วันที่ 18 ก.พ. 62 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ระบุให้กัญชาและกระท่อมสามารถใช้ได้แล้วในทางการแพทย์

ในช่วงปลายปี 2561 ฝั่งรัฐบาลเร่งปลดล็อกกฎหมายใช้กัญชาทางการแพทย์ ขณะที่ฝั่ง สนช. มีความคาดหวังว่าอยากให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็น “ของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน” และในวันนี้กฎหมายใช้กัญชาและกระท่อมทางการแพทย์ก็มีผลบังคับใช้แล้วจริงๆ

มีการวิจัยมามากมายแล้วว่า สารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ สำหรับในประเทศไทยเราเมื่อมามองตามข้อกฎหมายก็จะพบว่า กัญชาและพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเสพ หรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และยังกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง

_105699212_cannabis.pngซึ่งถ้ามองกันตามความเป็นจริงแล้ว พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับและใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาทางการแพทย์ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาต เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางด้านยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้ ประเทศไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชนทางการแพทย์และการวิจัย ด้านนักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา กล่าวว่าพวกเขาทำวิจัยและทดลองเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชากันอย่างจริงจังแต่ทว่าสามารถทดลองได้เพียงในหลอดทดลองและกับสัตว์เท่านั้น เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้ทดลองกับมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายในครั้งนี้ เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้การทำงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามระเบียบวิธีวิจัยของการค้นพบยาใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้ได้ค้นพบประโยชน์ใหม่ๆมากมายที่สามารถสกัดได้จากกัญชา