เทรนด์ของโลกอย่างหนึ่งในตอนนี้ก็คือ เรื่องของพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงชีวภาพ หลายๆประเทศกำลังให้ความสนใจในเรื่องของการสกัดเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชเศรษฐกิจกันอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “กาแฟ” หลายคนอาจไม่รู้ว่ากากกาแฟที่เราเหลือทิ้งจากการชงดื่มแล้วจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง แต่ตอนนี้ได้มีการศึกษาค้นคว้านำกากกาแฟมาใช้งานต่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว
อันที่จริงแล้วแนวความคิดในเรื่องของการนำกากของเสียของกาแฟมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพนั้น ได้เริ่มต้นกันมานานหลายปีแล้ว เพราะต้องการนำของเสียที่ไม่มีประโยชน์แล้วกลับมาใช้ใหม่ ทดแทนการใช้พืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าอย่างข้าวโพดหรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆจะได้ไม่เป็นการเบียดบังทรัพยากรเพื่อการบริโภคเหล่านี้ แต่ทว่า กรรมวิธีการผลิตนั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก และเมื่อผ่านกระบวนการต่างๆแล้วกลับให้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงตามที่คิดไว้นักอีกทั้งต้นทุนในการผลิตก็สูง แต่ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ ประเทศอังกฤษก็พบวิธีการใหม่ที่จะช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนกากกาแฟเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นสามารถทำได้แบบไม่ยุ่งยากและจบลงได้ในขั้นตอนเดียว
นักวิจัยจากอังกฤษได้ค้นคว้าจนพบวิธีสกัดน้ำมัน situ transesterification (ซิทู ทรานเซสเตอริฟิเคชัน) ที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ด้วยการผสมกากกาแฟเข้ากับสารเคมีที่ใช้ทำละลายที่มีชื่อเรียกว่า “เฮกเซน” จากนั้นก็นำมาผ่านความร้อน ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นานกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งการนำมาผ่านความร้อนที่ค่อนข้างนานนี้จะทำให้เฮกเซนเกิดการจะระเหยออกไปจนเหลือแต่น้ำมัน ก่อนจะใส่เมทานอลและตัวเร่งปฏิกิริยาลงไป เพื่อให้ได้สารประกอบเชื้อเพลิงที่สามารถนำไปใช้ได้ต่อไป
งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิศวกรรมเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม Journal of Environmental Chemical Engineering วิจัยโดย เวสนา นาจยาโนวิช-วีซาก, ฟลอเรนซ์ ยี-แลม ลี, มาร์เซีย ทาวาเรส และอโลนา อาร์มสตรอง จากมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ นับเป็นความก้าวหน้าอีกหนึ่งขั้นของเรื่องพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นเรื่องดีๆที่จะช่วยพิทักษ์พลังงานโลกใบนี้ให้อยู่กับเราไปได้อีกนานแสนนาน