กระเทียม ภาษาจีน เรียกว่า 蒜 ซ่วน ที่บ้านผู้เขียนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า สึ่ง ซึ่งกระเทียมนี้เราทราบกันดีมานานแล้วว่า เป็นเครื่องสมุนไพรชนิดหนึ่ง จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า มนุษย์เริ่มรู้จักใช้กระเทียมในกระบวนการรักษาโรคมานานกว่า 5 พันปีแล้ว คาดกันว่าอียิปต์โบราณน่าจะเป็นชาติแรกๆ เพราะได้มีการค้นพบพระราชโองการของกษัตริย์ที่ระบุว่ามีคำสั่งให้คนงานที่ก่อสร้างพีรามิดทุกคนต้องกินกระเทียมทุกวัน เพราะเชื่อว่ากระเทียมเป็นแหล่งพลังงาน จะช่วยทำให้เกิดกำลังและการทำงานในการสร้างพีระมิดก็จะเสร็จเร็วขึ้น นักรบอียิปต์ที่จะออกศึกสงครามก็จะต้องกินกระเทียมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หรือแม้กระทั่งช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่กองทัพอังกฤษถูกล้อมจากพวกนาซีของเยอรมัน มีทหารมากมายที่บาดเจ็บจนทำให้ยารักษาสมัยใหม่ที่เป็นยาที่เกิดจากระบวนการสกัดทางเคมีขาดแคลน รัฐบาลอังกฤษจึงมีคำสั่งให้กว้านซื้อกระเทียมจำนวนมากและส่งไปให้ทหารนำไปรักษาบาดแผลเหล่าทหารที่ติดอยู่ในวงล้อม เรื่องราวเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงประโยชน์ของกระเทียมในระบบการศึกษาในสมัยก่อน

สารอาหารที่พบในกระเทียม

garlic-625_625x350_71437817264     จากการค้นคว้าและวิจัยพบว่าในกระเทียมมีสารอาหารที่สำคัญอยู่หลายชนิดก็จริง แต่มีอยู่ไม่มากนัก แต่สารอาหารที่สำคัญและมีอยู่ในกระเทียมก็คือ ซีลีเนียมและวิตามิน B1 ชนิดพิเศษ สำหรับซีลีเนียมนั้นเป็นสารที่ร่างกายต้องการน้อย แต่ขาดไม่ได้ เพราะต้องใช้ในขบวนการเมตาโบลิสม์ (Metabolism) อันจะช่วยทำให้เลือดของเราปราศจากสารพิษได้ระดับหนึ่ง ส่วนวิตามิน B1 ชนิดพิเศษหรืออีกชื่อหนึ่งนั้นก็คือ อัลลิไทอามีน (Alli thiamine) อันเป็นวิตามินซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบประสาท และการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรท ให้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย โดยไม่สะสมในรูปของไขมัน และนอกจากนั้นแล้วนักวิจัยยังพบสารอื่นๆที่กระเทียมมีและดีต่อร่างกายมนุษย์เราอย่างเช่น อัลลิซิน(Allicin) อันเป็นสารที่เสมือนยาแก้อักเสบของร่างกาย อัลลิอิน(Alliin) อันเป็นสารที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ และไดซัลไฟด์ (Disulfide)อันเป็นสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลและสารไขมันอื่นๆในร่างกายของเราอีกด้วย

