ผักบุ้ง 瓮菜,空心菜 (คงซินฉ่าย) หรือ ชาวจีน(แต้จิ๋ว)เรียกว่า “บ่อซิมฉ่าย” บางคนก็เรียกว่า  “เอ้งฉ่าย” ชื่อที่สุภาพคนไทยเรียก ผักทอดยอด เป็นพืชผักที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ผักบุ้งที่เรานำมากินกับเย็นตาโฟ และแกงเทโพ ยอดอวบๆ ก็คือ ผักบุ้งไทย ส่วนใหญ่จะปลุกกันในน้ำ ส่วนที่นำไปผัดไฟแดงก็คือผักบุ้งจีนนิยมปลูกกันตามแปลงผัก ซึ่งคนไทยนิยมนำผักบุ้งทั้งสองแบบมาทำอาหาร ยังมีผักบุ้งพื้นเมืองยอดแดงม่วง ยอดจะเล็กและสั้นกว่าผักบุ้งอื่นๆ ส่วนมากจะไม่กินสุก มักใช้เป็นผักสดเครื่องเคียงสำหรับกินกับน้ำพริกทุกชนิด ลาบ น้ำตก ส้มตำมะระกอ แกงไตปลาและแกงอื่นๆ ของทางปักษ์ใต้บ้านเรา ซึ่งไม่ว่าผักบุ้งชนิดไหนก็มีประโยชน์ทั้งสิ้น

สารอาหารที่พบในผักบุ้ง

     สารอาหารที่สำคัญในผักบุ้งก็คือ วิตามินเอสูง(มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา) นอกจากนั้นผักบุ้งยังอุดมไปด้วย วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า ผักบุ้งไทยนั้นจะมีวิตามินซีสูงและสรรพคุณทางยามากกว่าผักบุ้งจีน แต่จะมีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีวิตามินเอน้อยกว่าผักบุ้งจีน แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะผักบุ้งไทยหรือจีนก็ล้วนมีประโยชน์และสามารถนำไปประกอบอาหารเป็นเมนูเพื่อสุขภาพได้หลากหลาย

ประโยชน์ของผักบุ้งในทางการแพทย์จีน

     ผักบุ้ง(ทั้งต้น)ในทรรศนะแพทย์จีนเป็นผักที่มีรสหวาน  ฤทธิ์เย็นจัด(หนาว)ส่วนหลักการแพทย์ไทยกล่าวว่า ผักบุ้งมีรสเย็นจืด ออกฤทธิ์ตามเส้นลมปราณปอด กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ ช่วยดับร้อน ขับพิษ ลดบวม ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต แก้เลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน ช่วยกระตุ้นลำไส้ให้ขับอุจจาระ ใช้สมานแผลจากริดสีดวงทวารได้ ส่วนของราก มีรสจืด ฤทธิ์กลาง(สุขุม) ใช้แก้อาการสตรีมีตกขาวมาก ปวดฟัน ฟันเป็นรู ปัสสาวะขัด ไอเรื้อรัง เหงื่อออกมาก

ผักบุ้งกับสรรพคุณทางยา

1. แก้เลือดกำเดาออกไม่หยุด ใช้ผักบุ้งทั้งต้นหลายๆต้น นำมาตำให้ละเอียดจากนั้นนำไปชงกับน้ำร้อนเติมน้ำตาลไปเล็กน้อยและนำไปดื่ม

2. แก้โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ใช้ต้นสด ล้างให้สะอาดตำหรือคั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งพอประมาณจากนั้นนำไปดื่ม

3. แก้แผลริดสีดวงทวาร ใช้ต้นสดหนัก 1 กิโลกรัม น้ำ 1 ลิตร ต้มให้เละเอากากทิ้งใส่น้ำตาลทรายขาว 120 กรัม เคี่ยวให้ข้นเหนียวเหมือนน้ำเชื่อม กินครั้งละประมาณ 90 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ถ้าไม่หายก็กินได้เรื่อยๆ

4. แก้แผลบวมแดง เอาต้นสดตำผสมน้ำผึ้งพอกบริเวณที่มีอาการ

5. แก้ผิวหนังเป็นแผลมีน้ำเหลือง ใช้ต้นสด ต้มน้ำให้เดือดนานๆ ทิ้งไว้พออุ่น เอาน้ำมาชะล้างบาดแผล วันละครั้ง

6. แก้แผลงูกัด ใช้ต้นสดล้างสะอาด ตำหรือคั้นเอาน้ำประมาณครึ่งถ้วยผสมเหล้าดื่ม ส่วนกากให้เอาไว้พอกแผล

7. แก้พิษตะขาบกัด ใช้ต้นสดใส่เกลือนิดหน่อย ตำพอกแผล

8. แก้อาหารเป็นพิษ ใช้ผักบุ้งสด 250 กรัม กับบังบกสด 250 กรัม ตำคั้นเอาน้ำกิน ทำให้อาเจียน

9. ฟันเป็นรูปวด ใช้รากผักบุ้ง 120 กรัม ผสมน้ำส้มสายชูคั้นเอาน้ำมาอมบ้วนปาก

ข้อควรระวัง

     สำหรับผู้ที่ทางทฤษฎีแพทย์จีน เรียกว่า กระเพาะอาหารเย็น และม้ามเย็น หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ มีอาการท้องร่วงบ่อย ควรหลีกเลี่ยงการทานผักบุ้ง ในผักบุ้งมีโพแทสเซียมเยอะ จึงไม่เหมาะที่จะเป็นอาหารของคนที่เป็นโรคไตอักเสบหรือไตวายเรื้อรัง