grab เป็นผู้นำแพลตฟอร์มในภูมิภาคนี้ที่สามารถจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ด้วยการร่วมงานกับทีมงานของ Uber เดิม เราจะเพิ่มศักยภาพของเราในการให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า

     การควบรวมกิจการในครั้งนี้คาดว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 192,000 ล้านบาท) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้ Grab ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นอยู่ที่ 95 % ในอาเซียนนี้จะมีแต้มต่อและโอกาสทำกำไรเหนือกว่าคู่แข่งรายย่อยอื่นๆขึ้นไปอีกอย่างไม่เห็นฝุ่น

      จากความเปลี่ยนแปลงของกิจการที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ Ride Hailing App เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูง และบริษัทในประเทศหรือระดับภูมิภาคที่เข้าใจผู้ใช้มากกว่าจะมีความได้เปรียบ ซึ่ง Grab เองก็ได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาเข้าใจผู้ใช้งานในภูมิภาคนี้มากกว่า Uber อีกประการทาง Uber เองแม้จะเรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกในธุรกิจสาขานี้แต่ก็ประสบปัญหาในหลายๆด้าน ทั้งการต่อต้านในหลายๆประเทศ รวมถึงกรณีอื้อฉาวต่างจากผู้บริหารชุดก่อน นั่นจึงทำให้ระยะ 2 ปีให้หลังมานี้ Uber ต้องเผชิญวิกฤตรอบด้านมาตลอด และจุดนี้เองทำให้ Uber ต้องพ่ายแพ้ให้กับ Grab ไปอีกหนึ่งสมรภูมิ