อาณาจักรของเจ้าสัวธนินท์ยังแผ่ขยายอย่างไม่หยุดยั้ง หลังจาก “ซีพี ออลล์” แตกแบรนด์ธุรกิจกาแฟของตนเอง ออกเป็น 7 แบรนด์ กระจายตลาดทั่วประเทศไทยทำให้ตลาดธุรกิจกาแฟถูก ซีพี ออลล์ โกยรายได้ในตลาดไปถึง 3.8 หมื่นล้าน และดูท่าทีจะมีการขยายแบรนด์ต่อเนื่องไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย
เจ้าสัวธนินท์รุกตลาดอินเดีย
ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เดินทางไปอินเดียเพื่อร่วมฉลองเปิดร้านกาแฟ “อาราบิเทีย” สาขาแรกที่เปิดแฟรนไชส์ในตลาดอินเดีย พร้อมๆกับการเปิดร้านค้าส่ง LOTS Wholesale Solutions แห่งแรกในอินเดีย ซึ่งหากจะนับว่านี่เป็นหนึ่งความสำเร็จอีกก้าวของอาณาจักรธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ก็คงว่าได้ และดูเหมือนว่ากำลังจะเติบโตไปได้สวยเสียด้วย
กลยุทธ์แตกแบรนด์ แบบป่าล้อมเมือง
แนวคิดการบริหารจัดการของเจ้าสัวธนินท์ และผู้บริหารท่านอื่นๆในกลุ่ม ซีพี ออลล์ ยังคงไปในทิศทางเดียวกันคือ ป่าล้อมเมือง กระจายตลาดไปทั่วๆเพื่อให้ธุรกิจโตไว ซีพี ออลล์จึงทำการแตกสารพัดแบรนด์กาแฟของตนเองออกมามากถึง 7 แบรนด์ตั้งแต่
- ออลล์ คาเฟ่
- ออลล์ คาเฟ่ โกลด์
- คัดสรร
- มวลชน
- เบลลินี่
- อาราบิเทีย
- จังเกิ้ลคาเฟ่
เพื่อเป็นทางเลือกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดที่โตร้อนแรง โดยยังยึดสูตรเดิม คือ เปิดเป็นแบรนด์แฟรนไชส์ เพื่อให้กระจายแบรนด์ไปได้เร็ว ซึ่งภาพรวมตลาดธุรกิจกาแฟในปัจจุบันเติบโตประมาณ 15-20% มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้อีกมาก
CP จัดใหญ่กับธุรกิจกาแฟ
เมื่อภาพรวมของตลาดเผยให้เห็นรายได้มหาศาลและแนวโน้มตลาดที่จะเติบโตต่อเนื่องแบบนี้ ทางซีพี ออลล์จึงไม่พลาดโอกาสทองในนาทีนี้แน่นอน นายนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด เปิดเผยว่า ทางกลุ่ม CP มองเห็นโอกาสจึงเตรียมเร่งเดินหน้าขยายธุรกิจร้านกาแฟอย่างต่อเนื่อง และได้เปิดทดลอง “เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ” ที่สามารถชงกาแฟเพียงแค่กดปุ่มสัมผัส โดยเริ่มเปิดให้บริการสาขาแรกที่สำนักงานใหญ่ ซีพี ทาวเวอร์ และในเดือนหน้าขยายสาขาเพิ่มที่ตึกฟอร์จูน รัชดาภิเษก จำนวน 10 ตู้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และพนักงานออฟฟิศซึ่งเป็นย่านของธุรกิจใจกลางเมืองที่สำคัญ
ในส่วนของธุรกิจแบรนด์ร้านกาแฟของ CP ขณะนี้แบรนด์ร้านกาแฟมวลชนกว่า 120 สาขา ปีนี้มีเป้าหมายจะเปิดสาขาเพิ่ม โดยมีแฟรนไชส์ 3 แบบ คือ ไซซ์ S, M, L ค่าแรกเข้าตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึงกว่า 1 แสนบาท รวมงบฯในการลงทุนอุปกรณ์และวัตถุดิบตั้งแต่ 4 แสนบาทถึง 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพัฒนาแบรนด์จังเกิ้ลคาเฟ่ เมื่อปีที่แล้วได้ประเดิมสาขาแรกที่ประเทศลาว และจะขยายเพิ่มอีกเป็น 3 สาขา ส่วนอาราบิเทีย คาเฟ่ มีสาขาที่กัมพูชา อยู่ในช่วงวางแผนขยายสาขา และยังเปิดที่เมืองจีนอีก 3 สาขา และขยายสาขาไปประเทศจีนเพิ่มกว่า 30 สาขาในขณะที่ตลาดต่างประเทศ บริษัทได้ขยายธุรกิจกาแฟด้วยการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ จีน กัมพูชา เวียดนาม พม่า เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความพร้อมในเรื่องของการจับจ่าย ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น อาจมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเช่นกัน