HIGHLIGHTS:
|
พวกเราเคยทึ่งกับนวัตกรรมจากฝีมือของ โทมัส เอดิสัน(Thomas Edison) หรือ Steve Jobs มาแล้ว ซึ่งเรามักจะคิดว่านวัตกรรมต้องถูกสร้างจากผู้ที่มีพรสวรรค์เท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย คุณเองก็อาจเป็นคนหนึ่งที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ได้ ถ้าคุณมีวิธีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งนั้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้คุณได้สิบถึงยี่สิบเท่าเลยในการสร้างนวัตกรรม
ปลุกจิตวิญญาณนวัตกรในตัวคุณซะ
หลายคนอาจจะคิดว่าคงไม่มีวันคิดฝันถึงการสร้างนวัตกรรมพลิกโลกอะไรหรอก เพราะไม่ใช่คนเก่งกาจมีความสามารถพิเศษอะไร เรื่องวิศวะเครื่องยนต์กลไก ก็ไม่รู้ เทคโนโลยีก็งูๆ ปลาๆ เคมี ฟิสิกส์อะไรที่เคยเรียนมาก็ลืมไปหมดแล้ว ทุกวันนี้แค่เข้า Facebook เล่น Line ได้ก็เรียกว่าบุญโขแล้ว เรื่องของการสร้างนวัตกรรมอะไรปล่อยให้เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์เถอะ! ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดแบบนี้อยู่ล่ะก็ ก็จงจมอยู่ความคิดนั้นซะเถอะ ไม่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะคุณไม่มีจิตวิญญาณแห่งนวัตกรอยู่เลยสักนิด แต่หากในห้วงลึกๆ ของจิตใจคุณมีความต้องการที่จะลุกขึ้นมาพลิกโลกสร้างนวัตกรรมอะไรสักอย่างกับเขาบ้าง ขอให้คุณอ่านคอลัมน์นี้ให้จบ จิตวิญญาณแห่งนวัตกรของคุณอาจจะถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งก็ได้
นวัตกรรมพลิกโลกไม่ได้ถูกสร้างแค่คนๆเดียว
การสร้างนวัตกรรมจุดเริ่มต้นอาจจะมาจากคนๆ เดียว แต่นวัตรรมจะก่อเกิดเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ ก็ต้องใช้คนหลายคนในการช่วยบ่มเพาะ การสร้างนวัตกรรมก็เหมือนกับการเล่นกีฬาเป็นทีม มีซูเปอร์สตาร์เก่งๆคนสองคนเท่านั้นก็ไม่อาจพาทีมให้ไปรอดถึงถ้วยแชมป์ได้ หลายๆ องค์กรระดับโลกที่สร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาจะมีการทำงานกันเป็นระบบ มีการประสานสอดคล้องกับหน่วยงานที่เป็นพาร์ทเนอร์และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การสร้างนวัตกรรมจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร โปรแกรมเมอร์ หรือนักการตลาด แต่นวัตกรรมเกิดขึ้นได้จากการทำงานร่วมกันของคนทั้งองค์กร บริษัท Apple ไม่ใช่แค่ Steve Jobs แต่ยังมีทีมงานอีกมากมายที่ทำให้ Mac และ iPhone ขึ้นมาพลิกโลกอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และ ปัจจัยที่จะช่วยทำให้ทีมทั้งทีมสามารถสร้างนวัตกรรมออกมาได้สำเร็จมีอยู่ด้วยกัน 5 ประการคือ
1.การรู้ว่าจะพัฒนานวัตกรรมที่ไหนสำคัญพอๆกับวิธีการสร้างมันขึ้นมา
การรู้ตำแหน่งขุดเจาะน้ำมันดิบหรือเหมือนแร่ใต้ดินนั้นสำคัญกว่าการขุดมันออกมา ดังนั้น ก่อนที่จะดำเนินการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา คุณจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนเสียก่อนว่าจะสร้างนวัตกรรมนั้นๆ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการข้อไหนของสังคม และที่สำคัญจังหวะ โอกาสและสถานที่ตอนนั้นเหมาะหรือยังที่จะสร้างนวัตกรรม หากคุณคิดจะไปสร้างนวัตกรรมในเมืองที่เศรษฐกิจฟุบหนัก มีการรบติดพันกันอยู่ นั่นก็อาจไม่ใช่จังหวะและสถานที่ที่เหมาะจะสร้างสรรค์ผลงาน
2.จัดการกับปัญหาที่ยุ่งยากที่สุดก่อน
อย่างเพิ่งคิดจะเด็ดผลไม้ที่อยู่ต่ำที่สุด แต่จงมองหาลูกที่ใหญ่ที่สุดก่อน การเลือกจัดการกับปัญหาไม่ใช่การเลือกแก้เฉพาะสิ่งที่ง่ายสำหรับคุณ หากแต่คือการเลือกแก้ปัญหาใหญ่ที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคในสังคมประสบอยู่ต่างหาก ผู้บริโภคในยุคนี้มีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นซึ่งนั่นนับเป็นความท้าทายที่ยากที่สุดในตอนนี้ ดังนั้น เมื่อจะเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใดๆจงมุ่งเน้นไปยังที่ส่วนที่ยากที่สุดที่ต้องแก้ให้ได้ แล้วค่อยมาจัดการกับเรื่องง่ายๆต่อไป
3.อย่ายอมรับกับผลลัพธ์ที่ไม่ 100%
เมื่อไหร่ก็ตามที่งานนั้นยาก และท้าทายมากจงอดทนและพยายามทำต่อไปเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด หาคำตอบที่ครอบคลุมมากที่สุดสำหรับทุกๆโจทย์ปัญหาที่คุณได้รับ ค่อยๆหาทางสะเดาะปัญหาให้ครบทุกปัญหาที่สำคัญ ค่อยๆทำไปเรื่อยๆ และผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้น บางทีทางออกของปัญหาอาจจะพบเจอแบบบังเอิญก็ได้
“ถ้าเราเชื่อมั่น ว่าทำได้ ต่อให้ต้องย้ายภูเขาถมทะเลในที่สุดก็สำเร็จจนได้ แต่ถ้าใจเราคิดว่าทำไม่ได้ แม้จะง่ายแค่พลิกฝ่ามือ ก็ยังไม่มีวันประสบความสำเร็จ”
ด.ร.ซุนยัดเซ็น
4.งานยังไม่จบจนกว่ามันจะเข้าตลาด
งานของคุณยังไม่จบเพียงแค่สร้างนวัตกรรมเท่านั้น คุณต้องนำมันเข้าตลาดและต้องได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่สร้างขึ้นมาด้วย และหากสิ่งที่สร้างขึ้นมามีประโยชน์ต่อสังคมหรือผู้ที่มาร่วมลงทุนกับคุณ มันจะยิ่งส่งเสริมให้นวัตกรรมนั้นยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
5.เปลี่ยนความซับซ้อนให้เรียบง่าย
คนไทยเราส่วนใหญ่ชอบทำสิ่งที่เรียบง่ายให้เป็นความซับซ้อน แต่ขอให้คุณสังเกตให้ดีสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมได้นั้นส่วนใหญ่แล้วอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่ายทั้งสิ้น ดูตัวอย่างจาก iPhone เป็นต้น Steve Jobs ออกแบบบนพื้นฐานความเรียบง่ายดีไซน์แบบเรียบๆไม่ต้องมีปุ่มให้วุ่นวาย และแล้วก็โดนใจเราทุกคนในที่สุด ดังนั้น หากจะสร้างนวัตกรรมจงพยายามเปลี่ยนความซับซ้อนให้เรียบง่ายอยู่เสมอ