สำหรับใครที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ SME เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของกฎหมายธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตสินค้า หรือ บริการก็ตาม ทุกอย่างมีข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่ทั้งสิ้น อีกทั้งการทำธุรกิจมีข้อผูกพันอยู่เรื่องของภาษี ซึ่งแน่นอนเลยว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากคุณคิดจะดำเนินธุรกิจให้มีอุปสรรคทางด้านกฎหมายน้อยที่สุดคุณก็ควรศึกษาเรื่องของกฎหมายธุรกิจให้ดีเพื่อที่จะได้ทำทุกอย่างได้ถูกต้อง ครั้งนี้เราจึงจะขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกฎหมายที่ผู้ประกอบการ SME ควรรู้จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง มาติดตามกันเลย
กฎหมายแรงงาน
เมื่อคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณย่อมต้องมีลูกจ้างหรือพนักงาน ซึ่งการจ้างงานตรงจุดนี้จะมีสัญญาจ้างแรงงานเป็นตัวกลาง ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง สัญญาจ้างแรงงาน หมายถึง สัญญาเป็นหนังสือหรือสัญญาด้วยวาจา ระบุชัดเจนหรือเป็นที่เข้าใจกันโดยทันทีว่า บุคคลหนึ่งซึ่งสมัครใจที่จะเป็นลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่านายจ้างโดยที่บุคคลที่เป็นนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นสัญญาที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสามารถตกลงกันด้วยวาจาก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งถ้าคุณเป็นนายจ้างคุณจะต้องรู้ว่าสิทธิ์ของลูกจ้างที่ควรได้รับมีอะไรบ้าง และคุณควรจะจัดสรรตรงจุดนั้นให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สิทธิ์ในการพักระหว่างทำงาน สิทธิ์ในการมีวันหยุด สวัสดิการที่ลูกจ้างควรได้รับ เหล่านี้ เป็นต้น
กฎหมายเกี่ยวกับการประชุมบริษัท
ถ้าคุณเป็น SME ที่มีการจดเป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัทจำกัด คุณจะต้องรู้ว่าผู้มีอำนาจดำเนินกิจการแทนในบริษัท มีใครบ้าง การจะจัดประชุมของบริษัทได้มีข้อกฎหมายระบุเอาไว้ว่า การประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัดมี 2 ประเภท คือ การประชุมสามัญ คือ การประชุมภายในประจำปีของบริษัทจำกัด ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ประชุมอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเนื้อหาสาระที่จะต้องจัดประชุมคือเรื่องของการพิจารณาการดำเนินกิจการของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา เรื่องแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เข้าแทนกรรมการที่ออกตามวาระ แต่งตั้งผู้สอบบัญชีคนใหม่และอนุมัติงบดุลของบริษัท และ การประชุมประเภทที่สองคือ การประชุมวิสามัญ ซึ่งจะมีขึ้นเมื่อใดและจะประชุมเมื่อใดเรื่องใดก็ได้สุดแต่กรรมการบริษัทจะเห็นสมควร กฎหมายระบุไว้ว่าให้นับองค์ประชุมผู้ถือหุ้น ต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทุนบริษัท อย่างไรก็ดีต้องมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 2 คน มิฉะนั้น จะไม่ถือเป็นการประชุม นอกเสียจากว่ามีระเบียบข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่หากว่าเมื่อโหวตแล้วคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมมีอำนาจชี้ขาดได้ซึ่งนับเป็นอีก 1 เสียงแต่ในกรณีสำคัญบางเรื่องบางประเด็น กฎหมายบังคับให้มติของที่ประชุมต้องเป็นมติพิเศษเฉพาะเท่านั้น เช่นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ การเพิ่มทุนหรือลดทุนของบริษัท การควบคุมบริษัทและการเลิกบริษัท การบอกกล่าวนัดประชุมต้องแจ้งผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยการส่งจดหมายทางไปรษณีย์
กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า (trademark)
เครื่องหมายการค้า กฎหมายระบุว่าจะต้องมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าของคุณแตกต่างจากสินค้าผู้อื่น และเครื่องหมายการค้าจะต้องบ่งบอกถึงแหล่งกำเนิดของสินค้าและความเป็นเจ้าของอีกด้วย ที่สำคัญจะต้องจดทะเบียนต่อกรมททรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
กฎหมายลิขสิทธิ์