04-zs-garlic_74-ab     ปัจจุบันวงการแพทย์ตะวันตกของประเทศเยอรมันได้มีการศึกษาวิจัยและทดลองใช้กระเทียมในการรักษาในผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง และพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลองมีความดันลดลง พวกเขาเชื่อว่าอาจเป็นเพราะสารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า กลัยโคไซด์ (Glycoside) ซึ่งพบได้ในกระเทียมเป็นส่วนช่วย ส่วนแพทย์จีนได้มีการทดลองนำกระเทียมไปรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่วในผู้ป่วย 15 ราย โดยให้ผู้ป่วยกินกระเทียมให้ได้ตามปริมาณที่กำหนด ปรากฏว่าผู้ป่วย 14 ราย มีปริมาณตะกั่วในปัสสาวะลดลง และยังมีการนำมาทดลองรักษาผู้ป่วยโรคบิดอะมีบา และปอดอักเสบ ซึ่งผลก็ออกมาดีเช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงประโยชน์และสรรพคุณของกระเทียมไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ก็เห็นตรงกันว่า กระเทียม เป็นพืชผักหรือเครื่องเทศสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย สำหรับคนไทยเราแทบทุกครัวเรือนต้องมีกระเทียมเอาไว้ติดบ้านเพื่อนำมาเป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร คนไทยเราใช้กระเทียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดับกลิ่นคาวของอาหารและใส่ในเครื่องแกงชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเป็นตัวช่วยแต่งกลิ่นและรสร่วมกับมะนาวในน้ำพริกกะปิ แม้แต่พริกน้ำปลาหรือน้ำจิ้มรสแซบก็จะลืมกระเทียมไปไม่ได้

ประโยชน์ของกระเทียมในทางการแพทย์จีน

helps-fight-viruses-and-bacterial-infections      กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์อุ่น รสเผ็ด ออกฤทธิ์กับเส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ปอด ช่วยขับพิษ ฆ่าพยาธิ แก้ไอเรื้อรัง ไอหอบ ขับเสมหะ รักษาไข้หวัด แก้ท้องเสีย รวมถึงอาการอาหารไม่ย่อย ปอดอักเสบ ฆ่าเชื้อราในโรคกลาก เกลื้อน ฆ่าเชื้อและยับยั้งแบคทีเรีย ลดความดันโลหิตสูง ลดไขมันและคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด แก้ฝีหนองและแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้รักษาแผลสด พยาธิในช่องคลอด และยังมีส่วนช่วยต้านมะเร็งด้วย

กระเทียมกับสรรพคุณทางยา

1.ท้องเสียเนื่องจากพิษอาหารทะเล นำกระเทียมปอกเปลือกและน้ำไปต้มน้ำ จากนั้นนำไปดื่ม

2.เลือดกำเดาออกไม่หยุด กระเทียมปอกเปลือกตำให้ละเอียด จากนั้นหยิบมากดเป็นแผ่นกลมๆใหญ่ประมาณเหรียญบาท จากนั้นนำไปแปะที่กลางฝ่าเท้าของผู้ป่วย ถ้าเลือดกำเดาไหลออกทางรูจมูกซ้ายก็ให้แปะกลางฝ่าเท้าซ้าย ทางออกทางขวาก็ให้แปะฝ่าเท้าขวา ถ้าออกทั้ง 2 รูก็ให้แปะเท้าทั้งสองข้าง

3.แมลงสัตว์กัดต่อย กระเทียมปอกเปลือกตำให้แหลกและนำมาพอกบริเวณที่ถูกกัด

4.กลากเกลื้อน นำกระเทียมที่ปอกเปลือกแล้วมาทารอบๆบริเวณที่เป็น วันละ 3 – 4 ครั้ง

ข้อควรระวัง

     แม้ว่ากระเทียมจะมีประโยชน์มากมาย จนยากที่จะอธิบายข้อดีได้หมดแต่ก็อย่าลืมว่าแพทย์จีนมีหลักว่า การจะกินอะไรต้องดูพื้นฐานสุขภาพร่างกายของแต่ละคน บางคนไม่ควรกินกระเทียมมากไป หรือบางคนก็ไม่ควรกินเลย กระเทียมมีฤทธิ์อุ่นและค่อนไปทางร้อน มีรสเผ็ด ผู้ที่มีความร้อนสะสมในร่างกายอยู่ภายในมาก ที่เกิดจากภาวะที่แพทย์จีนจัดว่าหยินพร่อง ความเย็นในร่างกายไม่ปกติ ส่วนใหญ่มักมีอาการที่แสดงออกให้เห็น คือ มีไข้หลังเที่ยง หน้าแดง คอแห้งตลอดเวลา ท้องผูก พวกนี้ควรกินกระเทียมแต่น้อยหรือไม่ควรกินเลย ผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือ มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มีกรดในกระเพาะอาหารมาก รวมทั้งผู้ที่มีอาการตาแดง พวกนี้ก็ไม่ควรกินกระเทียม