ผู้ประกอบการอาจมีความจำเป็นต้องหยิบยืมบางสิ่งบางอย่างจากผู้อื่นมาใช้ ซึ่งถ้าผู้นั้นเขามีการจดลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง ผู้ประกอบการต้องศึกษาให้ดีว่าจะสามารถนำมาดัดแปลง หรือแก้ไข ได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาข้อกฎหมายของเรื่องอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้ดี กฎหมายระบุไว้ว่า งานทั่วๆ ไป ลิขสิทธิ์จะมีตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 หากผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายไปแล้ว กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์นั้นขึ้น ในส่วนงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรืองานเสียง ภาพ ที่มีการเผยแพร่ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น หากเป็นงานที่สร้างสรรค์โดยการจ้างหรือทำตามคำสั่ง มีอายุ 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น เหล่านี้ เป็นรายละเอียดที่ผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นจะต้องนำงานของผู้อื่นมาใช้ในการทำธุรกิจจะต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำมาใช้
กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิบัตร
มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่เคยยื่นขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับงานประดิษฐ์ของตนเองแล้วไม่ผ่าน อันเนื่องจากความไม่เข้าใจข้อกฎหมายที่ระบุไว้เกี่ยวกับลักษณะการจดสิทธิบัตร ดังนั้น ผู้ประกอบการใดที่มีความเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ต่างๆ จำเป็นต้องศึกษาไว้ให้ดี สิทธิบัตร (Patent) หนังสือสำคัญที่ออกให้ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ ซึ่งการประดิษฐ์ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คือเป็นการประดิษฐ์ที่แตกต่างไปจากเดิม ที่เคยมีอยู่ก่อนแล้วและยังไม่เคยมีการเผยแพร่หรือใช้กันอย่างแพร่หลายมาก่อนในประเทศ หรือ ไม่เคยเปิดเผยสาระสำคัญในเอกสารสิ่งพิมพ์ใดมาก่อนทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งยังไม่เคยได้รับสิทธิบัตรมาก่อน ที่สำคัญต้องเป็นงานประดิษฐ์ที่ใช้ทักษะขั้นสูง คือไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สามารถทำได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือหัตถกรรม หากสิ่งที่ประดิษฐ์ที่คุณมีอยู่ในขอบข่ายที่กล่าวไว้นี้ โอกาสที่คุณจะขอสิทธิบัตรได้ก็มีสูง ส่วนอายุการคุ้มครองของสิทธิบัตรนั้นถ้าเป็นงานเกี่ยวกับการประดิษฐ์ มีอายุ 20 ปี นับตั้งแต่วันขอรับสิทธิบัตร แต่ถ้าเป็นลักษณะของการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุ 10 ปี นับตั้งแต่วันขอรับสิทธิบัตร
กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
ผู้ประกอบการ SME ควรจะศึกษากฎหมายในส่วนนี้ไว้อย่างยิ่ง เพราะบางครั้งเราไม่รู้ว่าจะเกิดความผิดพลาดกับเราขึ้นเมื่อไหร่ หากสิ่งที่เราพลาดไปนั้นไปกับกระทบกับลูกค้าหรือผู้บริโภคไม่ว่าจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม กฎหมายในส่วนนี้จะเป็นกฎหมายที่เล่นงานเราได้ ดังนั้น ถ้าเราจะดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบก็จะต้องศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดีเสียก่อน เพื่อเป็นการอุดช่องโหว่ของตัวเราเอง การคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึง การปกป้องดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยได้รับความเป็นธรรม และประหยัดค่าใช้จ่ายจากการบริโภคสินค้าและบริการ ซึ่งมีกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันไว้หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติยา พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พระราชบัญญัติอาหาร พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง เป็นต้น ซึ่งจากกฎหมายนี้ระบุไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ มีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ เมื่อผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในสินค้าหรือบริการนั้น ผู้บริโภคมีสิทธิ์ฟ้องร้องและพิจารณาขอชดเชยความเสียหาย และในด้านความปลอดภัยของสินค้า ถ้าผู้บริโภคกลายเป็นผู้เสียหาย ผู้บริโภคสิทธิฟ้องร้องผู้ประกอบการให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากสินค้าที่ก่อหรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และเมื่อถ้ามีการพิสูจน์แล้วว่าความเสียหายมาจากสินค้าของผู้ประกอบการรายดังกล่าว ผู้ประกอบการต้องมีส่วนร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย ในเมื่อสินค้านั้นได้มีการขายให้ผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ
กฎหมายเหล่านี้นับเป็นกฎหมายพื้นฐานของการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ควรจะเรียนรู้ศึกษา และทำความเข้าใจให้ดี จะได้ไม่ทำผิดพลาดไป เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้กิจการของคุณดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและแข็งแกร่ง